Gen Z พูดจาสบายๆ เกินไปในที่ทำงาน บริษัทมองว่า 'ไม่เป็นมืออาชีพ'
คำพูดสบายๆ ในที่ทำงานของ Gen Z อาจเป็นปัญหา เมื่อบริษัทบางแห่งในลอนดอนมองว่า ‘ไม่เป็นมืออาชีพ’ จนเกิดกรณีไล่พนักงานออก
KEY
POINTS
- การปรับตัวให้เข้ากับองค์กรที่มีความเป็นทางการมากๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าคุณไม่อยากถูกไล่ออก เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดกรณี Gen Z ถูกไล่ออกเพราะใช้คำพูดที่สบายๆ เกินไปในที่ทำงาน
- Gen Z เกิดความตึงเครียดในที่ทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรใหญ่ๆ ที่อยู่มายาวนาน พวกเขาเผชิญกับความท้าทายในการกำหนดอัตลักษณ์ทางวิชาชีพ ไม่รู้ว่าตนเองควรพูด วางตัว และประพฤติตนอย่างไรให้ตรงกับมาตรฐานองค์กร
- อย่างไรก็ตาม ควรมีพื้นที่ตรงกลางให้คนทำงานทุกเจนเนอเรชันอยู่ร่วมกันได้ เพียงถอยคนละก้าวแล้วยอมรับการสื่อสารทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ไม่ใช่ทุกบริษัทจะให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงาน หากบังเอิญได้เข้าทำงานกับบริษัทที่มีความเป็นทางการมากๆ เคร่งครัดกับภาพลักษณ์ขององค์กรขั้นสุด การปรับตัวให้เข้ากับองค์กรอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าไม่อยากถูกไล่ออก ยกตัวอย่างตามรายงานของสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ที่เล่าถึงพนักงาน Gen Z คนหนึ่ง ที่ได้เข้าทำงานกับบริษัทชื่อดังในลอนดอน แต่ไม่กี่เดือนก็ถูกไล่ออก ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอที่พูดจาสบายๆ เกินไป ทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ ไม่น่าเชื่อถือ
โดยพนักงานสาววัย 20 กว่าๆ รายนี้ ได้เข้าร่วมงานกับบริษัทด้านกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในลอนดอนทันที หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปี 2022 เธอเป็นเด็กเรียนดีมีคะแนนสูงสุดของชั้นเรียน เมื่อเข้ามาทำงานที่นี่เธอเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในทีมโดยห่างจากคนอื่นถึง 10 ปี
เธอกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน คำติชมจากพวกรุ่นพี่ส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก แต่มีปัญหาอยู่ประเด็นหนึ่งคือ เจ้านายของเธอบอกว่าการใช้ภาษาและท่าทางที่ไม่เป็นทางการของเธอมันดูเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ แต่เธอก็ไม่สนใจคำเตือนนั้น เพราะมองว่าตนเองสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้ การเป็นคนมีบุคลิกดีนั้นย่อมดีกว่าการเป็นคนเคร่งขรึม อีกทั้งเธอทำผลงานได้ดีเสมอมาและคิดว่าแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว เธอจึงไม่เปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวใดๆ
อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าทำงานได้ 4 เดือน เธอกลับถูกไล่ออก หัวหน้างานของเธออ้างว่า “เธอขาดความเป็นมืออาชีพ” ใช้คำพูดฟุ่มเฟือยเยิ่นเย้อบ่อยครั้ง เธอดูไม่เหมือนคนฉลาดที่ควรทำงานในกองทุนป้องกันความเสี่ยงชั้นนำ และบอกอีกว่าพฤติกรรมของเธอไม่เข้ากับภาพลักษณ์ของบริษัท
Gen Z เครียดในที่ทำงานมากขึ้น เมื่อบริษัทบางแห่งเน้นความเป็นทางการ ทั้งภาษาพูด ท่าทาง บุคลิกภาพ
