Gen X ออมเงินช้ากว่ารุ่นอื่น เสี่ยงแก่จน ส่วน Gen Y-Z เริ่มออมตั้งแต่ 20 ต้นๆ
ผลสำรวจ เผย Gen X เริ่มออมเงินช้ากว่าคนรุ่นอื่น ส่งผลให้เงินไม่พอใช้หลังเกษียณ เสี่ยง 'แก่แต่จน' ขณะที่ Gen Y-Z เริ่มออมเงินตั้งแต่ช่วงวัย 20 ต้นๆ ถ้าอยากเริ่มออมในวัย 40+ ยังทันไหม ควรเริ่มอย่างไร?
KEY
POINTS
- Gen X ในสหรัฐมองว่าพวกเขาจะต้องมีเงินเก็บเฉลี่ย 1.56 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 57,331,560 บาท) จึงจะสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้สบาย แต่ความเป็นจริงพวกเขามีเงินเก็บเฉลี่ยเพียง 5% ของจำนวนเงินคาดหวัง
- ขณะที่วัยทำงานคนไทย 30% พบว่าไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณเลย และ 60% มีเงินเก็บแต่มีไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งชัดเจนว่าไม่พอใช้
- เหตุที่ทำให้วัยกลางคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บเพียงพอเพื่อการเกษียณ เพราะวางแผนออมเงินช้า Gen X เฉลี่ยเริ่มออมเงินช่วงวัย 36 ปี แต่ขณะที่ Gen Y-Z เริ่มออมเงินตั้งแต่ช่วงวัย 20 ต้นๆ
หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” กันอย่างถ้วนหน้า ด้วยสภาพสังคมยุคใหม่ที่คนหนุ่มสาวไม่นิยมมีลูก ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง ในขณะที่คนสูงวัยกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพบว่ามีคนสูงวัยจำนวนมากแทบจะไม่มีเงินเก็บเลย หรือแม้จะมีบ้างแต่ก็ไม่พอใช้หลังเกษียณ เสี่ยงภาวะ “แก่แต่จน” ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการไม่ได้วางแผนการออมเงินตั้งแต่เนิ่นๆ
ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน มีรายงานจากสำนักข่าว CNBC ระบุว่า คนรุ่น Gen X หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1965 - 1980 ในสหรัฐ (อายุประมาณ 44-59 ปี ณ ปี 2024) ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุงานเป็นรุ่นถัดไป แต่คนกลุ่มนี้มีเงินออมไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองหลังเกษียณอายุ ตามรายงานใน Annual retirement study ประจำปี 2024 ของ Allianz Life Insurance
อีกทั้งจากการศึกษา Planning and Progress ประจำปี 2024 ของ Northwestern Mutual พบว่า คนรุ่น Gen X มองว่าพวกเขาจะต้องมีเงินเก็บเฉลี่ยประมาณ 1.56 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 57,331,560 บาท) จึงจะสามารถใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณอายุได้อย่างสุขสบาย แต่จากรายงานของ Fidelity Investments บริษัทดูแลกองทุนเพื่อการเกษียณฯ กลับพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล ยอดเงินเก็บสะสมของวัยทำงาน Gen X ในกองทุนเกษียณของสหรัฐอเมริกา หรือ 401(k) ณ ไตรมาสแรกของปี 2024 พบว่าพวกเขามียอดเงินเก็บสะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 54,500 ดอลลาร์เท่านั้น (ประมาณ 2,002,930 บาท) ซึ่งคิดเป็นเพียง 5% ของเงินเก็บที่คาดหวังข้างต้น
[*หมายเหตุ: คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินจากดอลลาร์เป็นบาทที่ 36.75 ณ วันที่ 1 ก.ค. 67]
ขณะที่ในประเทศไทยพบว่า วัยกลางคนและรุ่นใกล้เกษียณของบ้านเราก็เผชิญปัญหานี้ไม่ต่างกัน ข้อมูลจาก KKP Financial Talk: Money Master ได้เผยถึงรายงานผลสำรวจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า คนไทยวัยทำงาน 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณเลย และ 60% มีเงินเก็บแต่มีไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งชัดเจนว่าไม่พอใช้ ดังนั้น จำเป็นอย่างมากที่คนไทยจะต้องมีความรู้ด้านการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุมากขึ้น นอกจากวินัยทางการออมแล้ว การหาความรู้ให้เงินออมงอกเงยก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
