Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

 

กลายเป็นข้อมูลที่รับรู้กันจนขึ้นใจ ว่าในปี 2564 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะก้าวเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ

เพราะต่างฝ่ายต่างตระหนัก ถึงอุปสรรคสำคัญของการใช้ชีวิตสูงวัย คือความอ่อนล้าของ “กาย” ที่ไม่เท่ากับวัยหนุ่มสาว  จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองคนเดียวได้ กลายเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดของทุกภาคส่วน ซึ่งต้องลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการสร้างเมืองสำหรับคนสูงวัย....

หากแต่โจทย์สำคัญของเมืองผู้สูงวัย ไม่ใช่เพียง....เพราะปลายทางแท้จริง คือต้องออกแบบอย่างไรให้คนที่อยู่ในเมืองนี้มีความสุขแท้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำเนินชีวิตในชุมชน สังคมได้อย่างปกติสุข ที่สำคัญทั้งผู้สูงอายุต้องมีส่วนร่วมในสังคม ไม่ใช่ภาระหรือ “ส่วนเกิน” ของสังคม

 

โฉมหน้า Age – Friendly City ของโลก

 

ปัญหาผู้สูงอายุเป็นปัญหาสำคัญทั้งระดับโลก และระดับชาติ  ซึ่งเรื่องนี้ ในมุมมองนักวิชาการ อย่าง  รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์สถานการณ์แบบตรงจุดว่า มีความเป็นไปได้ที่ว่า ประเทศไทยอาจเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยอัตราเร่งที่เร็วขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้าแน่นอน

ขณะที่ในด้านสถานการณ์โลก จากการคาดการว่าจะมีผู้สูงอายุที่เกี่ยวข้อง 180 ล้านคนทั่วโลก ทำให้องค์การสหประชาติมีแนวทางผลักดันเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญระดับโลก โดยได้กำหนด 8 กรอบของการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ  (Age - Friendly City)   ได้แก่ 1.ที่อยู่อาศัย 2.การเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม 3.การได้รับการยอมรับในสังคม 4.การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและการจ้างงาน 5.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 6.การสนับสนุนของชุมชนและการบริการด้านสุขภาพ 7.สภาพพื้นที่ภายนอกและตัวอาคารและ8.ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น 

โดยปัจจุบันเกิดเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 541 เมืองทั่วโลก แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือในภูมิภาคบ้านเราแทบไม่มีเลย

 “อีกสิ่งที่ข้อมูลค้นพบคือ จริงๆ แล้ว ผู้สูงอายุทั่วโลกเขายังอยากอยู่ที่เดิม ไม่มีใครคิดอยากย้ายไปอยู่ในเมืองที่ทางการจัดให้ ดังนั้นทางออกก็คือแนวทางปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมของผู้สูงอายุเพื่อให้มีความปลอดภัยและเอื้อสำหรับการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย”

รศ.ไตรรัตน์ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเกือบ 38% และมี “อาคิตะ” เป็นเมืองแรกของญี่ปุ่นที่ประกาศเสนอตัวจะเป็น Age - Friendly City มาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งภูมิประเทศของอาคิตะคือเป็นเมืองชนบท ที่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมาก เป็นเมืองชนบท มีธรรมชาติ อากาศดี และความเงียบสงบ

เฉกเช่นเดียวกับในอังกฤษเมืองที่เสนอตัวเป็นเมืองเป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุก็เป็นเมืองชนบท ที่กำลังมีผู้สูงอายุถึง 42% เหล่านี้ทำให้สังเกตได้ว่าเมืองที่เหมาะสมจะเป็น Age - Friendly City ไม่ควรเป็นเมืองใหญ่ แต่น่าจะเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีความสงบ ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่สามารถสะดวกเดินทางและมีสิ่งแวดล้อมที่รองรับการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์

ในด้านพื้นฐานเรื่องการออกแบบนั้น รศ.ไตรรัตน์ เอ่ยว่าในกรอบ 8 เรื่องที่สหประชาชาติกำหนดนั้น หากีครบเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุกชุมชนไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามนั้นเสมอไป สามารถปรับลดหรือเพิ่มได้ตามความเหมาะกับบริบท แต่ละพี้นที่สามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ได้

