Gen Z 50% จะลาออก ถ้าต้องเข้าออฟฟิศเกิน 3 วัน/สัปดาห์ เพราะเสียเวลา-เสียเงิน

Gen Z 50% จะลาออก ถ้าต้องเข้าออฟฟิศเกิน 3 วัน/สัปดาห์ เพราะเสียเวลา-เสียเงิน

หลายบริษัทในสหรัฐประกาศใช้ข้อบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ แบบจริงจัง Gen Z มองว่า เรื่องนี้ทำให้เสียเวลา-เสียเงิน โดยเปล่าประโยชน์ ถ้าโดนบังคับให้เข้าออฟฟิศทุกวัน ก็อาจวางแผน 'ลาออก' จากงานในที่สุด

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจของ Personio บริษัทเทคโนโลยีทรัพยากรบุคคลของเยอรมนี เผย Gen Z 50% จะ ‘ลาออก’ จากงาน หากถูกบังคับให้เข้าออฟฟิศมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์
  • Gen Z รายงานเหตุผลตรงกันว่า การไปทำงานที่ออฟฟิศเป็นเรื่อง “เสียเวลาและเสียเงินค่าเดินทางไปโดยเปล่าประโยชน์” ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อระดับสูง ซึ่งคงอยู่มานานหลายปี
  • สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ พบว่า ในเดือนสิงหาคม 2567 พนักงานที่มีอายุน้อย (16-24 ปี) มากกว่า 92% ไม่ได้ทำงานจากบ้านเลย มีไม่ถึง 10% ที่ทำงานจากบ้านเต็มเวลาหรือทำงานแบบไฮบริด

เกิดดราม่าในโลกการทำงานอีกครั้ง เมื่อบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon เพิ่งจะประกาศนโยบาย (ณ กลางเดือนกันยายน 2567) ให้พนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานในออฟฟิศเต็มรูปแบบ 5 วัน/สัปดาห์ เหมือนช่วงก่อนโควิดระบาด โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่มกราคม ปี 2568 เป็นต้นไป หลังเรื่องนี้เผยแพร่ออกไปไม่นาน ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมการทำงานอย่างหนัก รวมถึงมีมุมมองจาก วัยทำงาน Gen Z ที่ออกมาสะท้อนว่า ไม่เห็นด้วย!

ก่อนหน้านี้มีรายงานจาก สำนักข่าว CNBC ระบุว่า ทางฝั่งลูกจ้าง Amazon ได้ออกมาโต้ตอบประเด็นนี้อย่างดุเดือด พวกเขาสะท้อนความรู้สึกว่า “ไม่พอใจอย่างยิ่ง” หลังจากที่ แอนดี้ แจสซี (Andy Jassy) ซีอีโอของบริษัทได้ออกประกาศให้พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงานแบบเต็มเวลา 

ประกอบกับมีผลสำรวจชิ้นหนึ่งบนเว็บไซต์ Blind แพลตฟอร์มรีวิวการทำงานชื่อดัง (สำรวจจากพนักงานบริษัท Amazon จำนวน 2,585 คน โดยไม่เปิดเผยชื่อ) ระบุว่า พนักงาน Amazon 73% กำลังพิจารณาหางานใหม่ ซึ่งพนักงานเหล่านั้นเขียนรีวิวด้วยว่า ประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของพวกเขาอย่างมาก และอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกด้วย

ขณะที่ผลสำรวจอีกชุดจาก Glassdoor เว็บไซต์รวบรวมบทวิจารณ์บริษัทและเงินเดือนจริงของพนักงาน ระบุว่า พนักงาน Amazon 74% กำลัง “คิดใหม่” เกี่ยวกับอนาคตของอาชีพการงานของตน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า นโยบายการบังคับเข้าทำงานที่เข้มงวด อาจเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ “บีบให้พนักงานลาออก” เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายชดเชยในการเลิกจ้าง

 

Gen Z ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง RTO หากโดนบังคับเข้าออฟฟิศทุกวัน ขอลาออกดีกว่า

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ยังขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ และลามไปถึง กลุ่มวัยทำงานอายุน้อย รุ่น Gen Z ที่ออกมาสะท้อนความเห็นเช่นกัน ล่าสุด.. ตามรายงานของ Daily Mail และ นิตยสาร Fortune ได้อ้างถึงการศึกษาของ Personio ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทรัพยากรบุคคลของเยอรมนี พบผลสำรวจที่ชี้ไปทิศทางเดียวกันคือ

