‘เบื่องาน’ ไม่ใช่แค่ ‘หมดไฟ’ แต่มีหลายปัจจัยที่รวมถึงอาการ ‘หมดใจ’ ด้วย
หนึ่งในปัญหาของวัยทำงานบางคนหลังจากเริ่มงานไปได้สักพัก อาจรู้สึกเริ่มไม่อยากทำงานต่อด้วยความเบื่อหน่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ใช่อาการของ ภาวะ “หมดไฟ” เสมอไป
Key Points:
- อาการ “เบื่องาน” นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดจาก “ภาวะหมดไฟ” เสมอไป แต่อาจเป็นเพราะหมดใจและเกิดความเบื่อขึ้นมาจริงๆ ก็ได้
- ภาวะหมดใจในการทำงานอันตรายไม่แพ้หมดไฟ นอกจากพนักงานไม่อยากทำงานแล้วยังส่งผลเสียไปถึงผลงานขององค์กร
- หมดไฟ หมดใจ แก้ไขได้ด้วยการทบทวนตัวเอง ปรึกษาหัวหน้างาน ไปจนถึงลาพักร้อนและมองหางานใหม่
สำหรับคนวัยทำงานบางคน เมื่อทำงานไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง จะเริ่มเกิดความรู้สึก “เบื่องาน” ที่ทำอยู่ เริ่มไม่มีความสุขในการทำงาน จนบางครั้งส่งผลกระทบไปถึงผลงานที่ออกมาไม่ดีพอ เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นหลายคนอาจคิดว่าตัวเองกำลังเจอกับ “ภาวะหมดไฟ” (Burnout) ในการทำงานไปแล้ว แต่ความจริงอาการดังกล่าวอาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่มากกว่านั้น
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ภาวะหมดไฟ” นั้น เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่ทำงานมาค่อนข้างนานแล้วจะเกิดอาการนี้ขึ้น สำหรับ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” มีสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ไม่ว่าจะด้วยทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ หรือหลายอย่างปะปนกัน อาจเกิดขึ้นเพราะมีงานที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป มีงานด่วน งานแทรก งานซ้อน เพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งอยากลาพักร้อนแต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากภาระงานที่สะสม ทำให้ต้องฝืนทำงานต่อไป แม้สภาพร่างกายและจิตใจรับไม่ไหวแล้ว
อีกทั้งเมื่อร่างกายแบกรับความอ่อนล้าและความตึงเครียดต่อไปไม่ไหว ก็จะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายแสดงออกมาให้เห็น เช่น ปวดตึงบริเวณ คอ บ่า ไหล่ ปวดหัวบ่อย ร่างกายไม่มีแรงเหมือนเมื่อก่อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลถึงจิตใจด้วย เช่น รู้สึกไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า เบื่อ ท้อแท้ หดหู่ ซึ่งทั้งหมดจะนำมาสู่ความรู้สึกไม่อยากตื่นเช้าออกไปทำงานและทำให้เสียสุขภาพกายสุขภาพใจในที่สุด
- เมื่อ “หมดใจ” ก็ไม่อยากทำงาน
นอกจากภาวะหมดไฟแล้วยังมีอีกภาวะหนึ่งที่ทำให้วัยทำงานเริ่มเบื่องานของตัวเองเช่นกัน นั่นก็คือ ภาวะหมดใจ หรือ Brownout ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็มีผลกระทบต่อวัยทำงานมากพอสมควร ซึ่งอาการนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า The withdrawal-from-work syndrome โดยคนที่ตกอยู่ในสภาวะนี้จะไม่มีแรงจูงใจใดๆ ในการทำงาน ไม่มีความรู้สึกอยากทำงาน หรือไม่มีใจในการทำงานอีกต่อไป
พูดง่ายๆ ว่า เหมือนกับจิตใจลาออกไปแล้วแต่กายหยาบยังทำงานอยู่ ซึ่งภาวะนี้เป็นอันตรายต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะพนักงานที่ตกอยู่ในภาวะหมดใจจะทำงานออกมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คล้ายว่าเช้าชามเย็นชาม แม้ว่าหัวหน้างานจะเรียกไปตักเตือนหรือบอกให้ปรับปรุงวิธีการทำงานก็ยังไม่เป็นผลกับผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะนี้
- เบื่องาน ที่แปลว่า “เบื่องาน” จริงๆ ไม่มีอย่างอื่นปน
ในบางครั้งเบื่อก็แปลว่าเบื่ออย่างตรงไปตรงมา อย่างเช่นกรณีของอาการ เบื่องาน หรือ Bore-out นั้น หากแปลตรงตัวตามชื่อเรียกของมัน The work-boredom syndrome ก็จะแปลได้ว่า “ภาวะเบื่องาน” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนวัยทำงานรู้สึกเบื่องานที่ทำอยู่จริงๆ โดยสาเหตุของอาการนี้ตรงกันข้ามกับภาวะหมดไฟโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการเบื่องานที่ตัวเองทำอยู่เนื่องจากเป็นงานที่มีความง่ายเกินไป จนรู้สึกว่าไม่ท้าทายความสามารถของตัวเอง
โดยผู้ที่มีอาการนี้มักเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงหรือหัวหน้างานที่มีศักยภาพสูง แต่ขาดโอกาสแสดงศักยภาพและความสามารถของตัวเอง สำหรับคนที่เกิดภาวะเบื่องานบางส่วนเกิดจากการได้ตำแหน่งงานใหม่ที่สูงขึ้น แต่กลับไม่มีงานให้ทำมากเหมือนเมื่อก่อน จึงเกิดอาการเบื่อหน่ายรู้สึกอย่างกลับไปทำงานเก่าๆ เหมือนเดิม
- แก้ไขอย่างไรเมื่อ หมดไฟ หมดใจ และไม่อยากทำงาน
อาการเบื่องาน ของคนวัยทำงานไม่ใช่เรื่องแปลกและสามารป้องกันแก้ไขได้หากรู้ตัวเร็ว โดยการลองทบทวนความรู้สึกของตัวเองว่าสมัครงานเข้ามาในตำแหน่งนี้เพราะอะไร ความรู้สึกตอนแรกที่ได้งานและอยากมาทำงานในตอนนั้นเป็นอย่างไรและอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ “คนมีไฟ” กลับกลายเป็น “คนหมดไฟ” ไปได้
เมื่อสามารถหาสาเหตุได้ก็จะสามารถหาวิธีแก้ไขได้ เช่น รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยล้าสะสม ต้องการพักผ่อน ดังนั้น การลาพักร้อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหากเราทำงานในส่วนของตัวเองเรียบร้อยแล้วก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้พักผ่อน เพื่อเพิ่มพลังให้ตนเองกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
สำหรับบางคนที่รู้สึกว่าอาการเบื่องานที่เกิดขึ้น ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง แนะนำว่าอย่าเพิ่งท้อใจ ให้ไปพูดคุยกับหัวหน้างานก่อน เพื่อขอคำปรึกษาให้ตรงจุด เนื่องจากมุมมองของคนอื่นมักจะมองเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาได้มากกว่าตัวเอง และถ้าหากความเบื่องานนั้นส่งผลกระทบด้านลบต่อชีวิตและการทำงานมากเกินไป ก็จำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อหาทางแก้ไขได้ตรงจุด หรือท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนงานหรือมองหางานใหม่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางออกได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล : solutions & co.