คนรุ่นใหม่ 86% เปิดใจคุยเงินเดือน เก็บข้อมูลไว้ต่อรองป้องกันถูกเอาเปรียบ

คนรุ่นใหม่ 86% เปิดใจคุยเงินเดือน เก็บข้อมูลไว้ต่อรองป้องกันถูกเอาเปรียบ

วัยทำงานคนรุ่นใหม่ Gen Y Z กล้าเปิดใจคุยเรื่องเงินเดือนมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ พวกเขาอยากได้ข้อมูลไว้ใช้เจรจาต่อรองเมื่อขึ้นตำแหน่งสูงหรือหางานใหม่ ป้องกันการถูกเอาเปรียบ-เหยียดเพศ ในสถานที่ทำงาน

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจ เผย คนรุ่น Gen Z มากถึง 86% กล้าเปิดใจเผยข้อมูลเงินเดือนของตนเอง รองลงมาคือคนรุ่น Gen Y 59% ก็กล้าพูดคุยเรื่องนี้เช่นกัน
  • สำนักงานสถิติออสเตรเลียระบุว่า ช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายและหญิงต่างกันอยู่ที่ 11.5% พนักงานหญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าพนักงานชาย 231.50 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อสัปดาห์ (ราวๆ 5,230 บาทต่อสัปดาห์)
  • การแชร์ข้อมูลเงินเดือนไม่ใช่แค่ความอยากรู้อยากเห็น แต่เป็นการเรียนรู้ว่าเพื่อนของคุณทำอาชีพนี้ ตำแหน่งนี้ แล้วมีรายได้เท่าไร ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาเจรจาต่อรอง เมื่อคุณจะขยับตำแหน่งใหม่หรือมองหางานใหม่

หากมีคนถามว่าคุณมีเงินเดือนเท่าไร? วัยทำงานคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z คงจะตอบคำถามนี้ได้ทันทีโดยไม่คิดมากอะไร เพราะพวกเขามองว่าการเปิดเผยเงินเดือนเป็นเรื่องปกติ ยืนยันจากการสำรวจของ Robert Half บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก (ณ ปี 2023) พบว่า คนรุ่น Gen Z มากถึง 86% กล้าเปิดใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเงินเดือนของตนเอง รองลงมาคือคนรุ่น Gen Y (Millennial) 59% ก็กล้าคุยเปิดใจเรื่องนี้เช่นกัน

ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับวัยทำงานรุ่นก่อนๆ ที่อายุมากกว่า กลับพบว่า คนรุ่น Gen X เพียง 40% และคนรุ่น Baby Boomers เพียง 41% เท่านั้นที่พร้อมจะพูดคุยเกี่ยวกับเงินเดือนของงานที่ทำอยู่

ยกตัวอย่างเคสของ แมดดี คาร์ตี (Maddy Carty) วัย 30 ปี หนึ่งในวัยทำงานรุ่น Millennial เปิดเผยความเห็นผ่าน news.com.au ว่า เธอเองก็เปิดใจพูดคุยเรื่องเงินเดือนกับกลุ่มเพื่อนของเธอเช่นกัน โดยเฉพาะเพื่อนผู้ชายที่ทำงานตำแหน่งคล้ายกัน ระดับเดียวกัน เธอมักจะสอบถามข้อมูลนี้เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่า ค่าจ้างอาชีพของเธอในตลาดงานมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่

โลกการทำงานที่ยังมีการเหยียดเพศ-อายุ คนรุ่นใหม่ไม่มั่นใจว่าได้เงินเดือนเหมาะสม?

