Gen Z 37% วางแผนลาออกในสิ้นปี 2567 อาจเกิด Great Resignation ระลอกใหม่

Gen Z 37% วางแผนลาออกในสิ้นปี 2567 อาจเกิด Great Resignation ระลอกใหม่

Great Resignation 2.0 (การลาออกครั้งใหญ่ ครั้งที่ 2) อาจเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ผลสำรวจล่าสุดเผย 37% ของพนักงาน Gen Z วางแผนที่จะ ‘ลาออก’ ในปี 2567

KEY

POINTS

  • Great Resignation อาจจะเกิดขึ้นระลอกสองเร็วๆ นี้ เมื่อมีผลสำรวจชี้ว่า พนักงานอายุน้อย Gen Z และ Gen Y ตอนปลาย ทุกๆ 3 ใน 10 คน วางแผนจะลาออกภายในปี 2567
  • พวกเขากำลังหาว่าตำแหน่งงาน อุตสาหกรรม และสภาพแวดล้อมการทำงานแบบใด ที่จะเหมาะกับพวกเขาที่สุด และมองว่าการเปลี่ยนงานทุกๆ สองสามปี จะเพิ่มเงินเดือนได้เร็วขึ้น
  • แต่ในทางกลับกัน หากย้อนไปใน Great Resignation ระลอกแรก พบว่าคนที่ลาออกช่วงนั้นกลับรู้สึกเสียใจที่ลาออกจากงานเดิม ดังนั้นคนที่จะลาออกในปีนี้อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ 

หลายคนน่าจะยังจำได้ว่าในช่วงสองสามปีก่อน เกิดปรากฏการณ์ Great Resignation ไปทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดใหญ่โควิด-19 แต่ไม่น่าเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีต่อมา เหตุการณ์นี้อาจจะเกิดซ้ำรอยอีกครั้งเร็วๆ นี้ เมื่อมีผลสำรวจชี้ว่า พนักงานอายุน้อยประมาณ 3 ใน 10 คนวางแผนจะลาออกภายในปี 2567

ผลการสำรวจล่าสุดดังกล่าวมาจาก Resume Builder ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการแพลตฟอร์มสร้างประวัติย่อสำหรับสมัครงาน ที่ได้เผยแพร่รายงานเมื่อไม่กี่วันก่อน ระบุว่า จากการทำแบบสอบถามของพนักงานประจำ จำนวน 1,000 คน พบ 28% ของกลุ่มตัวอย่าง “วางแผนจะลาออก” จากงานปัจจุบันก่อนสิ้นปี 2567 โดยลูกจ้างที่จะลาออกสูงสุดมาจากอุตสาหกรรมการบริการ ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี 

ที่น่าสนใจคือ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเท่ากัน (28%) รายงานว่า ตนเคยลาออกจากงานมากกว่าหนึ่งงานขึ้นไป ในช่วงการลาออกครั้งใหญ่ครั้งแรกในปี 2564 และ 2565 

หน้าแรก  ไลฟ์สไตล์ ไลฟ์สไตล์ Gen Z 37% วางแผนลาออกในสิ้นปี 2567

Gen Z ราวๆ 37% มีแนวโน้มสูงที่จะลาออกจากงานในปีนี้

เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างกลุ่มอายุ พบว่าคนรุ่น Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) ตอนปลาย มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานสูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดย 37% ของกลุ่มอายุ 18-24 ปี หรือ Gen Z มีแนวโน้มสูงที่จะลาออกจากงานในปีนี้ ขณะที่กลุ่มอายุ 25-34 ปี หรือ Gen Y ราวๆ 35% ก็มีแนวโน้มจะลาออกเช่นกัน

“พนักงานที่อายุน้อยมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานบ่อยกว่า เนื่องจากพวกเขาพยายามมองหาว่าประเภทตำแหน่งงาน อุตสาหกรรม และสภาพแวดล้อมการทำงานแบบใด ที่จะเหมาะกับพวกเขาที่สุด นอกจากนี้ พวกเขามองว่าการเปลี่ยนงานทุกๆ สองสามปี จะสามารถเพิ่มเงินเดือนได้เร็วขึ้น และช่วงปีแรกๆ ของชีวิตการทำงานเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำเช่นนั้น” จูเลีย ทูธเอเคอร์ (Julia Toothacre) นักวางแผนกลยุทธ์อาชีพของบริษัท Resume Builder อธิบายเพิ่มเติม

