เมอร์เซเดส-เบนซ์ “EQS” อีวี มาแล้ว ชาร์จ 1 ครั้ง ขับได้ 770 กม. ขายปีหน้า
เมอร์เซเดส-เบนซ์ “อีคิวเอส” รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี รุ่นแรกที่พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม อีวี โดยเฉพาะ เผยโฉมในไทย ก่อนนำเข้าร่วมงาน มหกรรมยานยนต์ ส่วนการเปิดจำหน่ายจริง เริ่มปี 2565 โดยช่วงนี้เบนซ์ อยู่ระหว่างเตรียมการประกอทั้งรถ และแบตเตอรีแรงดันสูง EB 400x ในประเทศ
หลังจาก เดมเลอร์ เอจี เยอรมนี ประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการก้าวสู่โลกของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) โดยกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2568 รถรุ่นใหม่ทุกรุ่นที่จะออกจากสายการผลิตจะต้องเป็น อีวี หลังจากนั้นปี 2573 รถทุกรุ่นจะเป็น อีวี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทย ก็มีแผนที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก้าวไปสู่อีวีเช่นกัน โดยประกาศว่าภายในปี 2573 การผลิตรถในไทย 30% จะต้องเป็นอีวี และปี 2578 การขายรถใหม่จะเป็น อีวี ทั้งหมด
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย มองว่า ถึงเวลาเช่นกัน ที่บริษัทจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธาน บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน ตลาดอีวีในทยยังมี่ขนาดเล็กมาก แต่ก็เชื่อว่าอุตสาหกรรมคงไม่สามารถปฏิเสธอีวีได้ในอนาคต
และมองว่า การที่นโยบายบริษัทแม่กับรัฐบาลไทย สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน บริษัทก็จะต้องเดินไปเส้นทางเดียวกันเช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทก็ให้ความสำคัญกับพลังงานไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำตลาดรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย รวมถึงการลงทุนเปิดสายการประกอบแบตเตอรีสำหรับปลั๊ก-อิน ไฮบริด มุลค่า 200 ล้านบาท ดำเนินงานโดยบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หรือ TESM
ปัจจุบัน ทีอีเอสเอ็ม ประกอบแบตเตอรี 2 รุ่น คือ
PB300 ป้อนให้กับรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด รุ่น C-Class, E-Class และ GLC มี ขนาดความจุ 13.8 kWh เริ่มผลิตในเดือนกรกฎาคม 2562 และเริ่มส่งออกไปยังเยอรมนีในเดือนกรกฏาคม 2563
PB400 ขนาดความจุ 21.4 kWh เพื่อป้อนให้กับ S 580 e โดยเฉพาะ ซึ่งเอส-คลาส ปลั๊ก-อิน ไฮบริด นี้ เตรียมจะเปิดตัวในไทยเร็วๆ นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เปิดตลาดด้วยเครื่องยนต์ดีเซล เท่านั้น คือ S 350d
PB400 รองรับการใช้งานสูงสุด 100 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ส่วนเวลาในการชาร์จ หากเป็นไฟบ้านใช้เวลา 6.15 ชั่วโมง (จาก 10-100%) ชาร์จผ่าน MB Wall Box ใช้เวลา 2 ชั่วโมง (จาก 10-100%) และหากเป็นการชาร์จด้วย DC Fast Charge จะใช้เวลาเพียง 20 นาที (จาก 10-80%)
โฟลเกอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็น 1 ใน 7 โรงงานประกอบแบตเตอรีทั่วโลก ร่วมกับยุโรป สหรัฐ และ จีน แสดงถึงการให้ความสำคัญของบริษัทที่มองไทยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ และเชื่อว่าในอนาคต จะมีบทบาทมากขึ้นกว่านี้
และไม่เพียงแค่การประกอบแบตเตอรีสำหรับปลั๊ก-อิน ไฮบริด แต่ขณะนี้โรงงาน ทีอีเอสเอ็ม กำลังเตรียมเปิดสายการประกอบแบตเตอรีสำหรับ อีวี คือรุ่น EB 40x ขนาดความจุ 107.8 kWh รองรับการใช้งานได้ 770 กม. ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง มีน้ำหนักตัว 670 กิโลกรัม
ซึ่งแบตเตอรีรุ่นนี้จะติดตั้งในอีวี รุ่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในตลาดโลก คือ EQS (อีคิวเอส) อีวี รุ่นแรกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่พัฒนาขึ้นเป็นแพลตฟอร์มอีวีโดยเฉพาะ ต่างจากรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ใช้แพลตฟอร์มร่วมกับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน
มีสถานะเป็นเรือธงของฝั่ง อีวี เช่นเดียวกัน เอสคลาส ที่เป็นเรือธงฝั่งเครื่องยนต์
การเตรียมเปิดสายประกอบแบตเตอรีรุ่นนี้ เพราะเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีแผนที่จะขึ้นสายการประกอบ อีคิวเอส ในประเทศไทยปีหน้า
ทั้งนี้ปัจจุบัน มีผู้ทำตลาดอีวีหลายรุ่น แต่เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดอีวีเช่นกัน ยืนยันมาโดยตลอดว่า จะต้องทำตลาดด้วยรถที่ผลิตในประเทศ
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด บริษัทนำเข้า EQS 400+ (อีคิวเอส 400 พลัส) จากเยอรมนี เข้ามาให้ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำตลาด 4 ราย ลุกค้า และสื่อมวลชนได้เห็นรถตัวจริง และยังมีแขกพิเศษคือ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
หลังจากนั้นจะนำไปจัดแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ที่จะเริ่มต้นวันที่ 1 ธ.ค. นี้แต่ยังไม่เปิดรับจอง
ส่วนการเริ่มต้นทำตลาดคาดว่าเป็นปีหน้า โดยช่วงเริ่มต้นจะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศก่อน จำนวนหนึ่งโดยใช้สิทธิในโครงการที่รัฐสนับสนุน หลังจากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อม ก็จะเดินสายประกอบรถในประเทศต่อไป
โฟล์เกอร์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจกับเทคโนโลยีอีวีว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนภาพรวมอีวีของไทยในอนาคตจะเป็นเช่นไร ขยายตัวได้น่าพอใจหรือไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐ และเอกชนทั้งผู้ผลิตรถอีวี และผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภค เช่น สถานีชาร์จ จะต้องมานั่งคุยกัน เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างสมดุล