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติออสเตรเลีย (ณ เดือนพฤษภาคม 2023) ระบุว่า ช่องว่างค่าจ้างระหว่างวัยทำงานชายและหญิงยังคงแตกต่างกัน และห่างกันอยู่ที่ 11.5% โดยทุกๆ 1 ดอลลาร์ของเงินเดือนที่ผู้ชายได้รับโดยเฉลี่ย ผู้หญิงจะได้รับเฉลี่ยอยู่ที่ 89 เซ็นต์

นั่นหมายความว่า พนักงานผู้หญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าพนักงานผู้ชายถึง 231.50 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อสัปดาห์ (ราวๆ 5,230 บาทต่อสัปดาห์) หากคิดคำนวณเป็นรายปีพบว่า ชาย-หญิง จะมีเงินเดือนต่างกันประมาณ 12,038 ดอลลาร์ต่อปี (ราวๆ 272,000 บาทต่อปี; คำนวณอัตราค่าแลกเปลี่ยนที่ 22.60 ณ วันที่ 8 ต.ค.67) 

คาร์ตี ซึ่งทำงานในวงการสื่อ อธิบายว่าเมื่อเธออาศัยอยู่ที่ลอนดอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำงานให้กับบริษัทใหญ่ๆ การหารือถึงรายได้ของเธอกับเพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมอาชีพถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพื่อให้แน่ใจว่าเธอไม่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งการแชร์ข้อมูลเรื่องเงินเดือนช่วยให้เธอเข้าใจว่า เธอสมควรได้รับรายได้เพิ่มเมื่อใด และเธออยู่ในสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์เมื่อใด

นอกจากนี้ คาร์ตีเล่าว่าเพื่อนผู้ชายวัย 30 ปีคนหนึ่ง (ไม่เปิดเผยชื่อ) สะท้อนความเห็นของเขาในทำนองเดียวกันว่า การแชร์เงินเดือนไม่ใช่แค่ความอยากรู้อยากเห็น แต่มันเป็นการเรียนรู้ว่าเพื่อนของคุณทำอาชีพนี้ ตำแหน่งนี้ แล้วมีรายได้พื้นฐานเท่าไร ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาเป็น “เครื่องมือต่อรอง” ที่คุณสามารถใช้ได้ ไม่ว่าคุณจะกำลังมองหาการขึ้นเงินเดือน หรือเจรจาเงินเดือนเมื่อมองหางานใหม่

การรู้ว่าเพื่อนของคุณได้รับรายได้เท่าใดถือเป็นเครื่องมือต่อรองที่ดี และคุณสามารถต่อรองสิ่งที่ยุติธรรมได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีหลักฐานมาสนับสนุนตัวเอง 

การเปิดใจคุยเรื่องเงินเดือน ช่วยกระตุ้นพนักงานหญิงกล้าเรียกเงินเดือนที่เหมาะสม

คาร์ตี้มองว่า เหล่าคนวัยทำงานที่มีอายุเท่าเธอหรืออายุน้อยกว่าเธอ พวกเขามักจะรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยเรื่องเงินเดือนมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าบริษัทบางแห่งมีกฎว่าไม่ให้พนักงานพูดคุยกันเรื่องเงินเดือน ซึ่งเธอมองว่ากฎแบบนี้เป็นสัญญาณอันตราย และทำให้รู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่มีความโปร่งใสเรื่องเงินเดือน

“คนรุ่นนี้มีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง ฉันคิดว่าเพื่อนๆ ของฉันสบายใจที่จะแชร์ข้อมูงเรื่องรายได้ของพวกเขา ทุกคนอยากได้ข้อมูลมาช่วยคิดคำนวณว่า สุดท้ายแล้วพวกเขาได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับงานที่พวกเขาทำหรือไม่ และไม่ใช่แค่ในสายงานเดียวกัน แต่การสอบถามเรื่องเงินเดือนของอาชีพอื่นๆ ต่างสายงาน ก็ทำให้ได้ประโยชน์เช่นกัน” เธออธิบาย

ตัวอย่างเช่น เธอมีเพื่อนที่ทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก และเนื่องจากทั้งสองคนเปิดเผยเกี่ยวกับรายได้กันอยู่เสมอ จึงทำให้เธอสังเกตเห็นว่าเมื่อใดที่เพื่อนของเธอได้รับเงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นั่นทำให้เธอกระตุ้นให้เพื่อนของเธอขอเงินเพิ่ม เนื่องจากเธอรู้ถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของเพื่อนคนดังกล่าว หากมองในภาพรวมของตลาดงาน คาร์ตีมองว่าสิ่งนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้หญิงกล้าที่จะเรียกเงินเดือนให้เหมาะสมมากขึ้น

