บริษัท 40% โพสต์ประกาศงานปลอม ตำแหน่งยังไม่ว่าง แต่คัดเรซูเมที่ชอบไว้ก่อน

บริษัท 40% โพสต์ประกาศงานปลอม ตำแหน่งยังไม่ว่าง แต่คัดเรซูเมที่ชอบไว้ก่อน

โพสต์หาคนก่อน แต่ไม่ได้จะจ้างตอนนี้! บริษัท 40% ประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งที่ไม่ได้ว่างอยู่ ขอคัดคนที่ชอบไว้ก่อน รอตำแหน่งงานว่างจริงค่อยเรียกตัว

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจจาก Resume Builder ชี้ว่า 40% ของบริษัทต่างๆ ระบุว่า เคยโพสต์ประกาศรับสมัครตำแหน่งงานปลอมในปี 2024
  • เหตุผลที่บางบริษัทโพสต์รับสมัครตำแหน่งงานปลอม ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังเติบโต และเพื่อรวบรวมเรซูเมของเหล่าผู้สมัครมาเก็บไว้ในแฟ้มเพื่อนำมาใช้ในภายหลัง
  • วิธีเช็กว่าตำแหน่งงานไหนเป็นตำแหน่งงานที่ว่างอยู่จริงๆ บนเว็บไซต์หางาน ให้ลองตรวจสอบว่าตำแหน่งงานดังกล่าวลงประกาศเมื่อใด ควรเป็นโพสต์ที่มาใหม่ไปเกิน 2-3 สัปดาห์

ทุกวันนี้งานก็หายากมากพออยู่แล้ว แต่ผู้สมัครงานยังต้องเผชิญกับ “งานปลอม” หรือ “ตำแหน่งงานที่ยังไม่ว่างจริงๆ” โผล่ขึ้นมาโชว์ตามเว็บไซต์หางานเพียบ! โดยผลสำรวจจาก Resume Builder ซึ่งเป็นเว็บไซต์ด้านอาชีพการงาน รายงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2024 ว่า 40% ของบริษัทต่างๆ ระบุว่าเคยโพสต์ประกาศรับสมัครตำแหน่งงานปลอมในปี 2024 ขณะที่บริษัท 3 ใน 10 แห่ง ระบุว่ายังคงลงโฆษณาเปิดรับสมัครงานปลอมบนเว็บไซต์หางานอยู่ในขณะนี้ 

คำว่างานปลอมในที่นี้ หมายถึง รายชื่อของตำแหน่งงานที่มีอยู่จริงๆ แต่ตำแหน่งงานนั้นยังไม่ว่าง ซึ่งบริษัทกลับโพสต์ประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งนั้น เพื่อใช้มองหาหรือรวบรวมเรซูเมของคนที่หน่วยก้านดีมาเก็บเอาไว้ก่อน (งานปลอมที่เป็นลักษณะการหลอกลวงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ในบริบทที่จะพูดถึงในเรื่องนี้) 

กลยุทธ์โพสต์รับสมัครตำแหน่งงานปลอม ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะการจัดหางานชั่วคราว

ตามรายงานผลสำรวจ Resume Builder ยังระบุรายละเอียดอื่นๆ อีกหลายแง่มุม ได้แก่ แนวคิดในการโพสต์ตำแหน่งงานปลอมนั้นส่วนใหญ่มาจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล (37%), ผู้บริหารระดับสูง (29%), ผู้บริหารระดับสูง (25%), นักลงทุน (5%), ที่ปรึกษา (4%) 

โดยตำแหน่งงานปลอมที่ถูกเปิดรับสมัครจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้แก่ ตำแหน่งงานระดับเริ่มต้นหรือระดับปฏิบัติการ (63%), ตำแหน่งงานระดับกลาง (68%) ตำแหน่งระดับอาวุโส (53%) และตำแหน่งระดับบริหาร (45%)

สเตซี ฮัลเลอร์ (Stacie Haller) ที่ปรึกษาทางอาชีพของบริษัท Resume Builder เล่าว่า แม้ว่ากลยุทธ์นี้จะน่าหงุดหงิดแต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย พบว่ามีหลายๆ บริษัทใช้กลยุทธ์นี้อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานจัดหางานชั่วคราว พวกเขาต้องการบุคลากรใหม่ๆ อยู่เสมอ และลงโฆษณาเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะถ้าลูกค้าต้องการพนักงานด่วน พวกเขาก็ต้องมีผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกแล้วพร้อมเสิร์ฟให้ลูกค้าได้เลยทันที

ในสถานการณ์เช่นนี้ สำนักงานจัดหางาน จึงต้องโพสต์เปิดรับสมัครงานอยู่เรื่อยๆ แม้ตำแหน่งงานนั้นยังไม่ว่างก็ตาม รวมถึงอาจติดต่อและสัมภาษณ์ผู้สมัครไว้ก่อน แล้วเพื่อเก็บข้อมูลของพวกเขาไว้ในแฟ้ม แล้วรอจนกว่าจะมีตำแหน่งว่างจริงๆ ถึงเรียกตัวมาทำงาน อย่างไรก็ตาม ฮัลเลอร์บอกอีกว่า ปัจจุบันนี้เธอพบว่าบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบสมัยเก่า (Traditional corporate companies) กำลังทำแบบนี้มากขึ้น

