‘กรีซ’ นำร่องทำงาน 6 วัน/สัปดาห์! หวังดันเศรษฐกิจ แต่ถูกวิจารณ์ยับ

‘กรีซ’ นำร่องทำงาน 6 วัน/สัปดาห์! หวังดันเศรษฐกิจ แต่ถูกวิจารณ์ยับ

‘กรีซ’ ริเริ่ม ‘นโยบายทำงาน 6 วัน/สัปดาห์’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘ก้าวถอยหลังครั้งใหญ่’ เพราะกรีซมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานที่สุดในอียูอยู่แล้ว

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า “กรีซ” กลายเป็นชาติแรกในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ริเริ่มนโยบาย "สัปดาห์การทำงาน 6 วัน" โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เพื่อมุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ นโยบายนี้สวนทางกับกระแสทั่วโลกที่หลายบริษัทกำลังมุ่งเน้นไปที่การลดชั่วโมงการทำงานลง

ตามกฎหมายแรงงานใหม่ล่าสุด พนักงานของบริษัทเอกชนที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จะมี 2 ทางเลือก ได้แก่ 1. ทำงานเพิ่ม โดยเลือกทำงานล่วงเวลา 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 2.ลงกะยาวพิเศษ 8 ชั่วโมง

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้สัปดาห์การทำงานแบบเดิมที่ 40 ชั่วโมง อาจขยายเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับบางประเภทธุรกิจ ยกเว้นอุตสาหกรรมบริการอาหารและการท่องเที่ยว ยังคงทำงานอยู่ที่ 5 วันต่อสัปดาห์เหมือนเดิม

คิเรียกอส มิตโซตากิส นายกรัฐมนตรีกรีซ ได้กล่าวว่ามาตรการนี้เป็นทั้ง “เป็นมิตรกับแรงงาน” และ “มุ่งเน้นการเติบโตอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนพนักงานที่ไม่ได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอสำหรับการทำงานล่วงเวลา และเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจ้างงานนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานและผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่อเรื่องนี้อย่างรุนแรง โดย จอร์จอส แคตแซมเบคิส อาจารย์ด้านวิชาการเมืองยุโรปและระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Loughborough ในสหราชอาณาจักรมองว่าเป็น “ก้าวถอยหลังครั้งใหญ่” ที่รัฐบาลกรีซออกกฎหมายแรงงานนี้ ทั้งที่แรงงานกรีซทำงานนานที่สุดในสหภาพยุโรปอยู่แล้ว

ข้อมูลจากองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ว่า พนักงานชาวกรีซทำงานมากกว่าพนักงานในสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ โดยพนักงานชาวกรีกทำงานเฉลี่ย 1,886 ชั่วโมงในปี 2022 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของสหรัฐที่ 1,811 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 1,571 ชั่วโมง

"ชาวกรีกทำงานเป็นเวลายาวที่สุดในยุโรปอยู่แล้ว ตอนนี้ พวกเขาอาจจะถูกบังคับให้ทำงานเป็นวันที่หก หลังจากรัฐบาลกรีซตัดสินใจเรื่องนี้" จอห์น โอเบรนแนน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของสหภาพยุโรปจากมหาวิทยาลัย Maynooth ประเทศไอร์แลนด์กล่าว

โอเบรนแนน เสริมว่า "ช่าวไร้สาระอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนไปใช้สัปดาห์ละ 4 วันทำงานในประเทศที่เจริญแล้ว" ซึ่งรายงานที่เผยแพร่โดยองค์กรวิจัยอิสระ Autonomy เมื่อต้นปีนี้พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการทดลองสัปดาห์การทำงาน 4 วัน ได้เปลี่ยนนโยบายนี้ให้เป็นแบบถาวร

รายงานระบุว่า ผู้จัดการโครงการและซีอีโอ ทุกคนของบริษัทที่เข้าร่วมการทดลองต่างเห็นพ้องกันว่า การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน ส่งผลดีต่อองค์กรของพวกเขา โดยกว่าครึ่งอธิบายผลลัพธ์ว่า "ดีมาก"

อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่าในบางบริษัท พนักงานมีความกังวลหรือไม่สบายใจเกี่ยวกับการได้วันหยุดเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองอย่างแน่นอนในบริษัทเหล่านั้น การได้วันหยุดเพิ่มเติมอาจจะไม่ได้รับการรับประกัน หรืออาจจะขึ้นอยู่กับการทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้พนักงานรู้สึกกังวล

อ้างอิง: cnbc