“ในด้านการออกแบบ หากพื้นที่ดีต้องการศึกษาหรือสนใจ ปัจจุบัน ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมมือและให้ทุนกับทางมหาวิทยาลัยหลายแห่งจัดตั้งศูนย์ Universal Design Center ขึ้น ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในเรื่องการออกแบบที่ทุกหน่วยงานหรือชุมชนสามารถเข้าไปหาเพื่อปรึกษาในการออกแบบพื้นที่เพื่อผู้สูงวัยได้ “

 

อีกหนึ่งเสียงของผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมโดยตรง ผศ.ยศชนันท์ วงศ์สวัสดิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลสนับสนุนเรื่องนี้ว่า การนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะสุขภาพไม่แข็งแรง และข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ จึงควรใช้พัฒนาเครื่องมือต่างๆ มาช่วย เพื่อทำให้ผู้สูงวัยดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งคนดูแล

สำหรับนวัตกรรม “อัจฉริยะ” ที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับวิถีชีวิตสูงวัย กูรูด้านเทคโนโลยีอย่าง ผศ.ยศชนันท์ แนะนำว่าควรโฟกัส  4 เรื่องหลักๆ ด้วยกันคือ Smart Farm /Smart Home/ Smart City และ Assistive Technology ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ ผู้สูงอายุและคนใกล้ตัวในชุมชนก็สามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยการค้นหาไอเดียจากสิ่งรอบตัว

 “ในเมื่อเครื่องมือบางอย่างไม่มีขายหรือราคาแพง เราลองทำเองดูไหม ข้อมูลพวกนี้ ผมแนะนำเลยว่า ทุกอย่างมีในอินเทอร็เน็ต แค่เราพิมพ์หาจากกูเกิล ด้วยคีย์เวิร์ดว่า D.I.Y แล้วต่อท้ายด้วยเรื่องที่เราอยากค้นหา ก็จะพบแหล่งข้อมูลทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งวิธีทำเสร็จสรรพ หรือหากใครอยากได้ของดีราคาถูกให้หาด้วยคำว่า สตาร์ทอัพ  หรือเว็บไซต์ Hackster  แล้วลองหาวัสดุ รวมถึงช่างแถวบ้าน วิทยาลัยเทคนิค ใกล้ตัวนี่แหละคือขุมทรัพย์ที่เราทำเองได้ แถมยังเป็นงานอดิเรกกิจกรรมที่สนุกๆ ได้”

 

หนุ่มสาวในวันนี้ สูงวัยในวันหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับปรุงเมืองเพื่อผู้สูงวัยจะเป็นเรื่องที่ดี และเทคโนโลยีก็ตอบโจทย์ได้ หากทุกฝ่ายต่างยืนยันว่า หัวใจสำคัญของการสร้างเมืองที่เป็นมิตร คือ การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุและคนในชุมชน

รศ.ไตรรัตน์ย้ำชัดว่ากรอบที่กำหนดไว้ 8 เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบทั้งจากผู้สูงอายุเอง เกิดจากชุมชน และสังคมมีส่วนร่วม

“หลายคนคิดเรื่องการปรับปรุงเรื่องผู้สูงอายุจะเริ่มจากการปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยก่อน แต่ความจริงเวลาเราพูดถึงเมืองสำหรับผู้สูงอายุ อันดับแรกที่ควรเริ่มคือต้องดึงให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมก่อนเป็นสิ่งสำคัญ”

อีกรายที่มาช่วยสะท้อนข้อเท็จจริงดังกล่าว คือ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นหนึ่งจังหวัดที่กำลังมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ราว 19% เป็นแบบอย่างของ การความสำเร็จของการมีส่วนร่วม          

ผู้ว่าฯ พิจิตรย้ำถึงสาเหตุที่งบประมาณเกี่ยวกับงานผู้สูงอายุของจังหวัดได้รับการจัดสรรมากที่สุดในประเทสไทย ถึง 77 ล้านบาทนั้นเกิดจากการได้เห็นการให้ความสำคัญของคนในพื้นที่