เปิดเหตุผล ทำไมบริษัทบางแห่งจึงโพสต์ตำแหน่งงานปลอม

สำหรับเหตุผลที่บริษัทต่างๆ โพสต์งานปลอมบนเว็บไซต์หางาน ก็คือ เพื่อให้ดูเหมือนว่าบริษัทเปิดรับบุคลากรจากภายนอก  (67%), เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังเติบโต (66%) และเพื่อรวบรวมประวัติย่อและเก็บไว้ในแฟ้มเพื่อนำมาใช้ในภายหลัง (59%)

ในรายงานชิ้นดังกล่าวยังระบุอีกว่า บริษัทต่างๆ ที่ประกาศเปิดรับสมัครงานปลอมนั้น พวกเขาได้โพสต์ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทของตนเอง และบอร์ดออนไลน์อื่นๆ อย่าง LinkedIn, ZipRecruiter, Indeed และ Glassdoor เป็นต้น ซึ่งขัดต่อนโยบายการใช้งานของเว็บไซต์หางานหลายแห่ง 

ด้านโฆษกจากเว็บไซต์ LinkedIn บอกกับ CNBC Make It ว่า “เราต้องการให้บริษัทต่างๆ ลงประกาศงานเฉพาะกรณีที่พวกเขาตั้งใจจะจ้างผู้สมัครสำหรับตำแหน่งที่ระบุเท่านั้น” 

ขณะที่เว็บไซต์ ZipRecruiter เว็บไซต์หางานอีกเจ้าหนึ่ง ก็ร่วมชี้แจงด้วยการโพสต์เอกสาร “กฎระเบียบการลงประกาศงาน” ซึ่งระบุว่าการส่งใบสมัครต้องสะท้อนถึงตำแหน่งงานว่างจริงในปัจจุบันเท่านั้น 

ขณะที่ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลถึง 7 ใน 10 คนมองว่า การโพสต์รายชื่อตำแหน่งงานปลอมนั้น เป็นที่ยอมรับได้ในทางศีลธรรม 

อย่างไรก็ตาม ฮัลเลอร์ย้ำว่า เธอไม่สามารถพูดได้ว่ากลยุทธ์นี้คือแนวทางที่ดีในการจ้างงาน ไม่มีสิ่งไหนที่จะยอมรับได้เลย ไม่ว่าเหตุผลทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร การปฏิบัตินี้ทำลายความไว้วางใจในระบบการจ้างงานและอาจทำให้ผู้หางานรู้สึกหมดไฟได้

เปิดวิธีเช็กประกาศงาน แบบไหนว่างจริง-ว่างปลอม ไม่ตกเป็นเหยื่อบริษัทที่ชอบกั๊กคนแต่ไม่ยอมจ้าง

การพบตำแหน่งงานว่างจำนวนมากบนเว็บไซต์หางานออนไลน์ต่างๆ ไม่อาจคอนเฟิร์มได้ว่าเว็บไซต์หางานนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ ในทางกลับกัน ควรตรวจเช็กตำแหน่งงานว่างอย่างระมัดระวังมากขึ้นด้วยซ้ำ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การฝากเรซูเมหรือประวัติการทำงานแบบย่อไว้ตามแพลตฟอร์มหางานต่างๆ ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีประโยชน์เลย เพียงแต่หากฝากประวัติเอาไว้บนเว็บหางาน ก็ต้องเตรียมใจด้วยว่าอาจมีหลายบริษัทดึงข้อมูลของคุณไปเก็บไว้ก่อนโดยไม่เรียกตัวทันที

ทั้งนี้ ในมุมมองของ สเตซี ฮัลเลอร์ เธอแนะนำถึงวิธีการสังเกตว่าตำแหน่งงานไหนเป็นตำแหน่งงานที่ว่างอยู่จริงๆ บนเว็บไซต์หางาน ยกตัวอย่างเช่น ให้ลองตรวจสอบว่าตำแหน่งงานว่างดังกล่าวลงประกาศเมื่อใด หากประกาศดังกล่าวเพิ่งโพสต์บนเว็บในช่วงหลายสัปดาห์ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่าประกาศนั้นจะยังเปิดดำเนินการอยู่จริงๆ มากกว่าประกาศที่ประกาศที่ลงไว้เมื่อหลายเดือนก่อน

สิ่งถัดมาที่ควรเช็กคือ ตรวจสอบเว็บไซต์จริงของบริษัทควบคู่กันไปด้วย เพื่อดูว่ามีการโพสต์งานไว้หรือไม่ หากมี ให้ลองสมัครโดยตรงผ่านเว็บบริษัทดีกว่าจะสมัครผ่านแพลตฟอร์มเว็บหางานจะดีกว่า 

ข้อแนะนำสุดท้าย คือ ให้ใช้โพสต์ออนไลน์เพื่อค้นหาผู้จัดการการจ้างงาน และส่งอีเมลหรือข้อความบน LinkedIn เพื่อแสดงความสนใจของคุณ แนบประวัติย่อของคุณและระบุว่าคุณได้สมัครผ่านช่องทางการจ้างงานอย่างเป็นทางการของบริษัทไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์หางานหลายแห่งยังมีประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่าย และสร้างการเชื่อมโยงทางอาชีพการงาน ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสในการหางานได้สำเร็จมากขึ้น ส่วนกรณีของบริษัทต่างๆ ที่ลงโพสต์ประกาศงานบนเว็บหางานนั้น เธอแนะนำว่า การแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของบริษัทจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก