เปิดปมดราม่า 'อินเดีย' เสียงแตก! แนวคิด 'ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์'
ข้อเสนอให้ทำงาน “70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” เพื่อพาประเทศแข่งขันในเวทีโลกได้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงดุเดือดในอินเดีย พร้อมคำถามว่า การเพิ่มเวลาทำงานให้นานขึ้น จะทำให้ประเทศเจริญขึ้นได้จริง หรือทำให้พนักงานมีสภาพคล้ายแรงงานทาส มากกว่ากัน?
Key Points
- ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ในปัจจุบัน ชาวอินเดียทำงานโดยเฉลี่ย “47.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” ยาวนานกว่าจีนซึ่งอยู่ที่ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- สหภาพแรงงานอินเดีย ประณามความเห็นมูรติว่า การทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้นผิดกฎหมาย และลูกจ้างไม่ควรถูกบังคับให้ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร เสนอแนะว่า ควรให้พนักงานเลือกชั่วโมงการทำงานและสถานที่ได้ เพราะสองสิ่งนี้สำคัญต่อประสิทธิผลการทำงาน
“เด็กรุ่นใหม่ควรทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” นี่คือความเห็นของ เอ็น อาร์ นารายณ์ มูรติ (N. R. Narayana Murty) ผู้ก่อตั้ง Infosys บริษัทไอทีรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย ที่มองว่า “อินเดีย” มีผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเกินไป หากจะเอาชนะจีนได้ เด็กรุ่นใหม่ต้องกล้าพูดว่า “พวกเราพร้อมจะทำงานหนัก” ซึ่งความเห็นดังกล่าว ได้จุดกระแสความไม่พอใจในหมู่คนวัยทำงานรุ่นหนุ่มสาวทั้งในอินเดียและขยายไปสู่ประเทศไทยด้วย
สำหรับข้อเสนอเพิ่มชั่วโมงการทำงานชาวอินเดียของมูรติ หากนำมาคิดค่าเฉลี่ยตลอดทั้งสัปดาห์จะตกวันละ 10 ชั่วโมง ซึ่งเขามองว่าอาจช่วยให้ประเทศรุ่งเรือง และสามารถแข่งขันกับจีนและสหรัฐได้
ผู้บริหารองค์กรบางส่วนก็สนับสนุนแนวคิดของมหาเศรษฐีรายนี้ อย่าง อายุชมัน คาปูร์ (Ayushmaan Kapoor) ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ Xeno กล่าวเห็นพ้องกับมูรติว่า “ถ้าคุณต้องการเป็นที่ 1 เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด หนุ่มสาวจะต้องทำงานหนักและยาวนานหลายชั่วโมง”
“ขณะนี้ อินเดียกำลังแข่งขันกับจีนและสหรัฐ ถ้าต้องการไปสู่จุดยอดเยี่ยม การทำงานหลายชั่วโมงและเสียสละ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ” คาปูร์เสริม
อย่างไรก็ตาม ผู้คนบางส่วนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวอินเดียใช้เวลาทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ นานกว่าจีนและสหรัฐในปัจจุบันนั้น ถือเป็นระดับที่หนักเกินไปหรือไม่
- ชาวอินเดียทำงานหนักเพียงใด
จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ในปัจจุบัน ชาวอินเดียทำงานโดยเฉลี่ย “47.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” ซึ่งนานกว่าประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
เยอรมนี 34.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สหราชอาณาจักร 35.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สหรัฐ 36.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ญี่ปุ่น 36.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สิงคโปร์ 42.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
จีน 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
วิเวก มูดาเลียร์ (Vivek Mudaliar) ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์อันโชกโชนด้านฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในหลายบริษัทอย่าง Reliance Industries, DBS Bank และ HSBC มามากกว่า 20 ปี ให้ความเห็นว่า “ไม่น่าแปลกใจ เพราะชาวอินเดียจำนวนมากทำงาน 55-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่แล้ว
มูดาเลียร์ เสริมว่า “นี่เป็นเรื่องจริงของชาวอินเดีย โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับลูกค้าทั่วโลก และมีการคุยสาย นัดประชุมกันนอกเวลางาน” และยังมองว่า ความเห็นเชิงลบจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า “ทัวร์ลง” ใส่มูรตินั้น เป็นผลจากการที่เขาเอ่ยถึง 70 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่หากพูดว่า 60 ชั่วโมงแทน ก็อาจจะไม่โดนกระแสวิจารณ์หนักขนาดนี้
- เพื่อให้ประเทศเจริญ หรือ เพื่อผลประโยชน์บริษัท?
