เงินเฟ้อพุ่ง-ค่าครองชีพแพง ‘วัยเกษียณ’ ต้องดิ้นรนหางานพาร์ตไทม์ทำ

เงินเฟ้อพุ่ง-ค่าครองชีพแพง ‘วัยเกษียณ’ ต้องดิ้นรนหางานพาร์ตไทม์ทำ

รายงานเผย ‘เงินเฟ้อ’ ทำราคาของแพงขึ้น ทำให้ ‘ผู้สูงอายุ’ วางแผนเลื่อนวันเกษียณอายุหรือหาพาร์ตไทม์ทำ พบส่วนใหญ่กังวลเงินเก็บไม่พอใช้หลังเกษียณ ส่วนผู้สูงอายุไทย รายได้เฉลี่ย5,700 บาท/เดือน

แม้ว่า “อัตราเงินเฟ้อ” จะชะลอตัวลง แต่ เงินเฟ้อ ยังคงส่งผลกระทบต่อแผนเกษียณอายุเพราะราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น “แพงขึ้น” และเงินจำนวนหนึ่งที่เก็บไว้สำหรับเกษียณมีค่า “ลดลง”ในทุกๆ ปี หมายความว่า จะซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลงด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม

ตามผลการวิจัยล่าสุดจากบริษัทประกันภัย Prudential Financial พบว่าราคาสินค้าแพงขึ้นจากเงินเฟ้อทำให้ผู้เกษียณอายุและผู้ที่ใกล้เกษียณต้องปรับเปลี่ยนแผนเกษียณอายุ 

 

ทำพาร์ตไทม์หลังเกษียณ

ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า “เงินเฟ้อ”ทำให้ผู้สูงอายุ 65 ปีถึง 43% ต้องเลื่อนการเกษียณอายุออกไป ในขณะที่ผู้ใกล้เกษียณอายุวัย 55 ปี ประมาณหนึ่งในสามหรือ 33% กำลังคิดที่จะเลื่อนวันเกษียณออกไปเช่นกัน

ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งที่มีอายุ 55 ปี (คิดเป็น 48%) วางแผนจะทำงานพาร์ตไทม์หลังเกษียณ และ 25% ของผู้ที่อายุ 65 ปี และ 13% ของผู้ที่อายุ 75 ปี ก็มีแผนจะทำงานพาร์ตไทม์หลังเกษียณเช่นเดียวกัน

 

ผลการสำรวจนี้สอดคล้องกับการสำรวจล่าสุดของ AARP ซึ่งพบว่า 26% ของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เกษียณบอกว่า “ยังไม่คิดที่จะเกษียณ”

การทำงานพาร์ตไทม์หลังเกษียณหรือการยังไม่คิดที่จะเกษียณอาจหมายถึงการทำงานต่อไปเรื่อยๆแบบไม่มีวันสิ้นสุด อาจเพราะต้องการทำงานเพื่อเงินเดือน หรือการทำงานเพื่อจรรโลงจิตใจชีวิตวัยเกษียณ

เช็กเงินออมเพียงพอสำหรับชีวิตวัยเกษียณหรือยัง?

ผลสำรวจของ Prudential ชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนกังวลว่าเงินเก็บจะไม่พอใช้ไปจนเกษียณ โดยเฉพาะกลุ่มวัย 55 ปี เพราะมีสัดส่วนมากถึง 67% ที่กังวลเรื่องนี้ ตามมาด้วยคนวัย 65 ปี และวัยคน 75 ปีที่มีความกังวลเรื่องเงินเก็บ 59% และ 52% ตามลำดับ

ตามผลการสำรวจของ Prudential สะท้อนว่ากลุ่มคนที่อายุ 55 ปี มีความมั่นคงทางการเงินน้อยที่สุด

แคโรไลน์ ฟีนีย์ CEO ของ Prudential เผยว่าสาเหตุสำคัญมาจากเงินสำรองสำหรับวัยเกษียณที่ยังขาดอยู่มาก โดยคนวัย 55 ปี ซึ่งเป็นวัยใกล้เกษียณมีเงินเก็บเฉลี่ยเพียง 47,950 ดอลลาร์ หรือ 1.7 ล้านบาท ถือว่าน้อยกว่าที่เกณฑ์ที่ควรมีเงินสำรองคือ 16ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 8 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ยของสหรัฐ

ฟีนีย์กล่าวว่า “กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่กำลังจะเกษียณ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีเงินบำนาญ แถมยังต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางการเงิน เนื่องจากระบบประกันสังคมจะมีเพียงพอที่จะรองรับชีวิตวัยเกษียณหรือไม่”

 

‘เงินเฟ้อ’กระทบชีวิตผู้สูงอายุ

เงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพในวัยเกษียณสูงขึ้น

เงินเฟ้อในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4% ปัจจุบันข้าวจานเริ่มต้นละ 40 บาท อีก 20 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ว่าอาจจะถึงจานละ 90 บาท ทุกอย่างแพงขึ้น 2 เท่า ซึ่งการที่เงินเฟ้อทำให้ของแพงขึ้นขนาดนี้ เงินที่เราเก็บไว้แล้วรู้สึกว่ามากพอแล้ว ก็อาจจะมีค่าเงินน้อยลงมากในอนาคต จนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายได้

เงินเฟ้อทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น

เมื่อเรากลายเป็นวัยผู้สูงอายุ ร่างกายของเราจะอ่อนแอและเสื่อมสภาพลง ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นก็จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นปีละประมาณ 5-8% ตามไปด้วย โดยผู้สูงอายุจะมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลต่อการเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท และจะสูงกว่าคนไม่สูงอายุอยู่ประมาณหมื่นกว่าบาทเลยทีเดียว

 

ผู้สูงอายุไทย รายได้เฉลี่ย 5,700 บาท/เดือน

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำสรุปผลที่สำคัญการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยผลสำรวจพบปี 2566 พบว่า ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13.64 ล้านคนของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ 5.11 ล้านคน

ผู้สูงอายุที่ทำงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเหนือและภาคใต้ สำหรับกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ทำงานประมาณ 25% ของผู้สูงอายุทั้งหมด และพบว่าเป็นผู้สูงอายุที่ทำงานและอาศัยอยู่คนเดียวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

จากผลสำรวจพบว่า อาชีพของผู้สูงอายุมากกว่า 50% เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตรและประมง รองลงมาเป็นพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า มีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 39.0 ชั่วโมง สำหรับค่าจ้าง/เงินเดือนของผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นลูกจ้าง พบว่า ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 12,151 บาท โดยภาคการเกษตรได้รับค่าจ้างน้อยที่สุด 5,796 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน มากถึง 86.8% ประสบปัญหาในเรื่องค่าตอบแทนและความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการรองรับกับผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น และช่วยเหลือด้านสวัสดิการ การคุ้มครองและหลักประกันทางสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับผู้สูงอายุ