มีทักษะ Self-awareness ได้เปรียบกว่า! โดดเด่นจนถูกเลือกให้เลื่อนตำแหน่ง
ต้องเก่งแค่ไหนถึงได้เลื่อนตำแหน่ง? ผู้เชี่ยวชาญจากฮาร์วาร์ด เผย ทักษะ Self-awareness คือคุณลักษณะ No.1 ที่เจ้านายมองหาเพื่อพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง
KEY
POINTS
- ผู้นำที่ดี ไม่ใช่แค่สามารถสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานทำตามคำสั่งได้เท่านั้น แต่ต้องสร้างความไว้ใจกับผู้คนรอบข้างด้วย ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องอาศัยทักษะ Self-awareness
- การที่พนักงานทั่วไปจะถูกเลื่อนตำแหน่ง เจ้านายอาจไม่ได้พิจารณาจากผลงานอย่างเดียว แต่ดูจากทักษะ Self-awareness ที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อเพื่อนร่วมงานด้วย
- ยิ่งมีการตระหนักรู้ในตนเองมากเท่าไหร่ ความเป็นผู้นำของคุณก็จะจริงใจมากขึ้นเท่านั้น และคนอื่นก็จะอยากคบหากับคุณโดยไม่ต้องบังคับ
หลายคนอาจมองว่าพนักงานที่ได้รับการโปรโมทให้เลื่อนตำแหน่งสู่ระดับผู้จัดการ หรือระดับผู้บริหารนั้น จะต้องเป็นคนทำงานเก่ง ทำงานหนัก ผลงานดี เลิกงานดึกกว่าใครเพื่อน แต่จริงๆ แล้ว การพิจารณาเลือกใครสักคนให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งงานที่สูงขึ้น เจ้านายหรือเจ้าของบริษัทอาจไม่ได้ดูแค่ผลงาน แต่พิจารณาในแง่มุมที่ละเอียดอ่อนมากไปกว่านั้น
บิล จอร์จ ผู้บริหารจาก Harvard Business School และเป็นอดีต CEO ของบริษัทดูแลสุขภาพ Medtronic อธิบายว่า โดยพื้นฐานในโลกการทำงาน หากใครมุ่งมั่นทำงานจนมีผลงานดีเกินกว่าเป้าหมาย รวมถึงการมีทัศนคติที่ดี มีความโดดเด่นในการเป็นผู้นำ นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้คุณได้รับการเลื่อนตำแหน่งแล้ว แต่บางครั้ง เจ้าของบริษัทก็มองหา “ผู้นำที่ดี” มากกว่าผู้นำแบบทั่วๆ ไป
ยิ่งมี Self-awareness มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผู้นำที่จริงใจมากเท่านั้น
เจ้าขององค์กรอาจพิจารณาไปถึงบุคลิก ลักษณะนิสัย และซอฟต์สกิลของแต่ละคน เพื่อคัดเลือกว่าพนักงานคนไหนเหมาะสมที่จะดันให้เลื่อนขั้นต่อไป หลักๆ คือการพิจารณาว่าคุณเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมอื่นๆ ได้ด้วย, เป็นผู้นำที่คุ้มค่าที่จะเลื่อนตำแหน่งให้, เป็นผู้นำที่คนรอบข้างไว้ใจ ฯลฯ
“แคนดิเดตที่เหมาะสมจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งนั้น พวกเขาไม่ใช่แค่สามารถสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานทำตามคำสั่งได้เท่านั้น แต่พวกเขาต้องเก่งในการสร้างความไว้วางใจกับผู้คนรอบข้างด้วย ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องอาศัยทักษะ Self-awareness หรือความตระหนักรู้ในตนเองในระดับหนึ่ง จึงจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้” อดีต CEO บอกเพิ่มเติม และอาจพูดได้ว่าทักษะ Self-awareness คือคุณลักษณะอันดับหนึ่ง ที่เจ้านายมองหาในตัวพนักงานเพื่อการพิจารณาโปรโมทตำแหน่งให้
ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง “True North: Emerging Leader Edition” ที่ บิล จอร์จ เขียนและถูกตีพิมพ์ในปี 2022 เขาสะท้อนแง่มุมต่อเรื่องนี้ไว้ว่า บางครั้งวัยทำงานก็มุ่งมั่นทำงานหลายๆ ปี โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เพราะพวกเขามัวแต่จดจ่ออยู่กับการพยายามสร้างความประทับใจให้คนอื่นมากจนปล่อยให้โลกหล่อหลอมพวกเขา แทนที่จะหล่อหลอมตัวเองให้เป็นผู้นำแบบที่พวกเขาอยากเป็น
“ยิ่งคุณมีสติ และมีการตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้นเท่าใด ความเป็นผู้นำของคุณก็จะจริงใจมากขึ้นเท่านั้น และคนอื่นก็จะอยากคบหากับคุณโดยธรรมชาติแบบไม่ต้องบังคับ” เขากล่าวเสริม
ทำไมการมีทักษะ “ตระหนักรู้ในตนเอง” จึงช่วยให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง?
ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “The importance of self-awareness in becoming better leaders” ชี้ว่า การมีทักษะ Self-awareness จะทำให้คนเรารู้จุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อรู้แล้วก็สามารถใช้จุดแข็งและจุดอ่อนเหล่านั้นในที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติทางภาวะอารมณ์และจิตใจ เช่น ความฉลาดทางอารมณ์, ความสามารถในการปรับตัว และมีทัศนคติที่ดี ล้วนมีความสำคัญ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในการทำงานได้ดี และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนให้กับทีมของคุณได้
ทั้งนี้ วัยทำงานทุกคนสามารถเริ่มปลูกฝังและฝึกฝนทักษะความตระหนักรู้ในตนเองได้ โดย จูเลียตต์ ฮัน (Juliette Han) นักประสาทวิทยาที่ผ่านการฝึกอบรมจากฮาร์วาร์ด แนะนำให้ทำด้วยการออกกำลังกายทางจิตใจสามส่วน ได้แก่
1. พิจารณาความสนใจและทักษะของคุณ
เพื่อให้คุณสามารถระบุจุดแข็งและความรับผิดชอบในงานที่คุณต้องการได้อย่างเฉพาะเจาะจง ให้ลองสำรวจตัวเองว่าคุณเก่งด้านใด คุณชอบทำอะไร
2. ขอคำติชมจากผู้จัดการและเพื่อนร่วมงานของคุณ
การที่พวกเขาอธิบายถึงตัวคุณและงานของคุณ จะช่วยให้คุณเรียนรู้มากขึ้นว่าคนอื่นมองคุณอย่างไร ได้เรียนรู้มุมมองจากภายนอก ไม่ใช่แค่ภายในจากตนเองเท่านั้น
3. ใช้คำตอบข้างต้นเพื่อค้นหาทักษะที่คุณต้องการฝึกฝนมากขึ้น
คุณอาจมีทักษะทางเทคนิคและทักษะอื่นๆ ที่มีเสน่ห์มากกว่าคนอื่นในโลก แต่ถ้าคุณไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน เก่งอะไร ไม่รู้ว่าต้องโต้ตอบกับโลกอย่างไร ทักษะที่มีอยู่”เหล่านั้นอาจสูญเปล่า
คุณอาจพบว่าการให้คำแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ไม่ใช่จุดแข็งของคุณเลย นั่นไม่ใช่เรื่องผิด ซึ่งมันจะผลักดันให้คุณใช้ทักษะความเป็นผู้นำอื่นๆ ได้ เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การตัดสินใจ หรือการแก้ไขข้อขัดแย้ง เพื่อเป็นแคนดิเดตที่เหมาะสมกับการเลื่อนตำแหน่ง
“ทั้งนี้ การเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง การโต้ตอบกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานได้ดีมีประสิทธิภาพ และการสร้างมิตรภาพที่ลึกซึ้งในที่ทำงาน จำเป็นต่อความสำเร็จอย่างแท้จริง” จูเลียตต์ ฮัน ย้ำ
ฮาวทูการ “ขอเลื่อนตำแหน่ง” เมื่อถึงระยะเวลาอันเหมาะสม
วัยทำงานที่ทำงานมานานหลายปีจนมีความเชี่ยวชาญในเนื้องานของตน อาจรู้สึกว่าตนเองพร้อมแล้ว และสมควรได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่บางครั้งมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะมักมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาขัดขวางกรเติบโตก้าวหน้าในอาชีพการงาน เช่น งบประมาณของบริษัท หรือเจ้านายอาจไม่รู้เลยว่าคุณพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น
มีคำแนะนำจาก เด็บบี้ โซ (Debby Soo) ซีอีโอบริษัท OpenTable (แพลตฟอร์มให้บริการจองร้านอาหาร) ถึงพนักงานระดับปฏิบัติการในการขอโปรโมทตำแหน่ง โดยเธอบอกว่าให้ลองคุยกับผู้จัดการหรือหัวหน้างานของคุณ พร้อมแสดงจุดยืนว่ามีความพร้อมในการปรับตำแหน่งงาน หากหัวหน้าปฏิเสธ ให้ถามไปตรงๆ ว่าทำไม และโต้แย้งกลับด้วยเหตุผลที่หนักแน่นขึ้น หรือสร้างแผนงานมาเสนอหัวหน้า เพื่อตอบสนองความคาดหวังของพวกเขา
“อย่าปล่อยให้คำว่า ‘ไม่’ ของหัวหน้าตัดจบบทสนทนาไปอย่างง่ายๆ เพราะบ่อยครั้งคำว่า ไม่ ของพวกเขาก็ไม่ใช่คำปฏิเสธตรงๆ แต่หมายถึง ‘ยังไม่ใช่ตอนนี้’ หรือ ‘ไม่ แต่ถ้าปรับเป็นแบบนี้ล่ะจะเป็นไง’ ” ซีอีโอ OpenTable อธิบาย
เธอบอกอีกว่า หากคุณทำงานเพื่อตอบสนองความคาดหวังของบริษัทอย่างเต็มที่แล้ว และได้ลองเอ่ยถามเจ้านายเกี่ยวกับการขอเลื่อนตำแหน่งอีกครั้งแล้ว แต่พวกเขาก็ยังดูเหมือนจะไม่เข้าใจหรือไม่ชื่นชมในสิ่งที่คุณนำเสนอ นั่นก็อาจถึงเวลาต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่อื่น