หมดแรงสู้? ลาออกไปตั้งต้นใหม่ อาจดีกว่าฝืนใจให้เสียสุขภาพจิต
ปัจจุบันมีคนวัยทำงานหลายคนต้องพบกับปัญหาสุขภาพจิต ที่ส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากการทำงาน ทำให้บางคนมองว่าลาออกไปเริ่มต้นใหม่อาจจะคุ้มค่ากับสุขภาพจิตมากกว่า
KEY
POINTS
- ผู้ใหญ่วัยทำงานประมาณร้อยละ 71 ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตจากการทำงานอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล หรือความเบื่อหน่าย
- ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้คนวัยทำงานเกิดความเครียดสะสมก็คือ ปริมาณงานที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นจนกระทบชีวิตส่วนตัว และสภาพแวดล้อมในองค์กร ทำให้ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน
- การตัดสินใจลาออกเพราะปัญหาด้านสุขภาพจิตนั้นสามารถทำได้ และไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ต้องพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อน
คุณกำลังรู้สึกว่าการทำงานในทุกวันนี้ไม่มีความสุขเหมือนเมื่อก่อนหรือไม่ ? แม้ว่าหน้าที่การงานกำลังไปได้ดี แต่ก็มีเรื่องน่าปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนงานเร่งด่วนที่เพิ่มมากขึ้น การพูดคุยกันระหว่างหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานที่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไรนัก หรือว่าเกิดความเครียด และความวิตกกังวลในเรื่องงานมากเกินไปจนรู้สึกว่าเริ่มกระทบกับชีวิตส่วนตัว ทำให้หลายคนเกิดคำถามกับตัวเองว่า ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ?
ข้อมูลจาก Worldpackers ระบุว่า เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้ 71% ของผู้ใหญ่วัยทำงานต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่น ความเครียด ความเบื่อหน่าย หรือความวิตกกังวล เนื่องจากต้องต่อสู้กับงานที่มากขึ้น การเมืองในที่ทำงาน ไปจนถึงการทำงานที่ขาดความปลอดภัย
แน่นอนว่าการทำงานต่อในองค์กรเดิม อาจมีความมั่นคง และมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องแลกกับสุขภาพจิตที่เสียไป เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้าหากลาออกไปพักแล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ก่อนอื่นก็ต้องสำรวจตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่าการทำงานส่งผลกับสภาพจิตใจของเราจริงหรือไม่ หรืออาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น
สัญญาณแบบไหน ที่บอกใบ้ว่าเราสุขภาพจิตพังเพราะการทำงาน ?
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายจะเสียสุขภาพจิตจากการทำงานหรือไม่ สามารถสังเกตสัญญาณเตือนบางอย่างได้ง่ายๆ ดังนี้
1. รู้สึกเหนื่อยล้า และเบื่อหน่ายอย่างต่อเนื่อง
อาการนี้ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่แจ้งเตือนให้เราฉุกคิดว่า อาจถึงเวลาที่ต้องลาออกเพราะปัญหาทางสุขภาพจิตแล้ว เพราะภาวะของความเครียดที่ยืดเยื้อส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าทางร่างกาย และจิตใจ จนทำให้เรารู้สึกหมดแรงอยู่ตลอดเวลา
โดยอาการนี้มักเกิดขึ้นเพราะเริ่มรู้สึกว่าขาดแรงจูงใจหรือความกระตือรือร้นในการทำงาน จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่มีสมาธิกับการทำงานในเวลาต่อมา เบื้องต้นอาจต้องเริ่มจากการดูแลตัวเอง เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และพยายามหาเวลาผ่อนคลาย แต่ก็ถือว่าอาการนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่เตือนว่าอาจถึงเวลาต้องลาออก
2. ความวิตกกังวลเกี่ยวกับงานหรือเพื่อนร่วมงาน
อีกหนึ่งสัญญาณที่อาจเป็นการแจ้งเตือนว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนงานแล้วก็คือ เวลาที่ต้องพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องทั่วไปที่กลายเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับบางคน เพราะในบางองค์กรการกลั่นแกล้ง และการเมืองภายในก็มีส่วนทำให้สภาพแวดล้อมของการทำงานเป็นพิษ ทำให้เริ่มมีความหนักใจในการไปทำงาน
3. ประสิทธิภาพการทำงานลดลงแม้จะมีความพยายามเพิ่มขึ้นก็ตาม
ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์เงินเดือนหลายคน เมื่อพยายามทำงานด้วยความตั้งใจที่มากขึ้นจนสุดความสามารถ แต่กลายเป็นว่ายิ่งพยายามทำให้ดีแค่ไหน สุดท้ายผลลัพธ์ก็ออกมาสวนทางกัน ก็ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่เตือนว่าอาจถึงเวลาที่ต้องลาออกแล้ว
