ขอเงินเดือนเยอะๆ Gen Z ยอมทำงานหนัก ไม่สนความยืดหยุ่น อยากรวยกว่ารุ่นพ่อแม่
งานหนักไม่ว่า แต่ขอเงินเดือนเยอะๆ ด้วย ผลสำรวจใหม่เผย Gen Z มองความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นเรื่องรอง พวกเขาอยากรวยกว่ารุ่นพ่อแม่ อยากใช้ชีวิตเต็มที่ ไม่ได้ทำงานหนักเพื่อมีชีวิตธรรมดาๆ
ที่ผ่านมาวัยทำงานเจนเนอเรชันก่อนๆ บางคน อาจมองน้องใหม่อย่าง Gen Z ว่า เป็นคนรุ่นขี้เกียจ เปราะบาง ไม่อดทน แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ขี้เกียจ หากเป็นงานที่มีคุณค่า มีความหมาย และมี “ค่าตอบแทน” สมน้ำสมเนื้อพวกเขาก็พร้อมสู้! แม้จะต้องทำงานหนักก็ไม่ว่า แต่ขอเงินเดือนเยอะๆ ด้วย
เหตุที่ชาว Gen Z ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเดือนสูงๆ มาก่อนการทำงานที่ยืดหยุ่น เนื่องจากชาว Gen Z เป็นประชากรรุ่นที่เติบโตมาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายพุ่งสูง ทำให้พวกเขามีมุมมองต่อการทำงานอย่างน่าประหลาดใจ
ลืมภาพจำเดิมๆ อย่างการเรียกร้องความยืดหยุ่นในการทำงาน หรือ การให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสังคมมากกว่าเงินเดือนไปได้เลย เพราะเมื่อถึงคราวที่ Gen Z ต้องตัดสินใจเลือกจริงๆ ในสิ่งที่ต้องการที่สุดจากการทำงาน เหนือสิ่งอื่นใด..พวกเขาอยากจะ “หารายได้ให้ได้มากกว่ารุ่นพ่อแม่”
เป้าหมายหลักในอาชีพของ Gen Z คือ การหาเงินให้ได้เยอะๆ
ผลการสำรวจใหม่จาก EduBirdie แพลตฟอร์มผู้ให้บริการเขียนเรียงความระดับมืออาชีพและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ได้ทำการสำรวจกลุ่มคนรุ่น Gen Z จำนวน 2,000 คน พบว่า แม้ว่าความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานและความเพลิดเพลินในงานจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของชาวเจนซี แต่ “เงินยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด”
ผู้ตอบแบบสอบถามชาว Gen Z ถึง 31% รายงานว่าเป้าหมายหลักในอาชีพของพวกเขาคือ การหาเงินจำนวนมาก เปรียบเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเพียง 12% เท่านั้นที่ระบุว่ามุ่งเน้นที่การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
สิ่งนี้สอดคล้องกับความเห็นของผู้ใช้งานสื่อโซเชียล Reddit คนหนึ่งที่ออกมาโพสต์ข้อความว่า “คนรุ่นก่อนๆ ควรตระหนักว่า Gen Z จะไม่ทำงานหนักเพื่อชีวิตธรรมดาๆ ฉันเบื่อพวกเบบี้บูมเมอร์ที่บอกให้ Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลยอมรับการใช้ชีวิตธรรมดาๆ เพียงเพราะเรายังหาเงินได้ไม่มาก (ค่าจ้างปานกลางอยู่ที่ประมาณ 60,000 ดอลลาร์ต่อปีหรือประมาณ 2.18 ล้านบาทต่อปี) โดยการบอกว่าให้ใช้ชีวิตประหยัด แชร์ค่าห้องกับรูมเมท ไม่กินข้าวนอกบ้าน ไม่ออกไปดื่ม ไม่ไปเที่ยวพักผ่อน”
ผู้ใช้ Reddit รายนี้บอกอีกว่า “Gen Z ไม่ควรต้องดิ้นรนเพียงเพราะคนรุ่นเก่าเคยต้องดิ้นรนในยุคก่อน แต่เราต้องการได้ทุกอย่างที่อยากได้ ใช้ชีวิตให้เต็มที่ในตอนนี้เลย” และมองว่าค่าจ้างปานกลางที่ประมาณ 60,000 ดอลลาร์ต่อปีหรือต่ำกว่านั้น ไม่เพียงพอต่อมาตรฐานการครองชีพที่ดี
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่น Gen Z มีมุมมองว่า พวกเขาไม่ต้องการเสียสละความสุขในการใช้ชีวิต หรือยอมใช้ชีวิตแบบจำกัด แม้ต้องทำงานหนักขึ้นก็ยอม เพื่อให้มีเงินไปใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ
Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจ แถมยังมีแรงจูงใจในการทำงานสูงมาก
แม้ว่าคนรุ่น Gen Z จะมีชื่อเสียงว่าเป็นคนขี้เกียจตามมุมมองของคนรุ่นก่อนๆ แต่จากข้อมูลของ EduBirdie แสดงให้เห็นว่าคนรุ่น Gen Z มีแรงจูงใจในการทำงานสูงมาก พวกเขามีเป้าหมายปลายทางที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ พวกเขาเต็มใจที่จะทำงานหนัก แต่ไม่ใช่เพื่อใช้ชีวิตแบบธรรมดาๆ
