ผู้นำต้องมี EQ เมื่อ 'ความฉลาดทางอารมณ์' เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ

ผู้นำต้องมี EQ เมื่อ 'ความฉลาดทางอารมณ์' เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ

วิธีพัฒนา EQ ที่วัยทำงานต้องรู้! นักประสาทวิทยาจากฮาร์วาร์ด แนะ ฝึกฝน 3 วลีช่วยเพิ่มทักษะ ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ ทักษะนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความสำเร็จ

KEY

POINTS

  • นักประสาทวิทยาจากฮาร์วาร์ด แนะ ฝึกฝน 3 วลีช่วยเพิ่มทักษะ ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ หรือ EQ ในที่ทำงาน เพราะเป็นทักษะที่ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ
  • ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลลิส (UCLA) แสดงให้เห็นว่า มีจำนวนผู้นำเพียง 7% เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จด้วยทักษะความชาญฉลาด หรือ IQ แต่กลับมีผู้นำจำนวนมากถึง 93% ที่ประสบความสำเร็จด้วยทักษะความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ
  • 3 วลีที่ช่วยพัฒนา EQ ในที่ทำงาน ได้แก่ ฉันชื่นชมความพยายามของคุณ, บอกฉันหน่อยว่าคุณรู้สึกยังไง, ฉันขอใช้เวลาประมวลผลเรื่องนี้สักพัก

ผู้นำและวัยทำงานทุกคนล้วนอยากประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แม้เส้นทางสู่เป้าหมายนั้นอาจไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินเอื้อม โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนเราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก็คือ การพัฒนา “EQ” หรือ “ความฉลาดทางอารมณ์” ในที่ทำงาน สิ่งนี้อาจสำคัญยิ่งกว่า IQ 

ตามข้อมูลของ NECTEC ได้อธิบายความหมายของความชาญฉลาดทางสมองซึ่งแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ IQ (Intelligence Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง 

ขณะที่ EQ (Emotional Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ทำให้สามารถปรับตัวหรือควบคุมสภาวะการณ์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมนุษย์เราต้องการการพัฒนาทั้ง IQ และ EQ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ฝึกกระบวนการความคิด การตัดสินใจที่ดี เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในมิติต่างๆ ของชีวิต

ความฉลาดทางอารมณ์ สามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ยิ่งมีมากก็นำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า

นอกจากนี้ ความแตกต่างของสองสิ่งนี้ที่ชัดเจนก็คือ IQ เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก ส่วน EQ ถึงแม้จะเป็นศักยภาพทางสมองเหมือนกัน แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และพัฒนาให้ดีขึ้นได้

ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลลิส (UCLA) แสดงให้เห็นว่า มีจำนวนผู้นำเพียง 7% เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จด้วยทักษะความชาญฉลาด หรือ IQ แต่กลับมีผู้นำจำนวนมากถึง 93% ที่ประสบความสำเร็จด้วยทักษะความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ซึ่งมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามมา เช่น ความไว้วางใจ ความสมดุล การรับรู้ตามความเป็นจริง ความซื่อสัตย์ ความเป็นอยู่ที่ดี ฯลฯ

นอกจากนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ความสามารถทางสมองแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด หรือนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ อีกทั้ง EQ ยังมีส่วนผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิต เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ จนนำไปสู่ความสำเร็จของกลุ่มและองค์กรและบุคคล คนที่มี EQ สูง จะเพิ่มโอกาสและความสามารถในการใช้พลังเพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า

‘ความฉลาดทางอารมณ์’ เป็นทักษะที่ใครๆ ก็ต้องการมากที่สุด และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งเสริมความสำเร็จในการงาน

ไม่เพียงเท่านั้น ตามข้อมูลของสำนักข่าว CNBC Make it ยังรายงานไปทิศทางเดียวกันว่า ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ เป็นหนึ่งในทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกการทำงาน และยังเป็นหนึ่งในทักษะที่เรียนรู้ได้ยากที่สุดอีกด้วย ที่ผ่านมามีการวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า สติปัญญาทางอารมณ์ หรือ EQ คือความสามารถในการจัดการความรู้สึกของตนเองและความรู้สึกของคนรอบข้าง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งเสริมความสำเร็จในที่ทำงาน

