สวค. ประชุมวางโมเดลประยุกต์วิศวกรรม จัดการทรัพยากรสุขภาพโรงพยาบาล
สัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การประยุกต์ศาสตร์ทางวิศวกรรม ในการจัดการทรัพยากรสุขภาพของโรงพยาบาล” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ งานด้านสาธารณสุข
สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ(สวค.) ภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การประยุกต์ศาสตร์ทางวิศวกรรม ในการจัดการทรัพยากรสุขภาพของโรงพยาบาล” ที่โรงแรม มิราเคิลแกรนด์ โดยมีผู้บริหารโรงพยาบาล พยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม ทางออนไลน์และออนไซต์กว่า 100 คน
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 หน่วยบริการด้านสาธารณสุข ได้นำระบบเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุขในบางพื้นที่ เช่น ระบบการฉีดวัคซีนที่จังหวัดนครราชสีมา การแลกเปลี่ยนข้อมูลของโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น การหาเตียงว่าง หาเครื่องเอกซเรย์ปอด
“หากใช้ระบบสาธารณสุขแบบเดิมก็จะเหนื่อยมาก ถ้านำศาสตร์ด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรมที่ใช้ในการวางแผนทรัพยากรเข้ามาช่วย น่าจะเป็นทิศทางที่ดี ซึ่งการสัมมนาในวันนี้จะมีการถอดบทเรียนทำเป็นโมเดล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุข และต้องคำนึงถึงประสิทธิผลที่ประชาชนจะได้รับด้วย”
ดร.กฤษดา แสวงดี หัวหน้าทีมนักวิจัยและ อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า จุดเด่นที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยประสบความสำเร็จ คือสังคมมีการตื่นตัวและมีความเข้าใจสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่า การรักษาโรคไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลอย่างเดียว มีทางเลือกอื่นๆ ที่ทำได้
ในภาวะวิกฤติ ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ต่างให้ความสนใจการใช้สื่อออนไลน์ และจากบทเรียนของบุคลากรทางการแพทย์ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาทักษะในการรักษาคนไข้ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“เราคาดหวังว่าศาสตร์ด้านวิศวกรรมที่จะใช้ในการวางแผนทรัพยากร และการออกแบบกระบวนการทำงานใหม่น่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการบรรจุบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 30,000 ตำแหน่งเพื่อเป็นข้าราชการ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานหนัก ไม่เช่นนั้นอาจประสบกับปัญหาบุคลากรลาออก เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร”
สำหรับตัวอย่าง การใช้ศาสตร์ทางวิศวกรรม ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสุขภาพ ได้แก่
1.การคาดการณ์ผู้ป่วยโควิด -19 เพื่อเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอต่อการรับมือ
2.การสร้างแบบจำลอง เพื่อดูแลการให้บริการฉีดวัคซีน
3.แนวทางการรับมือ เพื่อระดมทรัพยากรกำลังคน และกระบวนการทำงานที่จำเป็น
4. การจัดตารางเวรเจ้าหน้าที่ด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ เป็นต้น