ซีอีโอ 75% อยากลาออกหนีความเครียด เจองานหนักเฉลี่ย 62.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ซีอีโอ 75% อยากลาออกหนีความเครียด เจองานหนักเฉลี่ย 62.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ซีอีโอก็ลำบาก! ทำงานเฉลี่ย 62.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 75% ของผู้บริหารคิดอยากลาออกอย่างจริงจัง หนีความเครียดไปให้พ้นๆ ขณะที่ซีอีโอชาว Gen Y มีแนวโน้มเจอปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด

KEY

POINTS

  • ซีอีโอทำงานเฉลี่ย 62.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ 75% ของผู้นำคิดอยากลาออกอย่างจริงจัง ขณะที่ซีอีโอ Gen Y เจอปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด ทั้งเบิร์นเอาท์ วิตกกังวล ซึมเศร้า ฯลฯ 
  • แม้ว่าหลายคนจะพยายามจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยวิธีของตนเอง แต่นั่นก็อาจไม่พอ มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงควรได้รับการบำบัดใจเป็นการเฉพาะ
  • องค์กรจำเป็นต้องปรับ “กรอบมุมมองด้านสุขภาพจิตใหม่” เพื่อสร้างสังคมการทำงานที่ดีขึ้น สิ่งแรกที่ผู้นำสามารถทำได้ คือ เริ่มเห็นอกเห็นใจตนเองมากขึ้น

การทำงานในฐานะผู้นำองค์กร หรือ CEO แน่นอนว่าเป็นงานที่เต็มไปด้วยความเครียด ความกดดัน ต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างสูง และแบกความคาดหวังขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเช่น การดึงดูดลูกค้าให้ได้มากๆ การสร้างแบรนด์ให้เติบโต การขับเคลื่อนนวัตกรรม การขยายธุรกิจไปทั่วโลก การเป็นตัวแทนของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการทำหน้าที่ต่อหน้าสาธารณะของบริษัท ฯลฯ 

เหล่านี้ถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญบางประการของการเป็น “ซีอีโอ” และยังรวมไปถึงความรับผิดชอบยิบย่อยอย่างอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง งานต่างๆ ที่ล้นหลามจึงกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต โดยพบว่าสัปดาห์ทำงานโดยเฉลี่ยของ CEO จะอยู่ที่ 62.5 ชั่วโมง ด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานแบบนี้จึงทำให้เหล่าซีอีโอประสบกับความเครียดและเหนื่อยหน่ายในการทำงาน

ผลสำรวจ Deloitte และ Workplace Intelligence เปิดเผยว่า 75% ของผู้บริหารระดับสูง มีความคิดอย่างจริงจังที่จะลาออกจากงานเพื่อให้ตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ซีอีโอจำนวน 622 คนลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งสาเหตุหลักของการลาออกคือความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต

ผู้บริหารควรได้รับการบำบัดจิตใจ นี่อาจเป็นทางรอด ไม่ใช่แค่ทางเลือก!

มีการศึกษาเรื่อง “สถานะความเห็นอกเห็นใจในที่ทำงานประจำปี 2024” ครั้งที่ 9 จาก Businessolver รายงานไว้ว่า 55% ของซีอีโอประสบปัญหาสุขภาพจิตในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 24 คะแนนจากปี 2023 เนื่องจากการทำงานแต่ละวันของพวกเขา มักเป็นงานที่ต้องตัดสินใจยากๆ และมีส่วนได้ส่วนเสียสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพนักงาน ครอบครัวพนักงาน และผู้ถือหุ้น จึงไม่แปลกที่งานในตำแหน่งนี้เสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต

โดย 60% ซีอีโอรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางจิตมากที่สุด เช่น ความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความเหงา โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือภาวะหมดไฟ (Burnout) 

สำหรับผู้นำยุคใหม่ งานบริหารอาจกลายเป็นแรกกดดันที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาจะโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาแบกรับความรับผิดชอบไว้มากมายซึ่งน้อยคนนักจะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าหลายคนจะพยายามจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยวิธีของตนเอง แต่นั่นก็อาจยังไม่เพียงพอ มีหลักฐานจากการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงควรได้รับการบำบัดหรือดูแลสุขภาพจิตเป็นการเฉพาะ

น่าเสียดายที่ซีอีโอจำนวนมากจะพิจารณาเข้ารับการบำบัดเป็นทางเลือกสุดท้าย ด้วยเหตุผลหลายประการ อย่างไรก็ตาม การเข้าคอร์สบำบัดสำหรับผู้บริหารนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด เนื่องจากเป็นรูปแบบการให้คำปรึกษาที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำและผู้ที่มีบทบาทกดดันสูงโดยเฉพาะ เป็นเรื่องฉลาดที่ซีอีโอควรเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพจิตของตัวเองมาก่อนงาน เพราะซีอีโอที่มีสภาพจิตใจที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อองค์กรและเครือข่ายโดยรอบอีกด้วย

ล้างตราบาป: อย่ามองพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพจิตว่าเป็นภาระ

ผู้นำหลายคนอาจยังหาเวลาว่างไปเข้ารับการบำบัดจิตใจไม่ได้ แต่อย่างน้อยอาจเริ่มจากการทำความเข้าใจฉากทัศน์ด้านปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานยุคปัจจุบัน หากลองพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะพบว่า ยุคนี้วัยทำงานเริ่มเปิดเผยถึงปัญหาสุขภาพจิตของตนเองมากขึ้น ขณะที่คนทำงานร่วมองค์กรเดียวกันยังคงมองว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตคือตัวภาระในที่ทำงาน สังคมออฟฟิศมักจะเกิดการตีตราเล็กๆ น้อยๆ กับเพื่อนร่วมงานเสมอ 

จากการศึกษาข้างต้นยังแสดงผลลัพธ์ให้เห็นอีกว่า ซีอีโอ (81%) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (72%) และพนักงาน (67%) ต่างก็ “เห็นด้วย” หรือ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ว่า บริษัทต่างๆ มองบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิต “เป็นคนอ่อนแอหรือเป็นภาระ” ซึ่งสร้างความเป็นพิษในสถานที่ทำงานและเป็นบ่อเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานอย่างมาก

ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความจำเป็นต้องปรับ “กรอบมุมมองด้านสุขภาพจิตใหม่” เพื่อช่วยให้ CEO และองค์กรมองเห็นภาพรวมของสังคมการทำงานที่ดีขึ้น สิ่งแรกที่ผู้นำสามารถทำได้ คือ เริ่มเห็นอกเห็นใจตนเองมากขึ้น คุณไม่สามารถให้สิ่งที่คุณไม่มีได้

ดังนั้น ก่อนที่จะมอบความเห็นอกเห็นใจให้ผู้อื่น ผู้นำอาจเริ่มจากแบ่งปันความยากลำบากของตนเอง ไปพร้อมกับเปิดใจรับฟังความยากลำบากของผู้อื่น แล้วเปิดพื้นที่ในการคุยกันถึงวิธีบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานและเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ยอมรับเรื่องนี้ 

ทั้งนี้ ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่ความอ่อนแอ ผู้คนตอบสนองต่อผู้นำที่แสดงความเห็นอกเห็นใจในทางที่ดีขึ้น วัฒนธรรมองค์กรที่มีความเห็นอกเห็นใจกันและกันมากขึ้น จะช่วยลดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาวะหมดไฟ หากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ลดลง ก็มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดภาวะเบิร์นเอาท์ในการทำงานได้นั่นเอง