จี๊ป ฟื้นตลาดสายลุย ตั้งกลุ่ม เอ็มจีซี-เอเชีย ตัวแทนรายใหม่ในไทย
ห่างหายจากตลาดเมืองไทยอย่างเป็นทางการไปนาน สำหรับ จี๊ป รถสายลุยสัญชาติอเมริกัน แต่ล่าสุด จี๊ป ตัดสินใจกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ด้วยการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ บริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ เอ็มจีซี-เอเชีย
ในยุคที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐรุ่งเรือง ทำให้ถูกมาใช้อ้างอิงในการพัฒนาของหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยที่ในช่วงดังกล่าวมีเป้าหมายว่า จะต้องก้าวไปสู่การเป็น “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” ให้ได้
ในยุคดังกล่าวรถยนต์สัญชาติอเมริกัน กลุ่ม บิ๊กทรี ตบเท้าเข้าไทย ซึ่งไม่ได้เรียกว่าเป็นครั้งแรก แต่เป็นการกลับมาอีกครั้งหลังจากถอนตัวออกไปเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์การเมืองและสงครามในภูมิภาคอินโดจีน ไม่ว่าจะเป็นฟอร์ด เจเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม และไครสเลอร์
ในส่วนของไครสเลอร์ที่เข้ามาร่วมทุนกับ บริษัท สวีเดน มอเตอร์ส จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัท ไทยไครสเลอร์ ออโตโมทิฟ จำกัด ในปี 2537 ถือว่าสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ให้กับตลาดนั่นคือการเปิดตัวรถเอสยูวี อย่าง จี๊ป เชโรกี ที่ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ แยกกลุ่มรถตรวจการณ์ออกมาจากรถยนต์นั่ง และเสียภาษีต่ำกว่า คือ 27% ทำให้จี๊ปทำราคาได้จูงใจ
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ตามมา ท้ายที่สุด ไครสเลอร์ และรถจี๊ป ก็หายไปจากตลาดเมืองไทย
แต่ล่าสุด จี๊ป กลับเข้ามาในไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยบริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่ม สเตลแลนทิส (Stellantis) ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายจี๊ปอย่างเป็นทางการ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
สำหรับกลุ่มสเตลแลนทิส เกิดจากการรวมตัวกันของ เอฟซีเอ หรือ เฟียต ไครส์เลอร์ ออโตโมบิลส์ จากสหรัฐ กับ กรุ๊ป พีเอสเอ จากฝรั่งเศส ในปี 2564 ทำให้มีรถยนต์ในเครือ 14 ยี่ห้อ และมียอดจำหน่ายอยู่ในอันดับ 4 ของโลก
ส่วนเบลฟอร์ต เป็นกลุ่มธุรกิจในเครือ มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ เอ็มจีซี_เอเชีย กลุ่มทุนไทยรายใหญ่ที่เป็นผู้นำเข้าโรลส์-รอยซ์, แอสตัน มาร์ติน, มาเซราติ, เปอโยต์ เรือยอชท์ อซิมุท และเป็นตัวแทนจำหน่ายบีเอมดับเบิลยู, มินิ, ฮอนด้า และรถจักรยานยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด นอกจากนี้ยังมีธุรกิจรถเช่า รถมือสอง ฯลฯ
โดยปัจจุบัน เบลฟอร์ต เป็นผู้ทำตลาาดรถยนต์เปอโยต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสแตลแลนทิสเช่นเดียวกับจี๊ป
คาร์ล สไมลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ, อินเดียและเอเชียแปซิฟิก สเตลแลนทิส กล่าวว่า การแต่งตั้ง เบลฟอร์ต เป็นผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายรถยนต์ จี๊ป อย่างเป็นทางการ เป็นหนึ่งในการก้าวไปสู่เป้าหมายการขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และเชื่อว่าจะทำตลาดได้ดีในไทยที่มีภูมิประเทศสวยงามเข้ากับดีเอ็นเอของรถ และคนไทยก็คุ้นเคยกับจี๊ปเป็นอย่างดี
“ปัจจุบันจี๊ปมียอดขายในอาเซียน บวกกับอินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย 2 หมื่นคันในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราเติบโตสูงกว่าตลาดรวม 2 เท่า และเชื่อว่าในอนาคตจะขยายตัวได้มากกว่านี้”
สำหรับการทำตลาดในไทย จะเริ่มต้นเปิดตัวรถอย่างเป็นทางการในงาน บางกอก มอเตอร์ โชว์ ปลายเดือน มี.ค. 2 รุ่นหลัก คือ จี๊ป แรงเลอร์ และ จี๊ป เกลดิเอเตอร์ แต่จะมีหลายรุ่นย่อย เช่น 2 ประตู 4 ประตู โดยเบื้องต้นจะเป็นการนำเข้าจากสหรัฐ
“เราเข้าใจดีว่า การนำเข้าจะทำให้รถมีราคาสูง แต่ด้วยความเป็นรถพรีเมียม เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี”
อย่างไรก็ตามเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการขยายตลาดในอนาคต สแตลแลนติส กำลังพิจารณาการขึ้นสายการประกอบรถในภูมิภาคนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด ด้วยการลดภาระภาษีนำเข้า แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสายการผลิตจะเกิดขึ้นที่ใด แต่ก็มองว่าไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สแตลเลนติสมีโรงงานในภูมิภาคนี้ที่มาเลเซียซึ่งปัจจุบันประกอบเปอโยต์ โรงงานที่ร่วมมือกับพันธมิตรในเวียดนามประกอบเปอโยต์ และโรงงานอินเดีย ประกอบ จี๊ป คอมพาส
ทั้งนี้ปัจจุบัน แม้ว่าจี๊ป จะไม่ได้ทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีผู้นำเข้าอิสระนำเข้ามาทำตลาด แต่แม้จะแต่งตั้งเบลฟอร์ตให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่ก็จะไม่เข้าไปดำเนินการอะไรกับผู้นำเข้าอิสระ แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด นอกจากนี้ยังเปิดรับให้บริการกับรถจี๊ปที่มีอยู่ในตลาดแล้วอีกด้วย
“ท้ายที่สุดแล้ว ความแข็งแกร่งของเบลฟอร์ต ก็จะทำให้ตลาดกลับมา”
ด้านจตุพล พุทธวิบูลย์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด เบลฟอร์ต กล่าวว่า โชว์รูมและศูนย์บริการแห่งแรกของจี๊ปจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค. ที่ถนนสุขุมวิท ใกล้ๆ กับ โชว์รูมเปอโยต์ และมีแผนจะเปิดเพิ่มเป็น 5 แห่งภายในปี 2566
และการที่ เอ็มจีซี มีรถในเครือหลายยี่ห้อ เชื่อว่า จี๊ป จะไม่สร้างผลกระทบแต่อย่างใด เพราะเป็นคนละตลาดกัน
“เราทำตลาดรถพรีเมียมหลายยี่ห้อ แต่ยังไม่มีรถพรีเมียมสำหรับการลุยแบบสมบุกสมบัน” จตุพลกล่าว