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Occupational Health Psychology พบว่า เมื่อมีงานต้องรับผิดชอบมากขึ้นก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงเมื่อเวลาผ่านไป หมายความว่าการผลักดันตัวเองให้มากขึ้นอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป ในความเป็นจริงหากปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรังต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่พยายามแก้ไขอาจทำให้สุขภาพจิตและประสิทธิภาพการทำงานแย่ลงไปตามๆ กัน
พิจารณาอย่างไร ว่าเมื่อไรที่ควรลาออก เพราะปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับใครที่ตัดสินใจแล้วว่าการทำงานส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าการลาออกจากงานจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชีวิตหรือไม่ ดังนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาไตร่ตรองสัญญาณเตือนต่างๆ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน เช่น ความมั่นคงทางการเงิน และโอกาสที่เป็นไปได้ในองค์กรอื่น
แต่ก็ต้องตระหนักเอาไว้ว่าการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำงานเช่นเดียวกัน ซึ่งเบื้องต้นอาจพิจารณาได้ดังนี้
1. การประเมินความเป็นไปได้ในการปรับปรุงสถานการณ์การทำงานในปัจจุบัน
ก่อนอื่นต้องพิจารณาก่อนว่าภายในองค์กรจะมีโอกาสปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ได้หรือไม่เพื่อช่วยให้พนักงานมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น โดยสิ่งสำคัญก็คือ การพูดคุยกับหัวหน้างานถึงปัญหาที่แท้จริงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และอาจทำให้ยังสามารถทำงานต่อไปในองค์กรได้
2. หารือกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล
การพูดคุยถึงปัญหาในการทำงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างฝ่ายบริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อขอคำแนะนำสำหรับการปรับตัว ก็อาจช่วยให้หาทางออกหรือมีวิธีการรับมือกับปัญหาเบื้องต้นได้
3. ปรึกษากับหัวหน้าเพื่อปรับเปลี่ยนภาระงาน
หากพบว่าทุกวันนี้มีงานที่ต้องรับผิดชอบมากเป็นพิเศษ และส่งผลให้เกิดความเครียดมากกว่าปกติ ให้พิจารณาขอลาพักร้อนหรือลดชั่วโมงการทำงาน รวมไปถึงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงได้ก็จะช่วยให้ความตึงเครียดจากการทำงานลดลง และสุดท้ายก็อาจจะไม่ต้องลาออก
โดยข้อมูลจากวารสาร Occupational Health Psychology ก็ระบุว่า พนักงานที่ควบคุมตารางการทำงานได้ดีจะมีภาวะเหนื่อยหรือเบื่อหน่ายในระดับต่ำกว่าคนที่ต้องทำงานโดยปราศจากความยืดหยุ่น
เมื่อลาออก (เพราะปัญหาสุขภาพจิต) แล้ว ควรรับมืออย่างไร ?
แน่นอนว่าการตัดสินใจลาออกถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อลาออกมาแล้วแต่ก็ยังมีความวิตกกังวลตามมา ดังนั้นการดูแลสภาพอารมณ์ของตัวเองหลังจากลาออกมาแล้วก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะฉะนั้นการพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทอาจเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่สามารถช่วยแบ่งเบาความเครียดลงไปได้
ถ้าหากเป็นไปได้การได้พูดคุยกับใครสักคนที่เคยผ่านประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ก็จะช่วยให้ได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์ และสามารถนำมาปรับใช้กับตัวเองได้ โดยเฉพาะการเริ่มต้นมองหางานใหม่ และการดูแลอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
สำหรับคำแนะนำสุดท้ายสำหรับคนที่กำลังมองหาวิธีการรับมือหลังจากลาออกก็คือ การเข้ารับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ เพราะพวกเขาอาจแนะนำวิธีการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มั่นคง เช่น เทคนิคการฝึกสติ หรือแบบฝึกหัดการบำบัดด้วยความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรม (CBT) ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการความเครียดจากการทำงานโดยเฉพาะ
ท้ายที่สุดนี้ขอย้ำอีกทีว่าการตัดสินใจ “ลาออก” ด้วยปัญหาสุขภาพจิตนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และสามารถทำได้ถ้าหากมีความพร้อมมากพอโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงหรือมีงานใหม่รองรับ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการลาออกของเรานั้นอาจส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานหรือองค์กรได้เช่นกัน
ดังนั้นขั้นแรกสำหรับการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเสียเพราะการทำงาน ควรเริ่มจากปรึกษาหัวหน้างานที่สามารถช่วยเราแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วไม่สามารถมีข้อตกลงหรือวิธีการแก้ปัญหาได้ การลาออกเพื่อไปพักแล้วเริ่มต้นใหม่ก็ช่วยได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล : Worldpackers
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์