'ซูซูกิ สวิฟท์' อีโคคาร์ อารมณ์สปอร์ต แรงได้ ประหยัดน่าพอใจ
เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจในกลุ่มอีโค คาร์ สำหรับ "ซูซูกิ สวิฟท์" รถที่มีค่าตัวไม่แรง แต่ตอบสนองการใช้งานได้ดี
ซูซูกิ สวิฟท์ ทำตลาดในเมืองไทยเมื่อปี 2553 ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร นำเข้าจากอินโดนีเซีย ก่อนจะเริ่มต้นผลิตในไทยในเจเนอเรชัน พร้อมเข้าโครงการอีโค คาร์ ในปี 2555 ด้วยเครื่องยนต์ 1.25 ลิตร ก่อนที่เจเนอเรชัน 3 จะเปิดตัวในปี 2561 และล่าสุดเป็นการปรับโฉมเพิ่มความสดใหม่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
สวิฟท์ เป็นรถที่ในกลุ่มอีโค คาร์ ที่ราคาไม่แรง ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในยุคที่หลายคนหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อความปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่าย
โดยซูซูกิ ก็ไม่ทำให้ต้องปวดหัวในการเลือกมากนัก เพราะมีแค่ 2 รุ่นย่อย คือ GL ราคาเริ่มต้น 5.57 แสนบาท และ รุ่น GLX ราคาเริ่มต้น 6.29 แสนบาท
นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าตัวรถแล้ว ผมว่าจุดขายอีกอย่าง คือ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานที่ไม่สูง เช่น เรื่องของค่าบำรุงรักษาตามระยะทาง ช่วง 1 หมื่น-1 แสน กม. ซึ่งก็เฉลี่ยประมาณ 4-5 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น แล้วแต่การใช้งานของแต่ละคน โดยซูซูกิ มีข้อมูลให้ลูกค้าว่าอยู่ที่ประมาณ 2.52 หมื่นบาท ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งหลายๆ รุ่นในตลาด
ส่วนความประหยัดรายวัน ก็น่าสนใจ นั่นคือเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ผมว่าโดดเด่นเลยทีเดียว อย่างการลองขับ ซูซูกิ สวิฟท์ ของผมครั้งนี้ เบ็ดเสร็จรวมระยะทาง 540 กม. อัตราสิ้่นเปลืองอยู่ที่กว่า 20 กม./ลิตร ใกล้เคียงกับอัตราสิ้นเปลืองตามเงื่อนไขอีโค คาร์ เฟส 2 ที่ระบุว่า 4.3 ลิตร/ 100 กม. หรือประมาณ 23.3 กม./ลิตร
แต่นี่เป็นการใช้งานจริง ซึ่งมีการขับขี่หลายรูปแบบ ทั้งรถคล่องตัว รถติดในเมือง ติดตามสัญญาณไฟ การใช้ความเร็วที่ค่อนข้างสูง รวมถึงเส้นทางที่ต้องปีนไต่เนิน เพราะเส้นทางที่ผมลองขับ เริ่มจากกรุงเทพฯ ไปทางราชพฤกษ์ ออกสาย 9 เข้าพหลโยธิน มุ่งหน้าสระบุรี เข้ามิตรภาพ ปีนเนินแถวทับกวาง ไปปากช่อง กลับรถมาเข้าเส้นมวกเหล็ก-ธนรัชต์ ไปออกมิตรภาพอีกครั้ง กลับมา กทม.
เป็นการขับขี่ในรูปแบบปกติ (ของผม) ซึ่งมีการเรียกกำลังจากรถหลายครั้ง เพื่อเร่งแซง และทำความเร็ว ไม่ได้ขับแบบพยายามทำตัวเลขสวยๆ แต่อย่างใด ซึ่งทำให้ประหลาดใจไม่น้อยกับอัตราสิ้นเปลืองที่ได้มา
ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับแพลตฟอร์ม HEARTECT ที่เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของซูซูกิ ที่มีน้ำหนักเบา และแน่นอนว่ามีผลโดยตรงกับความประหยัด
แต่ซูซูกิ ยืนยันว่าการลดน้ำหนักรถ ไม่มีผลกับความแข็งแรงของรถ แต่กลับกันออกแบบให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป เช่น การลดส่วนโค้งงอเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ปรับตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ หรือว่าเกียร์ เพื่อกระจายน้ำหนักให้เมาะสม รวมถึงออกแบบจุดเชื่อมต่อใหม่เพื่อให้ตัวถังมีความมั่นคงมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนมาให้จับความรู้สึกได้ในการใช้งานครับ ง่ายๆ ก็เช่นการทรงตัวของรถ อารมณ์ในการขับขี่ควบคุม โดยเฉพาะเมื่อต้องขับในเส้นทางที่ต้องเปลี่ยนทิศทางไปมา มีแรงเหวี่ยง แรงจี เกิดขึ้น อย่างเส้นบนเขา
ซึ่งพบว่าการทรงตัวของ สวิฟท์ ทำได้ดี การโยนตัวให้ตัวของตัวถังน้อยมาก เมื่อบวกกับส่วนอื่นๆ เช่น ช่วงล่างซึ่งด้านหน้าเป็นแมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลัง ทอร์ชั่นบีม และระบบช่วยเหือการขับขี่อื่นๆ ก็ทำให้มันเป็นรถที่มีความคล่องตัวสูงในเส้นทางแบบนี้ ควบคุมง่าย และขับได้สนุก