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอย่าง รีเบคก้า ไพค์ (Rebecca Pike) กล่าวว่า การแชร์ข้อมูลเรื่องเงินเดือนกลายเป็น “แนวโน้มที่แพร่หลาย” ในหมู่วัยทำงานรุ่นใหม่ชาวออสเตรเลีย พวกเขาพูดคุยเรื่องนี้ผ่าน TikTok และ Instagram กัยเป้นปกติ ไพค์ มองว่า นี่เป็นการพัฒนาในเชิงบวก เพราะการที่คนหนุ่มสาวรู้สึกมั่นใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลถือเป็นสัญญาณที่ดีทางสังคม

“ความเปิดเผยเกี่ยวกับรายได้ของคนรุ่นใหม่ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคนรุ่นก่อนๆ ที่มักมองว่าการพูดคุยเรื่องเงินเดือนเป็นเรื่องต้องห้าม คนรุ่น Gen Z รู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน การเงิน ของตนเอง และสนับสนุนการชดเชยที่ยุติธรรม เนื่องจากเติบโตมาในยุคที่สังคมก้าวหน้ามากขึ้น” เธอกล่าว 

เปิดกฎหมายเงินเดือนโปร่งใส ของนิวยอร์ก ช่วยลดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและเพศ

ไม่เพียงแค่วัฒนธรรมการแชร์ข้อมูลเงินเดือนกำลังเบ่งบานในสังคมคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้ในปี 2022 นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้มีการบังคับใช้ “กฎหมายเงินเดือนโปร่งใส” (Pay Transparency Law) ที่ระบุให้นายจ้างต้องชี้แจงถึงเงินเดือนตั้งแต่ต่ำสุดจนถึงสูงสุด โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งและการย้ายงาน ลงในใบประกาศรับสมัครงานทุกครั้ง ไม่ว่าจะลงประกาศในสื่อสิ่งพิมพ์ ใบปลิว หรือบนเว็บไซต์หางานต่าง ๆ เช่น LinkedIn, Glassdoor, Indeed ฯลฯ 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ คือ เพื่อช่วยลดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและเพศของนายจ้าง ที่มีต่อลูกจ้าง ซึ่งส่งผลให้พนักงานแต่ละคนได้รับเงินเดือนไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าจะทำงานในตำแหน่งเดียวกันก็ตาม โดยเฉพาะกับผู้หญิงและคนผิวสี 

กฎหมายนี้เริ่มใช้บังคับแล้วในนครนิวยอร์ก (ณ ปี 2022) และเตรียมจะบังคับใช้ทั่วรัฐนิวยอร์ก และแคลิฟอร์เนียภายในปี 2023-2024 รวมถึงจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการประกาศหางานทั่วสหรัฐต่อไปในอนาคต การผลักดันเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากนโยบายความโปร่งใสในการจ่ายเงินเดือนถือเป็นสิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่ต้องการ

โทนี กัวดาญี (Tony Guadagni) หัวหน้าอาวุโสฝ่ายวิจัยของ Gartner บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก กล่าวว่า “ผมคิดว่าหัวหน้า HR ส่วนใหญ่ต้องมีความโปร่งใสมากขึ้นในการจ่ายเงินเดือน ซึ่งส่งผลดีกับพนักงานและส่งผลดีต่อองค์กรโดยรวม แม้ว่าจะทำได้ยากกับผู้บริหารก็ตาม 

อีกทั้งข้อมูลผลวิจัยล่าสุดของ Payscale บริษัทรวบรวมข้อมูลและผลิตซอฟต์แวร์สำหรับค่าชดเชย ระบุด้วยว่า การเปิดเผยค่าแรงหรือเงินเดือนแก่พนักงาน เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดในการมีส่วนร่วมของพนักงาน เนื่องจากพนักงานต้องการรู้ว่าตนเองนั้นมีค่ากับบริษัท และต้องการรู้ว่าพวกเขาได้รับค่าตอบแทนอย่างยุติธรรม