สำหรับบริษัทต่างๆ ที่กำลังดิ้นรนเพื่อโน้มน้าวใจให้พนักงาน Gen Z กลับมาทำงานออฟฟิศ การเพิ่มค่าตอบแทนอาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด Gen Z แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาจะยอมเสียสละและประนีประนอม หากได้รับข้อเสนอเงินเดือนจำนวนมากขึ้น
หากนายจ้างต้องการความสามารถและผลงานของคนรุ่น Gen Z บริษัทอาจต้องคิดทบทวนตัวเลขเงินเดือนและโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพการงานให้แก่วัยทำงานคนรุ่นใหม่ คนรุ่นนี้จะไม่ถูกดึงดูดกลับเข้าสู่ชีวิตในออฟฟิศด้วยมาตรการครึ่งๆ กลางๆ หรือค่าจ้างปานกลาง พวกเขาจำเป็นต้องมองเห็นเส้นทางสู่ความฝันของพวกเขา ซึ่งก็คือ “ความมั่งคั่งและความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน”
Gen Z โตมาในเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน พวกเขาจึงต้องการเงินเดือนสูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ
เมื่อพูดถึงความฝันของชาว Gen Z ในรายงานระบุไว้ด้วยว่า ไม่ใช่ว่าคนรุ่น Gen Z จะไม่ทะเยอทะยาน พวกเขามีความฝันทางการเงินที่ยิ่งใหญ่ เช่น การได้มีบ้านเป็นของตัวเอง การที่สามารถชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ และบรรลุอิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงจากครอบครัว แต่เนื่องจากเติบโตมาในเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและเกิดวิกฤติขึ้นหลายครั้ง คนรุ่น Gen Z จึงเข้าใจดีว่าการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าที่คนรุ่นก่อนๆ ต้องการ
เซเนีย ฮับสกา (Ksenia Hubska) หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของ EduBirdie บอกกับนิตยสาร Fortune ว่า วิธีการทำงานและการใช้ชีวิตของคนรุ่น Gen Z สะท้อนถึงความฝันแบบอเมริกันในยุคใหม่ พวกเขาให้ความสำคัญกับความสุขมากกว่าเงิน ให้ความสำคัญกับครอบครัว และมุ่งหวังอนาคตที่มั่นคง โดยพื้นฐานแล้ว คนรุ่น Gen Z ต้องการมีชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แต่ไม่จำเป็นต้องยอมรับมาตรฐานการใช้ชีวิตแบบพอประมาณหรือ “ปานกลาง” เพื่อไปให้ถึงฝันนั้น
นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ EduBirdie ยังแสดงให้เห็นอีกว่าคนรุ่นนี้เต็มใจที่จะเสียสละอย่างมาก เพื่อให้ได้เงินเดือนมากขึ้น โดย 41% จะเลิกทำงานจากระยะไกลเพื่อขอขึ้นเงินเดือน, 37% จะละทิ้งงานอดิเรกและงานเสริมเพื่อหันมาทำงานหลักมากขึ้น และ 31% จะพบปะเพื่อนน้อยลง
63% ของ Gen Z ที่โตมาในบ้านที่ไม่ร่ำรวย พวกเขามุ่งมั่นที่จะร่ำรวยกว่าพ่อแม่ให้ได้
แม้ว่าความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานจะเป็นแรงผลักดันหลักในการทำงานของคนรุ่นมิลเลนเรียล แต่ดูเหมือนว่าคนรุ่น Gen Z จะมีความคิดที่แตกต่างออกไป ผลการศึกษาของ EduBirdie แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเห็นว่าการสร้างรายได้สูงสุดเป็นกุญแจสำคัญในการใช้ชีวิต และยังเป็นหนทางที่จะมุ่งไปสู่การดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น ดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น และสามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ด้วย
แรงผลักดันนี้อาจทำให้คนรุ่น Gen Z มีรายได้มากกว่าพ่อแม่ ซึ่งคนรุ่นมิลเลนเนียลอาจทำได้ยาก โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาว Gen Z กล่าวว่า ถึงแม้พ่อแม่ของพวกเขาจะไม่ร่ำรวย แต่พวกเขามุ่งมั่นที่จะร่ำรวย ขณะที่ 20% กล่าวว่าพ่อแม่ของพวกเขาร่ำรวยและพวกเขาต้องการที่จะมีสถานะเดียวกัน
ในทางกลับกัน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลมากกว่าครึ่งหนึ่ง คาดหวังว่าจะได้รับมรดกอย่างน้อย 350,000 เหรียญสหรัฐจากพ่อแม่ที่เป็นคนรุ่นเบบูมเมอร์ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาไม่มั่นใจในการหารายได้ให้เท่ากับพ่อแม่ของตน