พนักงานไม่อยากเข้าออฟฟิศเพราะไม่มีที่นั่ง นายจ้างแก้เกม หาโต๊ะส่วนตัวให้
‘โปรดเข้าออฟฟิศ แล้วจะให้โต๊ะทำงานส่วนตัว’ นายจ้างแก้เกม เมื่อพนักงานไม่อยากเข้าออฟฟิศเพราะไม่มีที่นั่งเป็นของตัวเอง บางคนกังวลว่าต้องแย่งที่นั่งกันในโต๊ะส่วนกลางซึ่งมีไม่พอ บางคนไม่อยากใช้เมาส์หรือแป้นพิมพ์ร่วมกับผู้อื่น
KEY
POINTS
- นายจ้างหลายแห่งหาทางดึงดูดให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ ด้วยการยอมยกเลิกการใช้โต๊ะรวมส่วนกลาง แล้วจัดหาโต๊ะทำงานส่วนตัวให้แก่พนักงาน
- พนักงานส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน กรณีของการนั่งโต๊ะรวมกันคือ มักทำให้พนักงานรู้สึกกระอักกระอ่วนกับการนั่งทำงานร่วมกันหลายๆ คนบนโต๊ะๆ เดียว
- เมื่อพนักงานย้ายกลับไปที่สำนักงาน พวกเขาย่อมต้องการรักษาความรู้สึกในการควบคุมพื้นที่ทำงานของตนเองเอาไว้ ส่งผลให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตั้งแต่หลังการระบาดใหญ่เป็นต้นมา วิถีการทำงานของวัยทำงานทั่วโลกก็เปลี่ยนไป เกิดเป็นการทำงานรูปแบบ “Hybrid work” พนักงานไม่ได้เข้ามานั่งในออฟฟิศเต็มเวลาเหมือนเมื่อก่อน บริษัทหลายแห่งจึงย่อขนาดของสำนักงานให้เล็กลง เพื่อประหยัดงบประมาณในการดูแลสำนักงาน จากเดิมที่เคยมีโต๊ะทำงานจำนวนมาก ก็แทนที่ด้วยโต๊ะส่วนกลางที่ให้พนักงานหมุนเวียนกันมานั่งใช้งาน
แต่ขณะเดียวกันบริษัทบางแห่งโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เริ่มหันมาใช้นโยบาย Return to Office (RTO) หรือ ออกคำสั่งเรียกให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในสำนักงานทุกวันเหมือนช่วงก่อนโควิดระบาด เนื่องจากอยากให้ทุกคน ทุกแผนก เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่วายเจอกระแสต่อต้านเพราะพนักงานส่วนใหญ่เคยชินกับการทำงานที่บ้าน อีกทั้งมีผลสำรวจหลายชิ้นรายงานว่า การทำงานยืดหยุ่นไม่ได้ลดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ขณะที่บางส่วนก็ไม่อยากมาใช้โต๊ะส่วนกลางเพราะที่นั่งไม่เพียงพอ ต้องมาแย่งที่นั่งกัน
อย่างไรก็ตาม นายจ้างหลายแห่งยังคงหาทางดึงดูดให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ ด้วยการให้สวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติมแก่พนักงานที่เข้าออฟฟิศ เช่น จัดให้มีโซนห้องกาแฟสุดหรู คลาสโยคะ และปาร์ตี้ที่มีดีเจมาเล่นเพลงสดให้ฟัง ฯลฯ ในขณะที่ออฟฟิศบางแห่ง ยอมยกเลิกการใช้โต๊ะรวมส่วนกลาง แล้วจัดหาโต๊ะทำงานส่วนตัวให้แก่พนักงาน
ยิ่งไม่มีพื้นที่ส่วนตัวให้ทำงาน พนักงานก็ยิ่งไม่อยากเข้าออฟฟิศ?
เนื่องจากในปัจจุบัน บริษัทบางแห่งเริ่มตระหนักว่ามีข้อตำหนิมากมายเกี่ยวกับการใช้โต๊ะทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องสุขอนามัย ไปจนถึงความไร้จิตวิญญาณของสำนักงานที่ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งนั่นยิ่งทำให้พนักงานมีเหตุผลมากขึ้นที่จะทำงานที่บ้านมากกว่าเข้าออฟฟิศ
สิ่งนี้กระตุ้นให้ Salesforce Inc. ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการซอฟต์แวร์ประเภท Customer Relationship Management (CRM) หรือ การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า และบริษัทอื่นๆ เริ่มหันมาพิจารณาว่า “โต๊ะทำงานส่วนตัว” สามารถดึงดูดให้พนักงานใช้เวลาในออฟฟิศได้มากขึ้นหรือไม่? ทั้งนี้มีข้อมูลจาก Gensler บริษัทผู้ให้บริการด้านงานสถาปนิกของสำนักงาน ชี้ว่า มีหลายบริษัทในสหรัฐ ได้จัดหาโต๊ะทำงานส่วนตัวเข้าไปใช้สำนักงานมากขึ้นจากสัดส่วน 81% ของปี 2022 เป็น 83% ในปี 2024
เคทลิน เทิร์นเนอร์ (Caitlin Turner) ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบภายในและงานสถาปัตยกรรมของบริษัท HOK ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสำนักงานให้กับ Boston Consulting Group และ Honeywell International Inc. กล่าวว่า “หลายบริษัทไม่อยากให้พนักงานมีข้ออ้างในการไม่เข้ามาทำงานในสำนักงาน หากนายจ้างต้องการให้พวกเขาเข้าออฟฟิศ แล้วต้องมาใช้โต๊ะทำงานร่วมกัน พวกเขาจะเกิดคำถามตามมาว่าทำไมไม่มีที่นั่งส่วนตัวเหมือนแต่ก่อน”
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีรายงานผลวิจัยใหม่ของ Gallup พบว่าพนักงาน 77% ที่ต้องเข้ามาทำงานในสำนักงาน มักจะมีเรื่องให้เป็นกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อทั้งด้านสุขภาพร่างกายและต่อสภาวะจิตใจ (กรณีของการนั่งโต๊ะรวมกันคือ มักทำให้พนักงานรู้สึกกระอักกระอ่วน ทำตัวลำบาก)