ดร.จูเลียตต์ ฮัน นักประสาทวิทยาที่ผ่านการฝึกอบรมจากฮาร์วาร์ด และเป็นศาสตราจารย์พิเศษที่ Columbia Business School อธิบายว่า การประเมิน EQ นั้นไม่ง่ายเหมือนการประเมินทักษะอื่น เนื่องจากมันมีลักษณะเฉพาะที่ประกอบขึ้นเป็น EQ ของแต่ละบุคคล เช่น ความเห็นอกเห็นใจ และการตระหนักรู้ในตนเอง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ผู้นำ หรือ วัยทำงานทั่วไป สามารถฝึกฝนและปรับปรุงให้ตนเองมีทักษะนี้เพิ่มมากขึ้นได้ ด้วยการใส่ใจบทสนทนาในที่ทำงานให้มากขึ้น

“สิ่งใดก็ตามที่คุณพูดออกมาเพื่อแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ ความอยากรู้อยากเห็น ความอดทน หรือการตระหนักรู้ในตนเอง ล้วนบ่งบอกถึงการเป็นคนที่มี EQ สูง” ดร.ฮัน บอกกับ CNBC 

อีกทั้งเธอได้แนะนำถึงการพัฒนาอีคิวในที่ทำงาน ด้วยการฝึกฝนใช้ 3 วลี ดังนี้ 

1. ฉันชื่นชมความพยายามของคุณ

บุคคลที่มี EQ สูงจะมีจิตสำนึกทางสังคมที่แข็งแกร่ง และมุ่งมั่นที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง การยอมรับการทำงานหนักและความทุ่มเทของเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง และ/หรือ ไม่ได้รับประโยชน์จากความพยายามของพวกเขา แต่การแสดงให้เห็นว่าคุณเห็นคุณค่าของพวกเขาอย่างแท้จริง ถือเป็นการสนับสนุนทีม และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวก 

“ความรู้สึกขอบคุณไม่ควรมีเงื่อนไข และคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะเข้าใจเรื่องนี้ดี พวกเขาจะชื่นชมและแสดงความยินดีกับใครบางคนในงานที่ทำได้ดี แม้ว่าพวกเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรจากงานนั้นเลยก็ตาม เพราะพวกเขามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” ดร.ฮัน อธิบาย

2. บอกฉันหน่อยว่าคุณรู้สึกยังไง 

คนที่มี EQ สูงจะสามารถอ่านอารมณ์ของเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายได้ แต่พวกเขาก็อาจใช้เวลาสักหน่อยก่อนจะคาดเดาว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร ทั้งนี้ เนื่องจากพวกเขาเห็นคุณค่าในสิทธิของผู้อื่น และให้พื้นที่แก่ผู้อื่นในการรับรู้ถึงอารมณ์ของตนเอง 

ในขณะเดียวกัน คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ยังเสนอการสนับสนุน และแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะรับฟังความคิดและความรู้สึกเหล่านั้นเมื่อใดก็ตามที่อีกฝ่ายพร้อมที่จะแบ่งปัน ดังนั้นการที่คุณเอ่ยว่า “บอกฉันหน่อยว่าคุณรู้สึกยังไง” แปลว่าคุณกำลังสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับบุคคลอื่นในการแบ่งปันความคิด ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงาน

3. ฉันขอใช้เวลาประมวลผลเรื่องนี้สักพัก (ก่อนจะให้คำตอบ) 

คุณลักษณะเด่นของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ คือ การควบคุมตนเองได้ดี หรือการลดทอนการตอบสนองต่ออารมณ์ที่รุนแรงให้เบาลง แทนที่จะปล่อยให้ตนเองกระทำตามแรงกระตุ้นนั้น ในกรณีที่เกิดการโต้แย้งในที่ทำงาน การหยิบเอาวลีนี้มาใช้สื่อสาร จะแสดงถึงการตระหนักรู้ในตนเอง และมีความพยายามชัดเจนในการควบคุมอารมณ์ของตนอย่างมีสุขภาพดี ก่อนที่การสนทนาจะไม่เกิดประโยชน์หรือรุนแรงขึ้น

ที่สำคัญกว่านั้น วลีนี้ยังช่วยให้คุณสามารถกลับมาสนทนาต่อได้หลังจากไตร่ตรองดูแล้ว ดังนั้นคุณจึงกลับมาตอบได้อย่างใจเย็นและรอบคอบมากขึ้น 

ท้ายที่สุด ดร.ฮัน บอกว่า การมี EQ สูงไม่ได้หมายความว่าต้องระงับอารมณ์หรือแกล้งทำเป็นอารมณ์ดีตลอดเวลา แต่ต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ตามความจริง และสื่อสารความคิดความรู้สึกเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างราบรื่นและสร้างผลลัพธ์ที่ดี