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า หลังจากความเห็นของมูรติปรากฏสู่สาธารณะ ก็เกิดกระแสถกเถียงเป็นวงกว้างในโลกโซเชียลมีเดีย และมีความคิดเห็นคัดค้านจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น
“ฉันไม่เต็มใจด้วยหรอกที่จะแลกความสำเร็จกับการต้องเสียสุขภาพจิต” ผู้ใช้รายหนึ่งในแอปพลิเคชัน X (ทวิตเตอร์) กล่าว
ขณะที่ผู้เล่นโซเชียลมีเดียอีกรายโพสต์เชิงประชดว่า “ทำไมจะไม่อยากทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ล่ะ จะได้ช่วยให้เศรษฐีอันน่ารังเกียจมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นไง”
ด้าน All India IT and ITeS Employees’ Union ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานอินเดีย ออกโรงประณามความคิดเห็นของมูรติว่า การทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้นผิดกฎหมาย และลูกจ้างไม่ควรถูกบังคับให้ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมไปถึงเมื่อระบบหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทจึงควรลดเวลาทำงานลง เพิ่มเวลาสร้างสรรค์และเวลาว่างให้พนักงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้ดีขึ้นได้
นอกจากนี้ สหภาพแรงงานอินเดียแสดงความเป็นห่วงว่า การทำงานเป็นเวลานาน จะกระทบต่อความปลอดภัยและความสามารถในการทำงาน โดยในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่าง ๆ การติดเชื้อแบบเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจิตขึ้นได้
- เสนอให้ทำงานอย่างยืดหยุ่น
ท่ามกลางกระแสเห็นด้วยและคัดค้านความเห็นของมูรติ ก็มีบางคนเสนอทางเลือกเสริมขึ้นมา อย่าง จันทรเศขร ศรีพาดา (Chandrasekhar Sripada) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรที่โรงเรียนธุรกิจเอกชน Indian School of Business เสนอแนะว่า ควรให้พนักงานเลือกชั่วโมงการทำงานและสถานที่ได้ เพราะสองสิ่งนี้สำคัญต่อประสิทธิผลการทำงาน
ศรีพาดากล่าวว่า ถึงแม้อินเดียทะเยอทะยานที่จะเอาชนะจีน และใฝ่ฝันมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแทนภายในปี 2618 แต่วัฒนธรรม 996 ของจีนที่หมายถึง เริ่มทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มตลอด 6 สัปดาห์ ไม่ควรนำมาใช้ เพราะจะทำให้คนในประเทศหมดไฟ โมเดลการทำงานที่หนักเกินไปเช่นนี้ อินเดียไม่ควรนำมาใช้เป็นแบบอย่าง
เขาย้ำอีกว่า การสร้างสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ได้เกิดจากการใช้แรงงานอย่างทาส แทนที่จะถกเถียงระยะเวลาการทำงาน ควรเปลี่ยนมาพุ่งเป้าที่การสร้างงานดีกว่า
นอกจากนี้ สหภาพแรงงานอินเดียมองว่า ข้อเรียกร้องให้ทำงานหนักขึ้นดังกล่าว ยังส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศสูงขึ้นตามไปด้วย ผู้หญิงทำงานหนักมากขึ้นกว่าผู้ชาย เพราะนอกจากงานนอกบ้านแล้ว ผู้หญิงยังมีงานเลี้ยงดูลูกอีก จนอาจทำให้ผู้หญิงออกจากองค์กรกลางคันได้ และส่งกระทบต่อบริษัทในท้ายที่สุด
จากมุมมองที่หลากหลายในประเด็น “ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” จะเห็นได้ว่า นอกจากมีฝ่ายสนับสนุนให้ทำงานหนัก เพื่อพาประเทศให้แข่งขันกับต่างชาติได้ และฝ่ายคัดค้านที่มองว่า งานที่หนักเกินไป กระทบต่อสุขภาพและทำให้หมดไฟได้ง่าย ก็มีอีกแนวคิดที่น่าสนใจคือ “การทำงานแบบยืดหยุ่น” ที่ช่วยตอบโจทย์เวลาที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคน และง่ายต่อการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ด้วย
อ้างอิง: cnbc