‘Climate Quitting’ คนรุ่นใหม่ลาออกจากงาน เพราะองค์กรไม่สนใจแก้ ‘ภาวะโลกร้อน’

‘Climate Quitting’ คนรุ่นใหม่ลาออกจากงาน เพราะองค์กรไม่สนใจแก้ ‘ภาวะโลกร้อน’

“ภาวะโลกร้อน” กลายหนึ่งในประเด็นที่ “คนเจน Z” ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนตัดสินใจ “ลาออกจากงาน” ที่ทำอยู่ ถ้าหากบริษัทนั้นไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” และ “ความยั่งยืน” โดยเฉพาะบริษัทในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น บริษัทน้ำมัน หรือ แก๊สธรรมชาติ

KEY

POINTS

  • Climate Quitting” เป็นลาออกจากงานเพราะทัศนคติและค่านิยมด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของพนักงานและบริษัทไม่ตรงกัน โดยส่วนมากมักเกิดใน “คนเจน Z” ที่ทำงานในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น บริษัทน้ำมัน หรือ แก๊สธรรมชาติ
  • บางบริษัทจัดทำนโยบาย สร้างตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็น “การฟอกเขียว” (Green Washing) สร้างภาพลักษณ์เป็นบริษัทรักษ์โลก แต่ไม่ได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง
  • แม้พนักงานรู้สึกไม่สบายใจ สูญเสียความไว้วางใจ และหมดใจที่จะทำงานกับบริษัทที่ไม่เห็นคุณค่า ท้ายที่สุดแล้วก็จะลงเอยด้วยการลาออก หันไปหางานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับค่านิยมและคุณค่าที่พวกเขายึดถือ

ภาวะโลกร้อน” กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ “คนเจน Z” ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขายังคงต้องอาศัยอยู่ในโลกที่กำลังย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ จาก “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” ทำให้หลายคนตัดสินใจ “ลาออกจากงาน” ที่ทำอยู่ ถ้าหากบริษัทนั้นไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” และ “ความยั่งยืน” โดยเฉพาะบริษัทในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น บริษัทน้ำมัน หรือ แก๊สธรรมชาติ

พอล โพลแมน นักรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศและความเท่าเทียม พร้อมทีมงานได้ทำการสำรวจพนักงานมากกว่า 4,000 คนทั่วสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่า 73% ของคนงานชาวอเมริกันกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 61% กล่าวว่าพวกเขาต้องการเห็นบริษัทของตนมีจุดยืนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทน้ำมันและก๊าซยอมรับว่าเริ่มเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะหาพนักงานศักยภาพสูงมาร่วมงานด้วยได้ แม้จะมอบข้อเสนอที่ดีให้ก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาสูญเสียความน่าเชื่อถือและความศรัทธาจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการเกิดเทรนด์ “Climate Quittingลาออกจากงานเพราะทัศนคติและค่านิยมด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของพนักงานและบริษัทไม่ตรงกัน ยิ่งทำให้แรงงานไม่อยากมาร่วมงานมากยิ่งขึ้น

พนักงานลาออกเพราะ นายจ้างไม่สนใจ “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” 

การลาออกจากงานไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบ อันที่จริงอดีตพนักงานหลายคนก็เปิดเผยว่าพวกเขามีความสุขกับงานในหลาย ๆ ด้าน และได้รับค่าตอบแทนที่ดี แถมมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แล้วอะไรเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนลาออกจากงานเนื่องจากปัญหาเรื่องสภาพอากาศ?

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาธ ในสหราชอาณาจักรทำการศึกษาโดยการสัมภาษณ์ผู้คนหลายสิบชีวิตที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ พบว่า พวกเขาเป็นกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก และรู้สึกว่าภาครัฐจะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลได้ชัดเจนทั้งจากภาครัฐและองค์กรที่พวกเขาทำงานอยู่ 

ยิ่งไปกว่านั้นคนที่ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า องค์กรของพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยบางคนกล่าวว่านายจ้างเพิกเฉยต่อคำเตือน อีกทั้งยกเลิกข้อผูกพันทางสภาพอากาศก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ

ความเฉยชาและไม่เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของนายจ้าง เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกจากงาน โดยหนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า

“ฉันอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกแย่ลง ฉันไม่ต้องการใช้ความสามารถและทักษะที่ร่ำเรียนมาหลายปี เพื่อทำลายโลก และทำให้เกิดภัยพิบัติทางสภาพอากาศ”

“การฟอกเขียว” ความไม่จริงใจขององค์กรในการแก้ไขภาวะโลกร้อน

ปี 2021 เป็นช่วงที่คนหันมาให้ความสำคัญภาวะโลกร้อนอย่างมาก ทำให้หลายบริษัทหันมาเกาะกระแสนี้ด้วยการออกนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ 

นอกจากนี้ บางบริษัทจะเปิดตำแหน่งที่เกี่ยวกับการจัดการและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนขึ้นมาใหม่ เช่น ผู้จัดการด้านความยั่งยืน แต่ดูเหมือนว่าทั้งหมดนี้จะเป็นแค่ลมปาก เมื่อทั้งหมดเป็นเพียงแค่ “การฟอกเขียว” (Green Washing) สร้างภาพลักษณ์เป็นบริษัทรักษ์โลก แต่ไม่ได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง

ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนพบว่า บริษัทของตนเองเป็นบริษัทฟอกเขียว เพราะนายจ้างไม่ทำตามสิ่งที่ประกาศเอาไว้เป็นนโยบาย กลับทำเหมือนเดิมและไม่ให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน 

ส่วนตำแหน่งใหม่ก็ถูกตั้งขึ้นมาลอย ๆ ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมจนสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ แม้พวกเขาจะพยายามต่อสู้อย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม

เกรซ ออสกัสติน หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทน้ำมันและก๊าซส่วนใหญ่ไม่ได้ทุ่มเทและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งหมายความว่าแทบจะไม่มีโอกาสที่จะให้พนักงานที่ใส่ใจเรื่องสภาพอากาศได้เติบโต

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้พนักงานรู้สึกไม่สบายใจ สูญเสียความไว้วางใจ และหมดใจที่จะทำงานกับบริษัทที่ไม่เห็นคุณค่า ไม่พยายามแก้ไขปัญหา ทำเพียงแค่การภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะลงเอยด้วยการลาออก หันไปหางานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับค่านิยมและคุณค่าที่พวกเขายึดถือ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน


ที่มา: BBCCNBCThe Conversation