ลองขับ ฮาวาล โจไลอ้อน นุ่ม โปร่ง โล่งสบาย ถ้าเติมสปอร์ตอีกนิดก็ดี
เปิดราคาที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย สำหรับ ฮาวาล โจไลอ้อน (Haval Jolion) รถยนต์รุ่นที่ 3 ของเกรท วอลล์ ในตลาดประเทศไทย ต่อจาก ฮาวาล เอช 6 ไฮบริด เอสยูวี และ โอร่า กู๊ดแคท ขณะที่การขับ ฮาวาล โจไลอ้อน อยู่ในเกณฑ์ดี และเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับครอบครัว
ความน่าสนใจของ ฮาวาล โจไลอ้อน (Haval Jolion) คือ อยู่ในตลาด บี-เอสยูวี ตลาดที่ได้รับความนิยมสูง และประเมินว่าจะขยายตัวอย่างโดดเด่นในอนาคต คาดว่า 5 ปี จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.2 แสนคัน ในขณะนี้ เป็น 2.5 แสนคัน
แต่ตลาดนี้ก็มีการแข่งขันที่ดุเดือดเช่นกัน และแต่ละค่ายก็มีจุดขายของตัวเองที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำตลาดอย่าง โตโยต้า โคโรลล่า ครอส ฮอนด้า เอชอาร์-วี ที่เพิ่งเปิดตัวรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่น 2 เมื่อเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ก็ยังมี เอ็มจี แซดเอส ที่เจาะตลาดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมาสด้า 3 ที่ปรับโครงสร้างตลาด ราคา ขจัดข้อด้อยของตัวเอง คือ ขนาดตัวถังที่เล็กกว่าลงไปได้ และกลับมาสร้างการเติบโตอีกครั้ง
สำหรับ ราคาที่ โจไลอ้อนเปิดออกมาคือ
- รุ่น TECH 8.79 แสนบาท
- รุ่น PRO 9.39 แสนบาท
- รุ่น ULTRA 9.99 แสนบาท
หากเทียบกันเฉพาะตัวเงิน กับรถที่สดใหม่ด้วยกัน และเป็นรถไฮบริดด้วยกัน อย่าง ฮอนด้า เอชอาร์-วี แล้ว โจไลอ้อนมีราคาที่ต่ำกว่า 1-1.8 แสนบาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะตัดสินใจเลือกซื้อรถสักคัน คงต้องมีหลายองค์ประกอบ ทั้งราคา ออปชั่น สมรรถนะ และแน่นอนที่สำคัญคือ ความชอบส่วนตัว
จุดเด่นหลักอย่างหนึ่งของ ฮาวาล โจไลอ้อนก็คือ ขนาดตัวถังที่ใหญ่ โดยมิติตัวรถนั้น มีความกว้าง x ยาว x สูง อยู่ที่ 1,841 x 4,472 x 1,619 มม. ระยะฐานล้อ 2,700 มม. นั่นทำให้พื้นที่ในห้องโดยสารกว้างขวาง และยิ่งเพิ่มความโปร่งโล่งมากขึ้นกับหลังคาพาโนรามิคซันรูฟ
ขณะที่รูปร่างหน้าตาถือว่าออกแบบร่วมสมัย ไฟหน้าแอลอีดี ไฟสำหรับขับขี่กลางวัน มีระบบเวลคัม ไลท์ เมื่อปลดล็อครถ ไฟส่องสว่างหลังดับเครื่องยนต์ เพื่อให้เห็นเส้นทางด้านหน้าชั่วครู่ เช่น เดินเข้าบ้าน
กระจังหน้าดูหรู เรียกว่า สตาร์ แมทริกซ์ ใช้สีดำ-เทา เติมอารมณ์สปอร์ต ไฟท้ายแอลอีดี ไฟเบรกดวงที่ 3 ไฟตัดหมอกหลัง ล้ออัลลอยทูโทนขนาด 18 นิ้ว
ภายใน ภาพรวมการออกแบบเน้นความหรูหรา เรียบง่าย ซึ่งผมว่าโดยรวมแล้วดูดีทีเดียว คอนโซลหน้าเหมือนเล่นระดับมีชั้นเชิง คุมอารมณ์ด้วยเส้นแนวนอนจรดซ้าย-ขวา ที่คู่ขนานกันไปสองสามเส้น
ตรงกลางติดตั้งจอหลักแบบสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว รองรับแอ๊ปเปิ้ล คาร์เพลย์ เอ็มีพี 3 จู๊ค ระบบนำทาง ใช้งานง่าย
จอแสดงข้อมูลขับขี่ขนาด 7 นิ้ว แสดงผลชัดเจน และเพิ่มความสะดวกผู้ขับขี่ด้วยระบบแสดงข้อมูลที่กระจกบังลมหน้า (Head-up Display)
เบาะผู้ขับปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง แต่ฝั่งผู้โดยสารปรับด้วยมือ ลำโพง 6 ดอก
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแยกซ้าย-ขวา และมีช่องแอร์สำหรับเบาะหลัง ซึ่งกระจายความเย็นได้ดี พร้อมเอาใจคนยุคนี้ด้วยที่ชาร์จดรศัพท์แบบไร้สาย เกียร์ไฟฟ้า