ระบบช่วยเหลือที่ว่าก็เช่น ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) หรือว่า ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TCS) เป็นต้น
ส่วนเครื่องยนต์ เบนซิน รหัส K12M 4 สูบ 1.2 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 83 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที มาพร้อมเทคโนโลยีหัวฉีดคู่หรือ DUALJET ซึ่งเป็นการออกแบบที่ทำให้การเผาไหม้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยการฉีดน้ำมันเข้าไปที่กระบอกสูบพร้อมกันทั้ง 2 หัวฉีด ทำให้น้ำมันมีละอองที่ละเอียดขึ้น และแม่นยำยิ่งขึ้น
ในเชิงเทคนิคอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ ซูซูกิ บอกว่าด้วยการออกแบบการทำงานเช่นนี้ช่วยให้ลดอุณหภูมิในกระบอกสูบขณะทำงาน ซึ่งนั่นหมายถึงเป็นการช่วยถนอมชิ้นส่วนต่างๆ ภายใน ยืดอายุการใช้งานออกไป
มาดูทางด้านโครงสร้างตัวรถกันบ้าง สวิฟท์ แม้จะเป็นรถขนาดกะทัดรัด ความยาวไม่ถึง 4 เมตร และหากเทียบกับน้องใหม่ไฟแรงในตลาดอย่าง ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ค สวิฟท์นั้นสั้นกว่าถึง 50 ซม. เลยทีเดียว แต่ว่าในแง่การใช้งาน ถือว่าเป็นรถที่นั่งได้สบายครับ มีความกว้างพอตัว เบาะนั่งออกแบบมาได้เหมาะกับสรีระ พื้นที่เหนือศีรษะก็กว้างพอ ช่วยให้ไม่รู้สึกอึดอัด ยกเว้นถ้าเบาะหลังจะนั่ง 3 คน ก็อาจจะเบียดกันไหล่ชนไหล่ไปบ้าง
รูปทรงโดยรวมกะทัดรัด ออกแบบเน้นให้มีอารมณ์สปอร์ต ดุดัน รวมถึงภายในที่ใช้รูปแบบวงกลมเป็นตัวเติมอารมณ์ ทั้งช่องแอร์ หรือว่ามาตรวัด และปุ่มปรับต่างๆ ยกเว้นพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น ที่หนีวงกลม ด้วยการทำให้เป็นรูปแบบท้ายตัด นอกจากเพิ่มความสปอร์ตแล้ว ก็เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน เมื่อเข้า-ออกจากรถ โดยเฉพาะพวกขาใหญ่ทั้งหลาย และตัว GLX สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง คือ ขึ้น-ลง เข้า-ออก ขณะที่ GL ทำได้แค่ขึ้น-ลง
ตำแหน่งการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้ขับขี่ทำได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยมือหรือเท้าก็ตาม
เป็นรถราคาไม่แรงเมื่อเทียบกับตลาดเดียวกัน แต่ให้ออปชั่นมาเยอะทีเดียว เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ซึ่งออปชั่นสำคัญๆ เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ กุญแจรีโมท ระบบเปิด-ปิด ประตูโดยไม่ต้องใช้กุญแจ (keyless entry) พุชสตาร์ท ระบบปรับอากาศอัตโนมัติจอแสดงผลแอลซีดี แสดงอัตราสิ้นเปลืองปัจจุบัน/เฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย ตำแหน่งเกียร์ แสดงอุณหภูมิภายนอก สัญญาณเตือนเมื่อลืมกุญแจ
ไฟหน้า แอลอีดี โปรเจคเตอร์ ไฟขับขี่กลางวันแอลอีดี ไฟตัดหมอกคู่หน้า ไฟท้ายแอลอีดีปุ่มเปิดประตูท้ายแบบไฟฟ้า
ถุงลม 6 ตำแหน่ง คู่หน้า ด้านข้าง และม่านถุงลม ระบบเบรก เอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี และเป็นดิสค์เบรก 4 ล้อ ซึ่งเป็นจุดที่ให้มามากกว่าคู่แข่งอีหลายรุ่น ที่ด้านหลังเป็นดรัมเบรก
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TCS) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบสตาร์ท/สต็อป เครื่องยนต์
ส่วนช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลัง ทอร์ชั่น บีม พร้อมคอยล์สปริง
โดยรวมแล้วการเซ็ทช่วงล่างทำได้ดี อารมณ์สปอร์ต บวกกับประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ที่ผมว่าเหมาะสมกับการใช้งาน การเรียกกำลังมาได้เร็ว โดยเฉพาะเมื่อใช้งานในเมือง ช่วยเพิ่มความคล่องตัวได้มาก ส่วนการขับทางไกล ก็ใช้ความเร็วได้ และเร่งแซงได้ไม่มีปัญหา แม้ช่วงความเร็วเริ่มต้นอาจจะต้องเค้นสักหน่อย แต่จากนั้นก็ติดลมบน กดคันเร่งได้สนุก จนลืมว่ามันเป็นอีโคคาร์ไปเลย