ก้มหน้าทำไปไม่ต้องสนุกก็ได้! Gen Y ไม่มีความสุขในการทำงานมากที่สุด
ก้มหน้าก้มตาทำงานไป ขอเงินเยอะๆ ไว้ก่อน ไม่ต้องมีความสุขก็ได้! Gen Y เป็นรุ่นที่หมดหวังเรื่องความสุขในการทำงานมากที่สุด ถัดมาคือชาว Gen Z รุ่นแรกๆ ที่อยากทำงานที่ได้เงินเดือนเยอะๆ ไว้ก่อน
KEY
POINTS
- คนรุ่นมิลเลนเนียล หรือ Gen Y มากถึง 75% ไม่ใส่ใจอีกต่อไปแล้วว่างานที่ทำอยู่จะให้ความสุขหรือไม่ เน้นทำงานเพื่อเงิน ภาระค่าใช้จ่ายสูงทำให้ต้องก้มหน้าทำงานไปไม่ว่าจะมีความสุขหรือไม่
- คนรุ่นมิลเลนเนียลถึง 81% รู้สึกว่าพวกเขา "จน" เกินกว่าที่จะอนุญาตให้ตนเองเกิดวิกฤติวัยกลางคนแบบทั่วๆ ไป
- ความต้องการงานที่ยืดหยุ่นยังคงไม่หายไป เพียงแต่จะถูกจัดลำดับความสำคัญใหม่ Gen Y Gen Z เน้นความก้าวหน้าในอาชีพการงานจะมาก่อน ส่วนความสุขในการทำงานเป็นเรื่องรอง
วัยทำงานรุ่นมิลเลนเนียล หรือ Gen Y มีแนวโน้มที่จะทำงานเพื่อเงินมากกว่าความสนุก เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่กินเวลานานหลายปี บีบให้พวกเขาต้องก้มหน้าก้มตาทำงานที่ไม่มีความสุขต่อไป เน้นทำงานเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าในทุกๆ เดือนให้ได้ และต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเลื่อนตำแหน่ง จากผลสำรวจพบว่าพวกเขาเป็นรุ่นที่หมดหวังจะมีความสุขในการทำงานในแต่ละวันมากที่สุด
ยืนยันจากรายงานของ People at Work ซึ่งจัดทำโดยบริษัท ADP ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเงินเดือน พบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลในกลุ่มอายุ 24-34 ปี เพียง 25% เท่านั้น ที่ให้ความสำคัญกับความสุขในการทำงานในแต่ละวัน แปลว่าที่เหลือมากถึง 75% ของคนรุ่นนี้ ไม่ใส่ใจว่างานที่ทำอยู่จะให้ความสุขหรือไม่ เมื่อเทียบกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป มากถึง 45% ที่ใส่ใจความสุขในงานที่ทำ
Gen Y ให้ความสำคัญกับ “เงินเดือน” มากกว่าความสุขในงาน ไม่สนใจความสุขในที่ทำงานอีกต่อไป
ในทางกลับกัน คนทำงานชาว Gen Y มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับ “เงินเดือน” มากกว่า โดย 56% ให้ความสำคัญกับเงินเดือน และพวกเขายังให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในอาชีพมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ
ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลเผชิญกับการทำงานหนักโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนมาเป็นเวลานาน จนทำให้พวกเขาแยกตัวเองออกจากเป้าหมาย “การมีความสุขในที่ทำงาน” หมายความว่า พวกเขาไม่ใส่เรื่องความสุขในการทำงานอีกต่อไป ลดความสำคัญของความสุขลง และทำงานด้วยความรู้สึกยอมฝืนทนทำไปในทุกๆ วัน ตลอดเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าไม่มีความสุขแล้วทนฝืนทำไปทำไม? หรือ ทำไมไม่ลาออกหางานใหม่? ก่อนอื่น..อย่าลืมว่าบางครั้งชีวิตก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ไม่ออก ออกแล้วจะเอาอะไรกิน! เหตุผลที่ Gen Y ยอมฝืนทนทำงานโดยไม่มีความสุขส่วนหนึ่งมาจากวิกฤติทางการเงิน
เหตุผลที่ทำให้พวกเขายอมใช้ชีวิตการทำงานแบบนี้หลักๆ คือ มีภาระทางการเงินสูง สำหรับคนรุ่นมิลเลนเนียลตอนต้น (เป็นซีเนียร์อายุราวๆ 40+) พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน ตลาดงานที่มีการแข่งขันกันสูง ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น
ถ้าลาออกไปก็อาจจะหางานใหม่ที่เงินเดือนเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมไม่ได้ หรืออาจตกงานไปเลย อีกทั้งพวกเขายังมีภาระค่าใช้จ่ายรออยู่เพียบ ส่วนใหญ่คนรุ่นนี้ถือว่าเป็นรุ่นแซนวิชเจนเนอเรชันด้วย เพราะเป็นวัยกลางคนที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่ชราและลูกที่ยังเล็ก