อยากได้เงินเดือนสูงขึ้น สวัสดิการดีขึ้น งานเครียดน้อยลงคือ เหตุผลหลักของการลาออก

พนักงานรุ่นเยาว์เหล่านี้กำลังมองหาตำแหน่งงานที่ดีกว่าในตลาดแรงงาน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันของตน 

56% ของพนักงานอายุน้อย เผยว่า “ค่าจ้างต่ำ” เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อยากลาออกจากงานปัจจุบัน

44% ของพนักงานอายุน้อย เผยว่า “อยากได้สวัสดิการที่ดีขึ้น” จึงอยากลาออกจากงานปัจจุบัน
43% ของพนักงานอายุน้อย เผยว่า “อยากได้งานที่มีความเครียดน้อยลงกว่านี้” ทำให้อยากลาออกจากงานปัจจุบัน

ทูธเอเคอร์ บอกอีกว่า ตัวเลือกการทำงานทางไกลถือเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่พนักงานยุคนี้มองหาจากงานใหม่ โดยพบว่าความต้องการนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มแรงงานที่เพิ่งจะลาออกจากงานเดิม พวกเขาอยากได้งานที่สามารถทำงานทางไกลหรือแบบผสมผสานได้มากขึ้น และนายจ้างหลายๆ บริษัทก็มีการปรับตัวในเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน มีรายงานด้วยว่า บริษัทต่างๆ ในสหรัฐ เสนอปรับขึ้นเงินเดือนสูงเป็นประวัติการณ์เพื่อรักษาพนักงานเดิมเอาไว้

หน้าแรก  ไลฟ์สไตล์ ไลฟ์สไตล์ Gen Z 37% วางแผนลาออกในสิ้นปี 2567

ย้อนรอย “การลาออกครั้งยิ่งใหญ่” ระลอกแรก พบพนักงานส่วนใหญ่เสียใจที่ลาออกในช่วงนั้น

ในทางกลับกัน หากย้อนกลับไปในช่วง Great Resignation ครั้งแรกเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วนั้น เกิดขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ชาวอเมริกัน 47 ล้านคนลาออกจากงานในปี 2565 แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว กลับมีรายงานพบว่า พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจดังกล่าวในภายหลัง ตามผลสำรวจจาก Paychex ที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

พนักงานกลุ่มดังกล่าวให้เหตุผล 2 ประการที่ทำให้พวกเขาผิดหวังกับการลาออกจากงานเดิม ได้แก่ 1. สุขภาพจิตแย่ลง และ 2.ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานแย่ลง มีเพียง 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่า พวกเขาพอใจกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานในที่ทำงานใหม่ (แปลว่ามีพนักงานถึง 57% ที่ไม่พอใจสมดุลชีวิตในงานใหม่) 

นอกจากนี้ 54% บอกว่า พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดีในระดับหนึ่งในการทำงานที่ใหม่ (แปลว่า มีพนักงาน 46% ที่สุขภาพจิตไม่ดีเมื่อย้ายมาทำงานที่ใหม่) อีกทั้งผลสำรวจยังระบุด้วยว่า “พนักงานที่ลาออกจากธุรกิจขนาดใหญ่ มีแนวโน้มสูงสุดที่จะคิดถึงสมดุลระหว่างชีวิต และการทำงานที่เคยมี” ขณะที่ “พนักงานที่ลาออกจากธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางมีแนวโน้มสูงสุดที่จะคิดถึงเพื่อนร่วมงาน” ของพวกเขา

ดังนั้น หากเร็วๆ นี้จะเกิด Great Resignation 2.0 ขึ้นมาจริงๆ คนที่วางแผนจะลาออกภายในสิ้นปีนี้ อาจจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน และรอบคอบมากขึ้นว่า หากลาออกจากงานเดิมไปแล้วจะเสียใจภายหลัง เหมือนกับในรายงานของ Paychex ที่เกิดขึ้นกับการลาออกครั้งใหญ่ระลอกแรกหรือไม่? เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การตัดสินใจเรื่องสำคัญแบบนี้ควรเป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลมากกว่าตัดสินใจด้วยอารมณ์ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์