คนรุ่น Gen Z มากถึง 50% บอกว่า จะ ‘ลาออก’ จากงาน หากถูกบังคับให้มาทำงานมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ เทียบกับพนักงานในกลุ่มอายุอื่นๆ ที่มีเพียง 39% เท่านั้นที่ตอบว่าจะลาออก 

นอกจากนี้ เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่อยากเข้างานในออฟฟิศเต็มสัปดาห์ ผู้ตอบแบบสอบถามรุ่น Gen Z เกือบครึ่งหนึ่ง รายงานเหตุผลตรงกันว่า การไปทำงานที่ออฟฟิศเป็นเรื่อง “เสียเวลาและเสียเงินค่าเดินทางไปโดยเปล่าประโยชน์”

คำตอบนี้สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทต่างๆ มองเห็นเช่นกัน โดยกว่า 50% ของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรจากหลากหลายบริษัท ชี้ว่า พนักงานในบริษัทของตนต่างก็ลังเลที่จะกลับเข้าออฟฟิศแบบเต็มเวลา เนื่องจาก แรงงาน Gen Z พวกเขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในช่วงที่โควิดระบาดพอดี ซึ่งในช่วงนั้นทุกคนต้องปรับวิถีการทำงานใหม่ ด้วยการทำงานจากระยะไกลเป็นเวลานานหลายปี จึงอาจทำให้คนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับวิธีการทำงานแบบนี้ไปแล้ว 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ Gen Z ไม่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา นั่นคือ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ระดับสูงซึ่งคงอยู่มานานหลายปี ส่งผลให้ทั้งราคาน้ำมัน การซื้อรถ และค่าใช้จ่ายมื้ออาหารในร้านอาหารต่างๆ ต้องจ่ายแพงขึ้น

ความเห็นของพนักงานอาจไม่มีผล หลายบริษัทดึงให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศได้อยู่ดี

แม้ว่าพนักงานรุ่นใหม่จะต้องการทำงานแบบยืดหยุ่น (ทำงานที่บ้านสลับกับเข้าออฟฟิศ) มากแค่ไหนก็ตาม แต่บริษัทต่างๆ ก็ยังคงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะดึงพวกเขาให้กลับเข้ามาทำงานในสำนักงานอยู่ดี อย่างที่บอกไปข้างต้นคือ Amazon เป็นบริษัทล่าสุดที่ออกคำสั่งให้พนักงานกลับมาทำงานที่บริษัทเป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทอื่นๆ ก็กำลังเรียกพนักงานกลับเข้าสำนักงานมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ เช่น BlackRock, Chipotle, Disney ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำสั่งให้กลับเข้าทำงาน (RTO) จะได้ผลในบริษัทหลายแห่ง ยืนยันจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ พบว่า พนักงานที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี มากกว่า 92% ไม่ได้ทำงานจากที่บ้านเลยในเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา มีเพียง 3.2% เท่านั้นที่ทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา ส่วนที่เหลือทำงานแบบผสมผสาน 

พนักงาน Gen Z ที่ทำงานในสายงานด้านเทคโนโลยีบางคน กำลังใช้ประโยชน์จากคำสั่งให้กลับเข้าออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการแชร์เรื่องราวชีวิตการทำงานของพวกเขาในคลิปวิดีโอ แล้วเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียซึ่งพบว่ามียอดเข้าชมหลายแสนครั้ง พวกเขาหาทางออกให้ชีวิตด้วยการทำให้วันทำงานที่น่าเบื่อหน่ายกลายเป็นน่าดึงดูดใจมากขึ้น บางคนถึงกับซื้อของมาตกแต่งโต๊ะทำงานในออฟฟิศของตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น อลิเซีย วินเทอร์โบเออร์ (Alicia Winterboer) ผู้ประสานงานด้านการตลาดและเป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ ได้บอกกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า เธอพยายามทำให้ผู้คนเลิกมองว่าการทำงานแบบ 09.00-17.00 น. นั้นเป็นเรื่องแย่สักที ด้วยการทำคลิปวิดีโอที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ออฟฟิศ ที่ถือเป็นรูปแบบการทำงานปกติ แม้ว่าปัจจุบันคนหนุ่มสาวจำนวนมากต่างก็อยากออกมาทำธุรกิจของตนเอง แต่อย่าลืมว่าการเป็นพนักงานบริษัทก็มีข้อดีเช่นกัน