ทำไมคนรุ่น Gen X มีอุปสรรคในการออมเงินวัยเกษียณ
อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ประชากรชาว Gen X ในสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถจัดสรรเงินสำหรับเกษียณได้มากขึ้น โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจาก Gen X หลายคนเริ่มเก็บออมช้ากว่าคนรุ่นใหม่ จากรายงาน State of Retirement Planning ของ Fidelity ปี 2024 ค้นพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนรุ่น Gen X เริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณอายุเฉลี่ยที่ 36 ปี ซึ่งเริ่มค่อนข้างช้า เทียบกับคนรุ่น Millennials (Gen Y) ที่เริ่มต้นการออมเงินเมื่ออายุ 27 ขณะที่ประชากรรุ่น Gen Z เริ่มเก็บออมเงินตั้งแต่อายุ 20 ปี ซึ่งพวกเขาเริ่มออมเร็วกว่ามาก
ทั้งนี้ อีกเหตุปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะวัยทำงานกลุ่ม Gen X ในสหรัฐ ในอดีตพวกเขาเลือกที่จะไม่สมัครแผนกองทุนการเกษียณอายุของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากบริษัทในยุคนั้นให้พนักงานเลือกเองแบบสมัครใจว่าจะหักเงินเข้ากองทุนทุกเดือนหรือไม่ ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่ถึง 60% เลือกที่จะไม่ทำ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ไม่มีเงินพอสำหรับเกษียณ
เทียบกับคนรุ่นถัดๆ มา บริษัทจะสมัครแผนกองทุนการเกษียณให้พนักงานโดยอัตโนมัติ (หักเงินจากเงินเดือนเข้ากองทุนฯ ให้อัตโนมัติ) จึงทำให้คนรุ่น Gen Y Gen Z มีเงินเก็บออมหลังเกษียณมากกว่าชาว Gen X
คนรุ่น Gen X (ช่วงวัย 40-50) อย่าเพิ่งท้อใจ ยังเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณได้
ข่าวดีคือยังไม่สายเกินไปสำหรับชาว Gen X ที่อยากจะเริ่มต้นการออมเพื่อการเกษียณอายุ แอนน์ เลสเตอร์ (Anne Lester) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษียณอายุ แนะนำว่า ให้เริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่อัตราการออมเพื่อการเกษียณ ตามหลักการทั่วไปมนุษย์เงินเดือนควรออมให้ได้ 15% ของรายได้แต่ละเดือน แต่ชาว Gen X ในวัยที่อายุมากขึ้น ทำให้มีเวลาเก็บออมเงินน้อยลง อาจต้องเพิ่มอัตราการออมเงินให้มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน
“ขึ้นอยู่กับว่าคุณตามหลังคนอื่นแค่ไหนและอายุเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือ คุณจะต้องประหยัดเงินมากขึ้น หากคุณอายุ 30 ปีปลายๆ และยังไม่ได้เริ่มต้น คุณอาจต้องเก็บเงินออม 15% ของเงินเดือนทุกเดือน แต่หากคุณอายุ 40 ปีขึ้นไปและไม่มีเงินออมเลย คุณอาจต้องเริ่มต้นเก็บเงินที่ 30% ของเงินเดือนทุกเดือน” เลสเตอร์กล่าว
เลสเตอร์บอกอีกว่า สิ่งที่ชาว Gen X ต้องทำอีกอย่างคือ บัญชีรายรับรายจ่าย แล้วดูว่าแต่ละเดือนมีเงินเหลือแค่ไหน พอจะลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนลงได้อีกบ้าง การทำสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารเงินเพื่อเก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณ ให้เริ่มลดมาตรฐานการครองชีพลง เพื่อที่จะมีออมเงินมากขึ้น และพยายามทำตัวให้ชินกับการมีเงินใช้จ่ายน้อยลง เพราะนั่นอาจเป็นชีวิตของคุณหลังเกษียณก็ได้
อีกทั้งชาว Gen X ช่วงวัย 40-50 ปี ยังสามารถสมัครกองทุนเงินออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม แล้วอาจเพิ่มเงินในกองทุนมากกว่ามาตรฐานขั้นต่ำทั่วไป เพื่อให้ยอดเงินออมมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเร็วก่อนจะเกษียณอายุ ท้ายที่สุดอาจพิจารณาเข้าปรึกษากับนักวางแผนทางการเงิน เพื่อให้พวกเขาช่วยพัฒนาแผนการเกษียณอายุส่วนบุคคลที่เหมาะกับเป้าหมายและความท้าทายของคุณโดยเฉพาะ