การใช้โต๊ะส่วนรวมในออฟฟิศ อาจส่งผลเสียทั้งด้านสรีระร่างกายและสุขอนามัย
ในแง่ของสุขภาพร่างกาย พบว่าพนักงานจำนวนมากต้องการเก้าอี้ทำงานที่เหมาะกับสรีระของตน หรือเป็นเก้าอี้ที่รองรับตามหลักสรีรศาสตร์ที่สามารถปรับให้เหมาะสมเข้ากับร่างกายของแต่ละคนได้ จากผลสำรวจของบริษัท HOK พบว่า ในสภาพแวดล้อมของสำนักงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพนักงานก็คือ เก้าอี้
“สำหรับฉันสิ่งที่น่ารำคาญที่สุดในการทำงานแบบ ‘โต๊ะทำงานรวม’ คือ ฉันต้องออกตามหาเก้าอี้ที่ไม่พัง พอหาได้แล้วก็ต้องมาปรับตำแหน่งเก้าอี้และความสูงของหน้าจอใหม่ ซึ่งบางครั้งใช้เวลาถึง 30 นาทีกว่าจะได้เริ่มงาน ซึ่งทำให้เสียเวลาไปกับการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมในการทำงานก่อนจะเริ่มงานได้” ผู้ใช้งานในแพลตฟอร์ม Reddit คนหนึ่งให้ความเห็นถึงปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงาน
ด้าน ไบรอัน เคอร์บี้ (Brian Kirby) นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 42 ปีจากเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา สะท้อนความเห็นว่า การต้องใช้โต๊ะทำงานแบบหมุนเวียนกับคนอื่นในออฟฟิศ ยังมีปัจจัยอื่นๆ บางอย่างที่น่ารังเกียจในแง่ของสุขอนามัย นั่นคือ การที่ต้องใช้คีย์บอร์ดและเมาส์ร่วมกันอีกด้วย
อีกทั้ง ในวันที่คนทั้งบริษัทต้องมาที่ออฟฟิศ (เช่น การนัดประชุมทีมใหญ่) การทำงานที่โต๊ะทำงานร่วมกันอาจกลายเป็นการเล่น “เก้าอี้ดนตรี” เนื่องจากไม่มีโต๊ะเพียงพอสำหรับทุกคน ทำให้พนักงานบางคนต้องไปนั่งทำงานในห้องพักผ่อนหรือห้องครัว
หลายบริษัทมองว่า การให้โต๊ะส่วนตัวแก่พนักงานช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ หลายบริษัทหันมาปรับเปลี่ยนและเพิ่มโต๊ะทำงาน หรือเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวให้พนักงานมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Sanofi SA บริษัทยายักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้ออฟฟิศของบริษัทก็จัดให้มีโต๊ะส่วนรวมให้พนักงานใช้ร่วมกัน กล่าวคือ กำหนดให้ใช้โต๊ะเพียงโต๊ะเดียวต่อพนักงานสองคน แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ของ Sanofi ก็ยังต้องแบ่งปันม้านั่งในห้องแล็บ
เฟอร์นันโด ฟาเรีย (Fernando Faria) หัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานระดับโลกของ Sanofi บอกว่า พอใช้โต๊ะร่วมกันแบบนั้นไปนานๆ พบว่ามันไม่เวิร์ก บริษัทจึงปรับปรุงพื้นที่การทำงานให้พนักงานใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่ทำงานหลากหลายมากขึ้น เช่น ตู้แคปซูลทำงานแบบส่วนตัว ห้องประชุมขนาดเล็ก โต๊ะเปิดขนาดใหญ่ และยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานให้แก่พนักงานโดยเฉพาะ (Hospitality Ambassador)
ขณะที่ เจสสิกา บาร์ตเล็ตต์ (Jessica Bartlett) รองประธานฝ่ายบุคลากรของ Spotnana ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเดินทางที่มีพนักงาน 300 คน บอกว่า บริษัทของเธอเลือกใช้แนวทางแบบใหม่ไปเลย โดยพนักงานที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศของบริษัทในสำนักงานสาขาต่างๆ ทั้งในนิวยอร์ก บังกาลอร์ และพาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ต่างก็มีโต๊ะทำงานเป็นของตัวเอง
“เราต้องการทำให้การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานในทุกๆ วันของพนักงาน เป็นเรื่องง่ายที่สุด คุณคงไม่อยากให้มีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นในการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ” บาร์ตเล็ตต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายจ้างส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า การทำงานที่บ้านเป็นเวลานานในช่วงที่การระบาดใหญ่รุนแรง ทำให้พนักงานเคยชินกับการมีพื้นที่ส่วนตัว และมีการออกแบบมุมทำงานให้เหมาะสมกับตนเองอย่างเต็มที่ เช่น ใช้โคมไฟมาแสงไฟคุณภาพสูง หาจอมอนิเตอร์เพิ่มเติม และการตกแต่งโต๊ะด้วยต้นไม้เพื่อเอาไว้พักสายตา ฯลฯ และเมื่อพนักงานย้ายกลับไปที่สำนักงาน พวกเขาก็ต้องการรักษาความรู้สึกในการควบคุมพื้นที่ทำงานของตนเองเอาไว้ให้ได้ ซึ่งก็จะส่งผลให้พนักงานทำงานได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง