มุกใหม่นายจ้าง ‘บีบลูกจ้างให้ลาออก’ ด้วยคำสั่งกลับเข้าออฟฟิศเต็มเวลา

มุกใหม่นายจ้าง ‘บีบลูกจ้างให้ลาออก’ ด้วยคำสั่งกลับเข้าออฟฟิศเต็มเวลา

นายจ้างมามุกใหม่ ‘บีบให้ลูกจ้างลาออก’ ด้วยการออกคำสั่งให้กลับเข้าออฟฟิศ (Return to Office) ที่เข้มงวด แต่พนักงานแอบสงสัย ทำไมเน้นประกาศช่วงที่บริษัทกำลังย่ำแย่ เช่น ยอดขายตก หุ้นตก

KEY

POINTS

  • โลกการทำงานยุคนี้ส่งเสริมการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น แต่บางบริษัทกลับออกคำสั่ง Return to Office หรือ RTO (กลับเข้าทำงานออฟฟิศ) หวังผล บีบให้ลูกจ้างที่ไม่พอใจลาออกไปเอง
  • 18% ของผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ยอมรับว่า พวกเขาหวังว่าพนักงานจะลาออกโดยสมัครใจ หลังจากดําเนินการตามแผนการออกคำสั่ง RTO 
  • ไม่นานมานี้ Walmart ออกประกาศให้พนักงานที่ทํางานจากระยะไกล ให้ย้ายกลับเข้ามาทำงานในสํานักงานใหญ่ เป็นเหตุให้พนักงาน “ลาออก” หลายร้อยคน

แม้ว่าโลกการทำงานยุคนี้จะสนับสนุนแนวคิดการทำงานแบบยืดหยุ่น (เช่น ให้ทำงานแบบไฮบริด, ทำงานจากระยะไกล) มากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจของ Flex Index ในปี 2024 ที่รายงานว่า 82% ของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 เห็นด้วยกับสภาพแวดล้อมการทํางานที่ยืดหยุ่น 

แต่ยังคงมีนายจ้างบางบริษัทในสหรัฐประมาณ 18% ยังคงออกคำสั่ง RTO หรือ Return to Office ซึ่งก็คือการสั่งให้กลับเข้ามาทำงานออฟฟิศเต็มเวลาทำการจันทร์ถึงศุกร์ เหมือนช่วงก่อนโควิดระบาด โดยมักจะเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกที่ใช้มาตรการนี้ เช่น UPS, Boeing และ JPMorgan Chase เป็นต้น

ด้วยความย้อนแย้งนี้ ทำให้มีพนักงานที่โดนสั่งให้กลับเข้าทำงานในสำนักงาน เกิดการตั้งคำถามว่า การออกคำสั่งนี้มีเหตุผลซ่อนเร้นบางอย่างหรือไม่? เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่านายจ้างมักจะออกคำสั่ง RTO ในช่วงที่บริษัทมียอดขายที่ลดลง หรือช่วงที่ราคาหุ้นตก หรือช่วงที่บริษัทเผชิญสภาวะที่ยากลำบากอื่นๆ ฯลฯ จนรู้สึกเหมือนว่านี่คือการ “Soft LayOff” หรือ การเลิกจ้างงานแบบอ้อมๆ 

บริษัทบางแห่งยอมรับตรงๆ ว่าทำจริง! ออกคำสั่งให้พนักงานเข้าออฟฟิศเต็มเวลา เพื่อหวังให้ลาออกโดยสมัครใจ

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้จะมีมูลความจริง เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีผลสำรวจใหม่จากบริษัทซอฟต์แวร์ BambooHR รายงานว่า นายจ้างหรือหัวหน้างานของบางบริษัท ออกมายอมรับตรงๆ ว่า พวกเขาใช้วิธี ออกคำสั่งให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ (Return to Office) อย่างเข้มงวด และติดตามการทำงานของพนักงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหวังผลให้พนักงาน “ลาออกอย่างสมัครใจ” 

ทั้งนี้ผลสำรวจดังกล่าวพบด้วยว่า ประมาณ 1 ใน 5 หรือ 18% ของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน HR บอกผ่านแบบสำรวจว่า พวกเขาหวังว่าจะมีการลาออกโดยสมัครใจในหมู่พนักงาน หลังจากดําเนินการตามแผนการออกคำสั่ง RTO 

และเกือบ 37% ของผู้จัดการทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่าง บอกผ่านแบบสำรวจว่า พวกเขาเชื่อว่าองค์กรของพวกเขาอยาก Lay Off พนักงานเพิ่ม เนื่องจากพนักงานที่ลาออกโดยสมัครใจ (จากคำสั่ง RTO) มีจำนวนน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ 