ชาว Gen X คนไทยที่ยังไม่มีเงินออมเพื่อเกษียณ ควรเริ่มต้นออมอย่างไร?
หากเป็นผู้ทำงานในระบบ ถือเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งจะมีการหักเงินสมทบเข้าประกันสังคม และจะได้เงินนั้นออกมาใช้ตอนเกษียณอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ทำงานอิสระ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ในกองทุนประกันสังคมได้ เพื่อส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เหมาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบ (ฟรีแลนซ์) ที่มีอายุ 15-65 ปี สมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39
โดยจะได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์หลายรายการ โดยเงินสมทบที่ต้องนำส่งกองทุนฯ นั้น มีให้เลือกส่ง 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาทต่อเดือน จะได้สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย-กรณีทุพพลภาพ-กรณีตาย
ส่วนทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาทต่อเดือน จะได้สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย-กรณีทุพพลภาพ-กรณีตาย-กรณีชราภาพ ขณะที่ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาทต่อเดือน จะได้สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย-กรณีทุพพลภาพ-กรณีตาย-กรณีชราภาพ-กรณีสงเคราะห์บุตร
ถ้าไม่ต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ในกองทุนประกันสังคม ก็ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกคือ สมัครเข้า “กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)” หลักประกันวัยเกษียณ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ ได้ออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งคนที่จะสมัครต้องมีสัญชาติไทย อายุ 15 - 60 ปี และต้องไม่อยู่ในระบบบำนาญของกองทุนอื่นๆ
โดยสมาชิกต้องจ่ายเงินสะสมไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท รวมไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องจ่ายทุกเดือนและแต่ละครั้งไม่ต้องเท่ากัน ส่วนรัฐจะจ่ายเงินสมทบให้ตามอายุของสมาชิก คือ
- อายุ 15 - 30 ปี สมทบให้ 50% ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี
- อายุมากกว่า 30 - 50 ปี สมทบให้ 80% ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี
- อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป สมทบให้ 100% ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี
ทั้งนี้ สมาชิกจะมีสิทธิได้รับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือลาออกจากกองทุน หรือทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี หรือเสียชีวิต
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะทำ “หวยเกษียณ” เพื่อจูงใจให้คนไทยเก็บออมมากขึ้น โดยสามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ (อายุ 60 ปี) เบื้องต้นคร่าวๆ คือ รัฐบาลจะออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับ “สมาชิก กอช.” หรือ “ผู้ประกันตนมาตรา 40” (กลุ่มอาชีพอิสระ) ซึ่งให้ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน โดยเงินที่ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นเงินออมในระบบ ขณะเดียวกันผู้ซื้อสลากก็จะได้ลุ้นรางวัลไปด้วย (ออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น.) ทั้งนี้ นโยบายนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ยังต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียด ดูข้อกฎหมาย และการออกแบบระบบต่างๆ อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือ 1 ปี