“คนพิจิตรทำครบทั้ง 8 เรื่อง องค์ประกอบที่เป็นมิตรผู้สูงอายุ เหตุผลเกิดจากการที่คนพิจิตรให้ความสำคัญอยู่ก่อนแล้วที่ผู้ว่าฯ จะเข้าไป แต่การให้ผู้ว่าเข้าไปมีส่วนร่วมคือกุศโลบายที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญและยิ่งสร้างการมีส่วนร่วม งบดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีเสียงเรียกร้องความต้องการจากประชาชนคนพิจิตรเอง”

ซึ่งเหตุผลที่คนพิจิตรต่างให้ความสำคัญนั้นเกิดจากทุกคนตระหนักดีว่า ในวันข้างหน้า “ทุกคน” ก็จะต้องก้าวเป็นผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ในฐานะผู้สูงอายุสำรองอย่างพวกเรา หากเราไม่เริ่มต้นเอง ใครจะให้ความสำคัญ เรื่องเหล่านี้เราต้องพึ่งตัวเองก่อนอย่าไปพึ่งลูกหลาน ซึ่งพอเราให้ความสำคัญทุกคนในสังคมก็ต้องให้ความสำคัญตามไปด้วย”


การตื่นตัวในภาคนโนบาย

 

“องค์การอนามัยโลกนิยามเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ คือ เมืองที่ผู้ให้บริการด้านต่างๆ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำความเชื่อ ศาสนา คนในภาคธุรกิจเอกชน และความเป็นพลเมือง การเห็นคุณค่าในความหลากหลายในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ และความสำคัญของสุขภาพของผู้สูงอายุต้องมีการสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันของผู้สูงอายุในทุกๆด้านของชีวิตในชุมชน และทางเลือกในวิถีการใช้ชีวิต เป็นต้น”

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวขึ้นตอนหนึ่งในการจัดงาน “นวัตกรรมเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” (Age - Friendly City) ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ เป็นหนึ่งในขับเคลื่อนของ พม.  ที่ตระหนักถึงภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ในหลายมิติเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ภายใต้ "ไทยแลนด์ 4.0”  พร้อมกำหนด Road Map ด้านนวัตกรรมประจำเดือนตลอดทั้งปีงบประมาณ 2561 ภายใต้โครงการ "ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0” โดยใช้แนวทางสานพลังประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ด้านอีกหน่วยงานหนุนเสริมการทำงานที่ขาดไม่ได้ อย่าง สสส. ที่ได้ดำเนินโครงการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการสนับสนุนศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อออกแบบและปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและเอื้อต่อการใช้งานของทุกคนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เปิดใจถึงที่มาโครงการนี้ว่าเกิดจากการที่รับทราบข้อมูลว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตเพราะการพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยพบว่ากว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหักจะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก

“บางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองและต้องมีคนดูแลตลอดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า เพียงร้อยละ 24.6 ของบ้านที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัย มีเพียงร้อยละ 15.2 มีการติดราวในห้องน้ำ และมีราวเกาะในห้องนอนเพียง ร้อยละ 5.8 เท่านั้น”

วันนี้ หากเอ่ยถามว่าปัจจุบันผู้สูงอายุมีความพึงพอใจในปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมของเมืองที่รองรับสังคมผู้สูงอายุมากเพียงไหน เชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้าง “น้อย”

ซึ่งหากคนในสังคมยึดแนวทางการจัดการเมืองสำหรับผู้สูงอายุที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงสามเสาหลักการมีคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ได้แก่ การมีสุขภาพที่พึงประสงค์ การสนับสนุนการมีสวนร่วมของผู้สูงอายุ และการสร้างหลักประกันด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ เชื่อว่าองค์ประกอบเหล่านี้สามารถสะท้อนกลับมาสู่แนวทางการสร้างเมืองหรือชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ที่เรียกว่า Age - Friendly City ได้

  Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?

Age – Friendly City ฤาจะเป็นเมืองในฝันของคนสูงวัย ?