ส่วนออปชั่นที่เด่นๆ เช่น ระบบอัพเกรดเฟิร์มแวร์ผ่านระบบออนไลน์ การสั่งงานด้วยเสียงอัจฉริยะ (Voice Command) การสั่งการและควบคุมรถผ่าน GWM Application
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน รวมถึงควบคุมความเร็วในโค้ง ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ ระบบช่วยจอดรถอัจฉริยะ 3 รูปแบบ คือ เข้าช่องจอด จอดขนาน และจอดแทยง และกล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา เป็นต้น
ซึ่งก็ถือว่าเป็นออปชั่นที่โดดเด่น ที่ทำให้คนที่มองหารถ บี-เอสยูวี ต้องหันมามอง
โจไลอ้อน ติดตั้งเครื่องยนนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยระบบไฮบริดให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 375 นิวตันเมตร อัตราสิ้นเปลือง 23.8 กม./ลิตร จาการทดสอบตามมาตรฐาน UN R101 ในห้องปฏิบัติการ
ช่วงล่างด้านหน้าอิสระแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชันบีม พร้อมเหล็กกันโคลง
มี 4 โหมดขับขี่ให้เลือคือ
- มาตรฐาน
- สปอร์ต
- อีโค่
- โหมดสภาพถนนลื่น
ขุมพลังไฮบริด ทำงานโดยทั่วไปได้ดี น่าพอใจ อาจะไม่ได้จี๊ดจ๊าดนักแต่ก็เพียงพอ การออกตัว การเพิ่มความเร็วเพื่อเร่งแซงมาได้เร็วพอ จากการลองขับ ฮาวาล โจไลอ้อน รุ่น อัลตร้า ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-สระบุรี ที่ใช้ทั้งเส้นทางด่วน ถนนสาย 9 และพหลโยธิน สามารถซอกแซกไปมาได้คล่องตัว เรี่ยวแรงในการเปลี่ยนช่องทางไปมาบ่อยๆ ทำได้ดี
แต่ช่วงขับขี่ย่านมวกเหล็ก การไต่เนินอัตราเร่งมีดีเลย์ไปบ้าง
จุดเด่นของช่วงล่าง การดูดซับแรงสั่นสะเทือน เรียกว่าดีได้เลย แบบนี้ผู้โดยสารชอบแน่ ซึ่งเส้นทางนี้ถนนพหลโยธินหลายช่วงเป็นสนามทดสอบชั้นดี เพราะมีทั้งขรุขระ เป็นคลื่นเป็นลอนเป็นร่อง
ขณะที่การทรงตัวก็ทำได้ดีเช่นกัน รถนิ่งแม้จะใช้ความเร็วสูง การคุมรถก็ง่ายๆ จับพวงมาลัยหลวมๆ
การขับในทางโค้ง ความนุ่มนวลของช่วงล่างทำให้ตัวถังมีอาการโยนตัวบ้าง แต่ก็สามารถคุมรถผ่านเส้นทางต่างๆ ได้ แบบไม่ยาก เพียงแต่ลดอารมณ์สปอร์ตในเส้นทางแบบนี้ลงไป
บางคนอาจจะบอกว่านี่เป็น เอสยูวี ไม่ใช่เก๋ง ซีดาน แต่อย่าลืมว่า เอสยูวีในปัจจุบันนั้น อารมณ์สปอร์ตไม่แพ้รถเก๋งครับ
ความแม่นยำของพวงมาลัยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนน้ำหนักปรับได้ที่หน้าจอจะเอาแบบ คอมฟอร์ท สแตนดาร์ด หรือ สปอร์ตก็ได้
ส่วนการเดินทางร่วมกับรถนานๆ เบาะนั่งผู้ขับขี่ไม่มีปัญหาอะไร นั่งได้สบาย ทัศนวิสัยดี แต่เมื่อเปลี่ยนมานั่งเบาะหลังซึ่งโปร่งโล่งสบายตา ทั้งพื้นที่เหนือศีรษะ พื้นที่ว่างเท้า พื้นที่ว่างระหว่างเข่ากับเบาะหน้า รวมถึงพื้นที่ว่างด้านข้าง จากโครงสร้างตัวถังที่ค่อนข้างใหญ่
แต่เสียดายว่าในส่วนของเบาะรองนั่งสั้นไปหน่อย ทำให้ไม่รองรับช่วงต้นขาเท่าที่ควร นั่งนานๆ อาจเมื่อยได้ หากเพิ่มให้ยาวอีกนิด หรือ ยกส่วนปลายขึ้นมา กดส่วนรองก้นลงไป ก็น่าจะทำให้ดีขึ้นครับ
โดยรวมกับรถระดับราคานี้กับสิ่งที่ได้ ทั้งเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งาน ออปชั่น และสมรรถนะ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการรถสำหรับครอบครัวย่อม เน้นพื้นที่กว้างขวาง นุ่มนวล สบาย โดยไม่ต้องจ่ายค่าตัวแรงเกินไปครับ