การออกคำสั่ง RTO เพื่อไล่พนักงานออก สะท้อนกลไกการทำงานของบริษัทที่ย่ำแย่

แอนนิต้า แกรนแธม (Anita Grantham) หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ BambooHR กล่าวว่า หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีกลไกหรือกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ดีจริงๆ บริษัทนั้นคงไม่ต้องพึ่งพากลยุทธ์การออกคำสั่ง RTO เพื่อไล่พนักงานออก

การทำแบบสำรวจครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจมนุษย์เงินเดือนแบบ full-time มากกว่า 1,500 คนที่เป็นพนักงานปกขาว โดยประมาณ 500 คนในนั้นเป็นพนักงานในตำแหน่ง “ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล” และอีกมากกว่า 1,000 คน เป็นผู้ที่ดํารงตําแหน่งผู้บริหาร ทั้งนี้ ตามข้อมูลการสำรวจชุดนี้ยังมีข้อค้นพบอื่นๆ อีก ได้แก่ 

- 32% ของผู้จัดการทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่าง ยอมรับว่า พวกเขาต้องติดตามพฤติกรรมการทํางานของพนักงานอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอันเนื่องมาจากคำสั่ง RTO ของบริษัท 

- 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รู้สึกว่าพวกเขากลับเข้ามาที่สํานักงานเพียงเพื่อให้เจ้านายและผู้จัดการคนอื่นๆ เห็นว่าตนเองเข้างาน ไม่ได้หนีงาน

- 64% ของพนักงานในการสํารวจจากระยะไกล ยอมรับว่า พวกเขาพยายามสร้างสถานะออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่รายงานเรียกว่า “Green status effect” หมายถึง การที่พนักงานที่ใช้ไอคอนในระบบ Slack หรือ Teams เพื่อแสดงว่าพวกเขากําลังออนไลน์อยู่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ทํางานอยู่จริงๆ ก็ตาม

แนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่น อาจยากที่จะบริหารจัดการ แต่ก็สมเหตุสมผลต่อการทำงานในยุคนี้

แกรนแธม แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า กลไกการทำงานแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันก็จริง แต่ถ้าผู้นำองค์กรมีแนวคิดเห็นด้วยกับการทำงานที่ยืดหยุ่น พวกเขาย่อมหาทางปรับเปลี่ยนและออกนโยบายการทำงานยืดหยุ่นอย่างเหมาะสมได้ ไม่จำเป็นว่าพนักงานทุกแผนกจะต้องเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ แผนกไหนจำเป็นก็ต้องเข้า แต่แผนกไหนที่ทำงานข้างนอกได้ ก็ควรมอบสิทธิทำงานระยะไกลให้พนักงานตามสมควร

อย่างพนักทีมขายบางส่วนต้องเคลียร์งานเอกสาร ก็จำเป็นต้องเข้างานในออฟฟิศ บางส่วนวิ่งหาลูกค้าข้างนอกก็ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน หรือพนักงานทีมเทคโนโลยี อาจใช้เวลาสองวันต่อสัปดาห์ในออฟฟิศเพื่อทํางานและประชุมกับทีม แต่นอกนั้นอีกสามวันก็สามารถทํางานจากที่บ้านได้ เป็นต้น 

“แนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่นนั้น มันยากที่จะบริหารจัดการ แต่ฉันก็คิดว่ามันสมเหตุสมผลมากกว่ากลยุทธ์การแก้ปัญหาแบบผิวเผินโดยไม่ใส่ใจรายละเอียด ฉันมองว่าผู้นำองค์กรไม่ควรใช้คำสั่งเพียงคำสั่งเดียว เพื่อแก้ปัญหาแบบเหมารวม เพราะจะเกิดคำถามว่า ทําไมจู่ๆ เราควรกลับไปที่สํานักงาน” แกรนแธม กล่าว

ท้ายที่สุดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายบริษัทใช้กลยุทธ์นี้จริง เพื่อกดดันทำให้พนักงานลาออกเอง การออกคำสั่ง RTO มักมาจากบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากนายจ้างไม่สามารถดูแลการทำงานของพนักงานได้ทั่วถึง จึงใช้วิธีออกคำสั่งให้พนักงานทุกคนกลับเข้าสํานักงานเพื่อจะได้ติดตามงานได้ทั่วถึง แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นไม้แข็งที่จะสื่อสารเป็นนัยๆ ว่าใครทำตามกฎนี้ไม่ได้ก็ต้องออกไป

บางครั้งอาจรวมถึงการต้องย้ายถิ่นฐาน ยกตัวอย่างเช่น Walmart ที่ไม่นานมานี้ได้ออกประกาศให้พนักงานส่วนใหญ่ที่ทํางานจากระยะไกล ให้ย้ายจากที่ทำงานเดิมไปยังสํานักงานใหญ่ในอาร์คันซอ หรือในซานฟรานซิสโก หรือในนิวยอร์ก จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พนักงาน “ลาออก” จำนวนหลายร้อยคน