ขณะเดียวกัน คนรุ่นมิลเลนเนียลตอนปลายที่อายุน้อยกว่านั้น (รวมไปถึงคนรุ่น Z รุ่นแรกๆ) ก็ต้องเผชิญกับความวุ่นวายจากโรคระบาด อัตราเงินเฟ้อที่สูงตามวัย และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่พวกเขาเพิ่งจะเริ่มต้นอาชีพการงาน ยังมีรายได้ไม่มากนัก หรือรายได้ยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่แพงขึ้น
ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น ส่งผลให้ตอนนี้ชาว Gen Y ยอมจำนนที่จะก้มหน้าก้มตาทำงานทั้งๆ ที่ไม่มีความสุขต่อไป และบางครั้งก็ทำงานด้วยชั่วโมงที่เข้มข้นมากขึ้นด้วย เพื่อแสวงหาความมั่นคงทางการเงิน
คนรุ่นมิลเลนเนียลไม่มีความมั่นคงทางการเงินมากพอที่จะหาความสุขให้ตนเอง
ไม่เพียงเท่านั้น งานวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาถึง “วิธีที่คนหนุ่มสาวค้นพบความหมายในชีวิต” ท่ามกลางภาวะไม่มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอที่จะลาพักร้อน ซื้อรถยนต์ หรือเผชิญกับอุปสรรคด้านความรู้สึกในช่วงวิกฤติวัยกลางคน (เช่น รู้สึกเหนื่อยหน่าย เบิร์นเอาท์ รู้สึกไม่มีค่าพอ รู้สึกไม่เก่งเท่าคนรุ่นใหม่ ฯลฯ)
โดยผลสำรวจจาก Thriving Center of Psychology พบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลถึง 81% รู้สึกว่าพวกเขาจนเกินกว่าที่จะอนุญาตให้ตนเองเกิดวิกฤติวัยกลางคนแบบทั่วๆ ไป เช่น เกิดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือมีงานอดิเรกแปลกๆ
สตีเฟน ฟลอยด์ (Steven Floyd) เจ้าของบริษัท SF Psychotherapy Services บอกกับ นิตยสาร Fortune ว่า วิกฤติวัยกลางคนสำหรับคนรุ่นมิลเลนเนียลเป็น ‘วิกฤติของเป้าหมายและการมีส่วนร่วมในงาน’ มากกว่า พวกเขาเป็นคนรุ่นที่ได้รับการสนับสนุนให้ทำงานหนักเพื่อมุ่งสู่ดวงดาว พวกเขาทำงานและเติบโตในอาชีพมาถึงจุดหนึ่งแล้วมักจะสงสัยว่า ฉันพอใจกับมันแล้วหรือยัง? ฉันสนใจงานที่ทำอยู่จริงๆ หรือเปล่า?
การสำรวจของ ADP ยังเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก โดยชี้ให้เห็นว่า สถานที่ทำงานส่งผลต่อการรับรู้ของพนักงานเกี่ยวกับความมั่นคงในงานของพวกเขา
Gen Z เองก็ลำบาก! เริ่มลดความสำคัญความยืดหยุ่นในงาน เน้นหาเงินเยอะๆ อยากก้าวหน้ากว่านี้
ไม่ใช่แค่กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลเท่านั้น ที่มีแนวโน้มละทิ้งความสุขเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ขณะที่คนทำงานรุ่น Gen Z ที่อายุน้อยกว่าก็เริ่มเผชิญสภาวะเดียวกัน Gen Z บางส่วนเริ่มใส่ใจกับความยืดหยุ่นในการทำงานน้อยลง
ดร.เนลา ริชาร์ดสัน (Nela Richardson) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADP บอกว่า ความต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นจะยังคงไม่หายไป เพียงแค่จะถูกจัดลำดับความสำคัญใหม่พร้อมๆ กับคุณลักษณะงานอื่นๆ ที่พนักงานให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ความก้าวหน้าในอาชีพการงานจะมาก่อน ส่วนความสุขในการทำงานเป็นเรื่องรอง
ในขณะเดียวกัน พนักงานที่ทำงานทางไกลก็มีความวิตกกังวลในระดับที่เห็นได้ชัด โดยมีแนวโน้มที่จะรู้สึกไม่มั่นใจในงานของตนเองมากกว่าพนักงานออฟฟิศที่ทำงานแบบผสมผสานหรือทำงานเต็มเวลาถึง 1.3 เท่า นอกจากนี้ พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะคิดว่าเจ้านายคอยติดตามพวกเขาอยู่ด้วย
จากความกังวลต่างๆ ข้างต้น จึงทำให้เห็นฉากทัศน์โลกการทำงานของคนรุ่น Gen Y (และ Gen Z บางส่วน) ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า คนรุ่นนี้ยอมทำงานแบบไม่มีความสุขต่อไปเพื่อหาเงินให้ได้ทุกเดือน พยายามที่จะก้าวหน้าในอาชีพเพื่อรายได้ที่มากขึ้น โดยลดความสำคัญของความยืดหยุ่นในงาน ไม่สนวิกฤติวัยกลางคน ตัวเองจะเฉาตายก็ไม่เป็นไรขอแค่ให้มีงานและมีเงินมาเลี้ยงชีพและครอบครัว