ศึกอีแอบ...ร้อน! แค่...ละครการเมือง
2 พรรคใหญ่ในรัฐบาล พรรคอันดับ 1 กับ 2 เปิดหน้าชนกันแล้ว แม้จะเตรียมทางถอยเอาไว้บ้าง แต่ก็มองเห็นสัญญาณการเมืองตึงเครียดในปี 68 ชัดเจน อีแอบร้อน..ละครการเมือง จะชิงเหลี่ยมกันแบบนี้ต่อไป แต่ไม่แยกจากกันไปไหน ด้วยเหตุผลของ “อำนาจ” ไม่ใช่ “ประชาชน”
“ศึกอีแอบ” ทำท่าจะบานปลายกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองส่งท้ายปี
13 ธ.ค. จุดเริ่มต้นที่หัวหิน อดีตนายกฯทักษิณ จงใจบริภาษ “อีแอบ”
18-19 ธ.ค. ลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วมกันของสองสภา มีอภิปรายปะทะกันระหว่างขุนพลเพื่อไทยกับภูมิใจไทย ก่อนพรรคแกนนำรัฐบาลปล่อยโปสเตอร์แคมเปญ “180 วันรอได้ เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน...อย่าเชื่อ ‘อีแอบ’ ล็อกสองชั้น”
จะเห็นว่า “ศึกอีแอบ” บานปลาย มีการใช้คำเดียวกันกับที่อดีตนายกฯทักษิณใช้ที่หัวหิน มาเคลื่อนเกมการเมืองในสภาฯ ทำโปสเตอร์ด่าอีกฝ่ายตรงๆ
ขณะที่ “ค่ายสีน้ำเงิน” ก็ไม่ธรรมดา ส่งคุณไชยชนก ชิดชอบ ในฐานะเลขาธิการพรรค ขึ้นชกกลางสภากับรุ่นใหญ่อย่าง คุณอดิศร เพียงเกษ อดีตประธานวิปรัฐบาล
ตอบโต้ตรงๆ แถมท้าทาย วันนี้ไม่งดออกเสียง ผลคือโหวตสวนเลย แถมพร้อมใจใส่เสื้อเหลืองเข้าสภาฯกันทั้งพรรค ส่งนัยสัญญาณกันให้เห็นจะๆ
ทั้งหมดคือภาพที่เห็น แต่เมื่อสแกนในรายละเอียด จะพบว่าทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทยล้วนเตรียมทางถอย
- โปสเตอร์/แบนเนอร์ที่แขวะ “อีแอบ” มีลงชื่อ สส. 7 คนไว้ด้านล่าง เหมือนออกตัวล่วงหน้าว่า นี่คือท่าทีของ สส.เพื่อไทย ไม่ใช่ท่าทีของทั้งพรรคโดยตรง
- นายกฯ แพทองธาร และแกนนำรัฐบาลคนอื่นๆ พูดทำนองว่าไม่มีอะไร ยังทำความเข้าใจกันได้
- อดีตนายกฯทักษิณ ให้สัมภาษณ์ที่โคราช ไม่ขยายความต่อ และรีบบอกว่าพูดคุยกับแกนนำค่ายสีน้ำเงินอยู่เป็นประจำ
- คุณทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย จากภูมิใจไทย ยังให้สัมภาษณ์แนวลอยตัวเหนือความขัดแย้ง เช่นเดียวกับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่แสดงท่าทีคล้ายๆ กัน ตั้งแต่เมื่อครั้ง “อีแอบ 1”
ประเมินสถานการณ์ขณะนี้ สองพรรคใหญ่ในรัฐบาล คือพรรคอันดับ 1 กับ 2 เปิดหน้าชนกันแล้ว แม้จะยังเตรียมทางถอยเอาไว้บ้าง แต่ก็มองเห็นสัญญาณเดือด และการเมืองตึงเครียดในปี 68 ชัดเจนยิ่ง เพราะ...
ระดับ “นายใหญ่” ไม่ปล่อยให้ขี่คอง่ายๆ เหมือน “ลุง” ที่ภูมิใจไทยเคยขี่คอสำเร็จในรัฐบาลชุดที่แล้ว
แต่มองอีกด้าน “ครูใหญ่ค่ายสีน้ำเงิน” ก็ไม่ใช่ละอ่อนทางการเมืองให้ “นายใหญ่” ตบจูบได้ตามใจ
งานนี้จึงเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ควบคู่กันไปกับการเล่นละครการเมืองลวงคู่ต่อสู้และสังคม
ผมได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในฐานะนักรัฐศาสตร์ และ ผอ.เนชั่นโพล เห็นตรงกันแบบนี้
1.สิ่งที่ทั้งสองพรรคเปิดศึกกัน เป็นการชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์การเมืองล้วนๆ โดยเฉพาะปฏิบัติการ “อีแอบ” ของเพื่อไทย โดยยุทธศาสตร์การเมืองแบ่งเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ
ระยะสั้น เวทีเลือกตั้งนายก อบจ. วันที่ 1 ก.พ.68 ย้อนดูการเลือกตั้งนายก อบจ.กลุ่มที่ลาออกก่อนครบวาระ ค่ายสีน้ำเงิน “ภูมิใจไทย” ชิงพื้นที่ได้มากกว่าเพื่อไทย
นายก อบจ. คือบ้านใหญ่ เป็นสปริงบอร์ดสู่การเลือกตั้งปี 70 เพื่อไทยจึงต้องเอาชนะให้มากขึ้น นับจากวันนี้เหลือเวลาอีก 40 วันเศษๆ ไม่เพียงพอที่ “อดีตนายกฯทักษิณ” ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงจะตะลอนไปช่วยผู้สมัครของเพื่อไทยได้ทุกแห่ง
งานนี้จึงต้องออกแคมเปญ “ดิสเครดิตระดับชาติ” ลงไปถึงทุก อบจ.ที่แข่งกันอยู่ว่า ภูมิใจไทยไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการ เพราะรู้ดีว่าลึกๆ แล้วประชาชนไม่พอใจรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมรดก คสช.ฉบับนี้ จึงใช้เกมดิสเครดิตระดับชาติ และนำมาสู่ “อีแอบ 2”
ผสานไปกับการใช้ “ปราจีนบุรีโมเดล” ปราบอิทธิพลทั่วประเทศ กดดัน “บ้านใหญ่ค่ายน้ำเงิน”
ระยะยาว เมื่อชิงความได้เปรียบสนาม อบจ.ได้ ก็มองไปถึงปี 70 ต้องไม่ลืมว่าพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงตอนเลือกตั้งปี 66 ไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทันทีที่มีอำนาจรัฐ แต่ปรากฏว่าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเอง กลับแก้ไม่ได้ ทั้งที่ต้องทำให้สำเร็จตามที่หาเสียงไว้
ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป วาทกรรม “พรรคตระบัดสัตย์ - ไม่รักษาสัญญา” จะตามมาหลอกหลอน โดยเฉพาะจาก “พรรคส้ม - ประชาชน” ด้วยเหตุนี้จึงต้องเทคแอคชั่นเรื่องรัฐธรรมนูญ
แต่เมื่อมันสำเร็จยาก หรือไม่สำเร็จแน่ๆ ก็ต้องหา “แพะ” เพื่อตอบโจทย์ฐานเสียงฝั่งเสรีประชาธิปไตยของตัวเองว่า เพื่อไทยทำเต็มที่แล้ว แต่เผอิญมีพรรคอนุรักษนิยม “อีแอบ” มาขัดขวาง จึงไม่สำเร็จ
2.แต่การเผชิญหน้าผ่าน “สงครามอีแอบ” ของทั้งสองพรรค ไม่ใช่ความขัดแย้งที่แท้จริง เพราะ
หนึ่ง สองพรรคนี้ยังไม่มั่นใจว่า แยกกันไปแล้ว จะเอาชนะ “พรรคส้ม” ได้หรือไม่
สอง ภูมิใจไทยเองก็ดอดหาพรรคส้ม และผู้นำจิตวิญญาณสีส้ม ก็ดอดคุย “ครูใหญ่”
ความร่วมมือทางการเมืองเกิดขึ้นได้ ถ้าละวางเรื่อง 112 เอาไว้ พรรคเพื่อไทยจึงต้องระวังหลัง และสร้างเกมขึ้นมาต่อรอง “ตบจูบ”
สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นละคร เพราะเพื่อไทยไม่มีความประสงค์จะแก้ทั้งฉบับอีกแล้ว เนื่องจากถ้าปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยไปถึงเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างทั้งฉบับ เพื่อไทยย่อมคุมทิศทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เลย
แล้วจะเล่นตามเกมที่ตัวเองเสียเปรียบไปทำไม ฉะนั้นถ้าจะแก้ ก็ต้องแก้รายมาตรา พรรคเพื่อไทยจึงปล่อยให้เกมลากมา จนรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทันแล้ว
ขณะเดียวกันเนื้อหาส่วนที่เคยอยากแก้ ก็แทบไม่เหลือ โดยเฉพาะการให้ สว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เป็นแค่บทเฉพาะกาลหมดอายุ ส่วน สว.สีน้ำเงิน ก็ต่อรองกับภูมิใจไทยได้ แนวๆ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะ สว.ชุดนี้ ไม่สามารถล้มได้ทันที ยังแผลงฤทธิ์ได้อีกมาก
ทั้งหมดนี้จึงน่าจะเป็น “อีแอบร้อน..ละครการเมือง” โดยที่ทั้งสองพรรคก็จะชิงเหลี่ยมกันแบบนี้ต่อไป แต่ไม่แยกจากกันไปไหน ด้วยเหตุผลของ “อำนาจ” ไม่ใช่ “ประชาชน”