87% ของ Gen Z ไม่พอใจค่าจ้าง เงินเฟ้อเป็นเหตุหรือถูกกดเงินเดือน?
ทำงานเต็มที่ แต่ได้เงินเดือนแค่นี้! 87% ของ Gen Z ไม่พอใจค่าจ้าง ขณะที่ผลสำรวจอีกชิ้น เผย อัตราเงินเฟ้อ และราคาสินค้าที่แพงขึ้น เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับวัยทำงานหนุ่มสาว
KEY
POINTS
- Gen Z มักมีคำถามหรือตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมของเงินเดือนที่ได้รับเมื่อเทียบกับภาระงานที่ต้องทำ ผลสำรวจชี้ว่า 87% ของ Gen Z ไม่พอใจค่าจ้างที่ได้ มองว่าได้เงินเดือนต่ำกว่ามาตรฐาน
- กลุ่มวัยทำงานอายุน้อยเผชิญกับความเครียดทางการเงิน 40% ของพวกเขายอมรับว่าต้องดิ้นรนเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
- ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้วัยทำงานหนุ่มสาวจำนวนมาก รู้สึกถูกบีบคั้นทางการเงิน เมื่อค่าครองชีพแพงขึ้น ความคาดหวังต่ออัตราค่าจ้างก็เปลี่ยนไปด้วย
เรื่องเงินเดือนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกับวัยทำงานอายุน้อยรุ่น Gen Z ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกการทำงานพร้อมๆ กับช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด และวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลก พวกเขามักมีคำถามหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับเมื่อเทียบกับภาระงานที่ต้องทำ
หากพิจารณาลึกลงไปถึงต้นตอของเรื่องนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่หลังโควิดเป็นต้นมา ภาคธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก แบกรับต้นทุนไม่ไหวจึงจำเป็นต้องปลดพนักงานออก มีคนตกงานมากเป็นประวัติการณ์ ส่วนพนักงานที่เหลืออยู่ในองค์กรต่างก็มีภาระงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทบางแห่งก็อาจไม่ได้เพิ่มค่าตอบแทนให้สอดคล้องตามภาระหน้าที่ ที่เพิ่มเข้ามา จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีพนักงานสะท้อนความเห็นในทำนองว่างานเยอะขึ้นสองเท่าสามเท่าจากเดิม
Gen Z 87% ไม่พอใจเงินเดือนในปัจจุบัน มองว่าได้ค่าจ้างต่ำเกินไป
ล่าสุด.. มีผลสำรวจใหม่จาก ResumeTemplates ที่จัดทำขึ้นในเดือนกันยายน 2024 พบว่า “พนักงานกลุ่ม Gen Z มากถึง 87% รู้สึกว่าตนเองได้รับค่าจ้างต่ำเกินไป แม้แต่ในกลุ่มของผู้ที่มีเงินเดือนสูงหลักแสน” ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูล และความคิดเห็นจากพนักงานประจำจำนวน 1,750 คน ที่มีอายุระหว่าง 17 - 27 ปีหรือเป็นกลุ่มคนรุ่น Gen Z
พวกเขาส่วนใหญ่ (46%) รายงานว่า ตนเองมีรายได้น้อยกว่า 60,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือราวๆ 1.98 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ 33% บอกว่า มีรายได้น้อยกว่า 30,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 990,000 บาทต่อปี และ 6% บอกว่า มีรายได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 3.31 ล้านบาทต่อปี (คำนวณอัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินตราที่ 33.14 ณ วันที่ 3 ต.ค.67)
ผลสำรวจข้างต้นยังระบุรายละเอียดอื่นๆ ด้วยว่า
- พนักงานรุ่น Gen Z เพียง 13% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนได้รับค่าจ้างอย่างยุติธรรม
- 1 ใน 3 ของพนักงานกลุ่มตัวอย่าง คิดว่าตนเองควรได้รับค่าจ้างระหว่าง 70,000 - 100,000 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 2.32 - 3.31 ล้านบาทต่อปี)
- 1 ใน 5 ของพนักงานกลุ่มตัวอย่าง รู้สึกว่าตนควรได้รับเงินเดือนเกิน 100,000 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 3.31 ล้านบาทต่อปี)
- พวกเขาส่วนใหญ่ทำงานมาแล้วประมาณ 4 ปี ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง (7%) รายงานว่าตนเองทำงานประจำได้ไม่ถึง 1 ปี
Gen Z อยากได้เงินเดือนมากกว่านี้ เพราะค่าครองชีพแพง เงินไม่พอใช้
กลุ่มวัยทำงานอายุน้อยต่างเผชิญกับความเครียดทางการเงิน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 40% ยอมรับว่าต้องดิ้นรนเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2024 ประเด็นค่าครองชีพแพงถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในหมู่วัยทำงานอย่างกว้างขวาง
สอดคล้องกับรายงานการสำรวจของ YouGov/Economist ซึ่งทำการสำรวจกลุ่มวัยทำงานผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1,565 คน (เผยแพร่ ณ เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา) และผลสำรวจพบว่า อัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่แพงขึ้น ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับวัยทำงานหนุ่มสาว รองลงมาคือ การจ้างงานและเศรษฐกิจ นอกจากนี้พวกเขายังรายงานด้วยว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงแต่ราคาอาหารยังคงสูงขึ้น เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่แล้ว
จึงไม่แปลกที่พวกเขามองว่า หากพรรคการเมืองพรรคไหนชูนโยบายด้านการลดค่าครองชีพได้ดี ก็จะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน นี้
ปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นผลพวงจากภาวะเงินเฟ้อเป็นหลัก
จูเลีย ทูธเอเคอร์ (Julia Toothacre) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อาชีพของ ResumeTemplates กล่าวว่า อาชีพที่ Gen Z เลือกทำ ย่อมมีนัยสำคัญต่อศักยภาพในการสร้างรายได้ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้วัยทำงานรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากรู้สึกถูกบีบคั้นทางการเงิน แม้ว่าพวกเขาจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ ในช่วงวัยเดียวกันนี้ในยุคอดีตก็ตาม
แต่เมื่อค่าครองชีพเปลี่ยนไป ความคาดหวังในอัตราค่าจ้างก็เปลี่ยนไปเช่นกัน แต่ก็อย่างที่เห็นกัน แทบไม่มีนายจ้างที่ไหนที่จะปรับขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้
ดังนั้น วัยทำงานบางส่วนจึงเลือกที่จะแก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ (เนื่องจากค่าครองชีพแพง) ด้วยการย้ายประเทศ ยืนยันจากรายงานของ Expat ประจำปี 2024 ที่พบว่า คนรุ่น Gen Z กำลังย้ายออกจากสหรัฐอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าครองชีพในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด โดยชาว Gen Z เกือบครึ่งหนึ่ง (45%) ต้องการย้ายไปทำงานในประเทศอื่นๆ ที่มีค่าครองชีพถูกกว่านี้
ขณะที่ Gen Z บางคนเลือกที่จะไม่ย้ายประเทศ แต่แก้ปัญหาทางการเงินด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดย 33% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม ชี้ว่า พวกเขาเปลี่ยนไปหาที่อยู่อาศัยที่ถูกกว่าเดิมได้ ขณะที่ 20% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าพวกเขาพยายามลดการใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือยลงจากเดิม ซึ่งสถานการณ์ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นสิ่งที่เหล่า Gen Z ยังต้องเผชิญหน้าต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์