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ กรณีที่เกิดความขัดแย้งของคนต่างเจนเนอเรชันในที่ทำงาน คนรุ่นเก่ามักจะดูถูกคนรุ่นใหม่โดยมักจะบอกว่าคนรุ่นใหม่อ่อนแอ ไม่จริงจัง เตรียมตัวในการทำงานไม่ดี ยิ่งในทุกวันนี้ความขัดแย้งนั้นก็ขยายไปถึงมิติอื่นๆ ด้วย เช่นกรณีของการใช้ภาษาในการทำงานของ Gen Z
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในโลกการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มความตึงเครียดให้วัยทำงานรุ่น Gen Z มากขึ้น พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายในการกำหนดอัตลักษณ์ทางวิชาชีพของตนเอง การค้นหาว่าตนเองควรพูด วางตัว และประพฤติตนอย่างไร ถึงจะตรงกับมาตรฐานมารยาทขององค์กร ในขณะท่ีคนรุ่นโตกว่าก็ยึดติดกับวัฒนธรรมและกฎระเบียบการทำงานแบบเก่าอย่างเคร่งครัด
คริสโตเฟอร์ จี. ไมเยอร์ส (Christopher G Myers) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Johns Hopkins Carey Business School สหรัฐอเมริกา และนักวิชาการของ Academy of Management อธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยีใหม่และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปคนรุ่นใหม่ต้องการให้ตัวตนและงานของตนเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น พวกเขาไม่อยากเสแสร้งหรือสร้างบุคลิกปลอมๆ ในที่ทำงาน พวกเขาต้องการเป็นธรรมชาติ พวกเขาต้องการเป็นตัวของตัวเอง
ในทำนองเดียวกัน มิเชล เออร์เรนริช (Michelle Ehrenreich) ผู้อำนวยการโปรแกรมการสื่อสารที่ Questrom School of Business ของมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา เสริมว่า Gen Z มีแนวคิดว่าการที่ต้องยึดมั่นตามมาตรฐานของคนอื่นนั้น ดูไม่เป็นธรรมชาติ และขัดต่อค่านิยมเรื่องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง แต่แนวคิดนี้จะทำให้พวกเขาเกิดความตึงเครียดเมื่อเริ่มทำงานในสภาพแวดล้อมขององค์กรที่ต้องการคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับองค์กร
Gen Z ขาดคำศัพท์เฉพาะทางในเชิงวิชาชีพ พูดจาทางการไม่เป็น เพราะโตมากับสื่อโซเชียล
ผู้อำนวยการเออร์เรนริช บอกอีกว่า การที่ Gen Z นำทัศนคติที่ว่า "ต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง" มาใช้ในการทำงาน มันหมายถึงการต่อต้านขนบธรรมเนียมเก่าแก่ขององค์กรที่ยึดถือมายาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่นายจ้างส่วนใหญ่ต้องการ บริษัทส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้พนักงานแสดงตัวตนอย่างเปิดเผยในที่ทำงาน แต่ต้องการให้พนักงานพูดและประพฤติตนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กร
สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะสำหรับ Gen Z เด็กรุ่นใหม่มักขาดคำศัพท์เฉพาะทางในเชิงวิชาชีพ เนื่องจากการเติบโตมากับโซเชียลมีเดียทำให้คน Gen Z หลายคนไม่ค่อยได้รับรู้ถึงการสื่อสารอย่างเป็นทางการ “แคโรไลน์ กอยเดอร์” (Caroline Goyder) ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและการพูดในลอนดอน ผู้ฝึกอบรมให้แก่องค์กรต่างๆ อธิบายปรากฏการณ์นี้เพิ่มเติม
เธอบอกอีกว่า คนรุ่นก่อนๆ เติบโตมากับการดูหรือฟังผู้ประกาศข่าวกระแสหลักที่มีรูปแบบภาษาเป็นทางการมากกว่า แต่ประชากรรุ่น Gen Z พวกเขาเติบโตมากับผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่หลากหลาย จากข้อมูลของศูนย์วิจัย Pew ณ ปลายปี 2023 แสดงให้เห็นว่า 1ใน 3 ของผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี รับข่าวสารจาก TikTok เป็นประจำ
อินฟลูเอนเซอร์จากแพลตฟอร์มเหล่านั้นมักจะใช้ภาษาง่ายๆ ไม่เป็นทางการ โทนเสียงอบอุ่น เป็นมิตร เน้นการพูดที่มีชีวิตชีวา เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากสำนวนการพูดอย่างเป็นทางการของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เจเนอเรชันเอ็กซ์ และแม้แต่คนรุ่นมิลเลนเนียลในที่ทำงาน
การขาดการเชื่อมโยงกันก่อให้เกิดปัญหาสำหรับพนักงานที่อายุน้อยที่สุด แม้ว่ามาตรฐานการสื่อสารอาจแตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม ขนาดของบริษัท และบทบาทต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการเออร์เรนริช แสดงความเห็นว่า กฎเกณฑ์การประพฤติ และการปฏิบัติทางวิชาชีพแบบเดิมๆ บางประการ ยังคงมีความจำเป็นในหลายสถานการณ์ในการทำงานระดับองค์กร
รูปแบบการสื่อสารที่ไม่ดี อาจขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพ แต่คนทุกรุ่นควรปรับเข้าหากันได้
ข้อมูลบางส่วนแสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จในอาชีพการงานขึ้นอยู่กับการขัดเกลาบุคลิกภาพ การศึกษาวิจัยในปี 2018 ที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review แสดงให้เห็นว่า บุคลิกของผู้บริหารที่อ่อนแอและรูปแบบการสื่อสารที่ไม่ดีเป็นสองปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่สามารถขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ แม้ว่าโลกการทำงานจะเปลี่ยนไปแล้วในปี 2024 แต่ผู้อำนวยการเออร์เรนริชเชื่อว่า ข้อมูลผลวิจัยดังกล่าวยังคงเป็นจริงกับการทำงานในยุคปัจจุบัน
ยืนยันจากการที่เธอได้ทำงานร่วมกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยบอสตัน เพื่อผลักดันให้พวกเขาประสบความสำเร็จในที่ทำงาน ผ่านการช่วยปรับปรุงทักษะการสื่อสารของพวกเขา โดยเน้นที่น้ำเสียง ขจัดคำเชื่อม และปรับปรุงการสบตา ท่าทาง และภาษากาย
เป็นเรื่องจริงที่ว่า การพูดหรือท่าทางที่ไม่เป็นทางการในที่ทำงานนั้น สามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ แต่หากพนักงานถูกมองว่าสบายๆ มากเกินไป ก็อาจส่งผลตรงกันข้ามได้ อย่างไรก็ตาม การหาจุดตรงกลางจะดีที่สุด กล่าวคือ การทำงานในองค์กรเราต้องรู้จักสร้างสมดุลระหว่างความเป็นทางการกับความเป็นกันเอง เพื่อให้วัยทำงานได้รับประโยชน์จากทั้งสองสถานการณ์
ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติการอยากเป็นตัวของตัวเองของ Gen Z หรือการยึดกรอบระเบียบความเป็นทางการของคนรุ่นก่อนๆ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่มีฝ่ายใดถูกต้องไปเสียหมด เรื่องนี้ไม่ได้แยกขาดจากกันได้ขนาดนั้น แต่มันมีพื้นที่ตรงกลางให้คนทำงานทุกเจนเนอเรชันอยู่ร่วมกันได้ เพียงถอยคนละก้าวแล้วยอมรับการสื่อสารทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
หากมองในระยะยาว เมื่อคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจนเอ็กซ์ค่อยๆ เกษียณออกไป ตำแหน่งผู้นำองค์กรรุ่นต่อไปก็คือชาว Gen Z ซึ่งแน่นอนว่า “ความเป็นกันเอง” อาจแพร่หลายไปทั่วทุกสถานที่ทำงาน แต่ในห้วงเวลานี้ที่เราต้องทำงานร่วมกันหลายเจนก็คงต้องปรับตัวเข้าหากันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด