ดาวโจนส์ปิดลบ 45 จุด แม้ดัชนีเงินเฟ้อ PCE ชะลอตัว แต่หุ้นสหรัฐครึ่งปียังสดใส
ตลาดหุ้นสหรัฐปิดลบทั้ง 3 ดัชนี แม้มีข่าวดีตัวเลข PCE ชะลอตัว ขณะที่ในภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐรอบ 'ครึ่งปีแรก' AI นำ Nasdaq พุ่งทะยานบวก 18%
ตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดตลาดในแดนลบทั้ง 3 ดัชนีเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย. ปิดฉากการซื้อขายรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 ไปอย่างไม่สดใส แม้จะมีปัจจัยบวกของ ดัชนี PCE นักลงทุนซึมซับข้อมูลเงินเฟ้อที่เป็นไปตามคาด และประเมินความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังจากการดีเบตรอบแรกของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
ส่วนในภาพรวมรอบครั้งปีแรกนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐยังทำผลงานได้ดีโดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีจากการขับเคลื่อนของกระแสปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones) ปิดลบ 45.20 จุด หรือ 0.12% อยู่ที่ 39,118.86 จุด ส่วนในรอบครึ่งปีนี้บวกไป 3.8%
- ดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) ปิดลบ 0.41% อยู่ที่ 5,460.48 จุด ส่วนในรอบครึ่งปีนี้บวกไป 14.5%
- ดัชนีแนสแดค คอมโพสิต (NASDAQ) ปิดลบ 0.71% อยู่ที่ 17,732.60 จุด ส่วนในรอบครึ่งปีนี้บวกไป 18.1%
ในช่วงแรกของการซื้อขาย ดาวโจนส์ ขานรับข่าวดีทะยานกว่า 200 จุด ขานรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่สูงกว่าคาด รวมทั้งการชะลอตัวของดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ทำให้นักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.7% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป "ไม่เปลี่ยนแปลง" ในเดือนพ.ค. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.8% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 68.2 ในเดือนมิ.ย. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.6 จากระดับ 69.1 ในเดือนพ.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.3% ในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.0% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 3.0% ในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาดได้ปัจจัยบวกจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 4.3% หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี PCE ในวันนี้
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือนธ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี PCE ที่ชะลอตัวลง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 59.5% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 44.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 43.0% เมื่อวานนี้
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แม้ว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้