ถอดรหัสเมื่อเฟดลดดอกเบี้ยส่งท้ายปี แต่หุ้นตก

ถอดรหัสเมื่อเฟดลดดอกเบี้ยส่งท้ายปี แต่หุ้นตก

วันพุธที่แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ตรงกับที่ตลาดการเงินคาด แต่ได้ปรับลดประมาณการการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีหน้าลง จาก 4 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงแรงเมื่อรับข่าว ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในวันเดียวกัน สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง 

คําถามคือ อะไรกําลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินสหรัฐและจะส่งผลอย่างไรต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและอัตราดอกเบี้ยโลกในปีหน้า นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ของธนาคารกลางสหรัฐเมื่อวันพุธ เป็นการปรับลดครั้งที่สามปีนี้ต่อเนื่องจากที่ปรับลดลงในเดือน ก.ย.และ พ.ย. ทําให้ปีนี้ทั้งปีเฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 1% เต็ม ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 4.25-4.50 ต่อปี

ในการแถลงข่าว เฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้เติบโตดี ขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสสาม ใกล้เคียงกับที่ขยายตัวในไตรมาสสอง ขณะที่ความร้อนแรงในตลาดแรงงานลดลงและอัตราเงินเฟ้อกําลังกลับสู่เป้าที่ร้อยละ 2 การขยายตัวของเศรษฐกิจได้ประโยชน์จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวขณะที่ข้อจํากัดด้านอุปทานผ่อนคลายลง 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอ่อนแอ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับตํ่าที่ร้อยละ 4.2 การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างเริ่มลดลง ทําให้ตลาดแรงงานไม่เป็นแรงส่งหรือเป็นที่มาของเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อลดลงแต่ยังสูงเทียบกับเป้าที่ร้อยละ 2 ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 2.7 เดือนพ.ย. และเฟดมองว่าความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายในการทํานโยบายการเงินของเฟดคือ การจ้างงานและเงินเฟ้อ ขณะนี้ค่อนข้างสมดุล

สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด เฟดยอมรับว่าความเห็นในคณะกรรมการมีความแตกต่าง เพราะเศรษฐกิจขยายตัวดี ความร้อนแรงในตลาดแรงงานเริ่มลดลง และการปรับลดของเงินเฟ้อก็กําลังเกิดขึ้น แม้ระดับจะยังสูง แต่อัตราดอกเบี้ยที่ตํ่าลงน่าจะช่วยประคับประคองตลาดแรงงานให้ปรับตัวลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการปรับลดดังกล่าวก็ตรงกับที่ตลาดการเงินคาด

แต่ที่แตกต่างไปและเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินไม่ได้คาดไว้ก่อนหน้าการประชุมเมื่อวันพุธ คือ ภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะต่อไป ซึ่งต่างไปจากภาพที่ให้ไว้เมื่อเดือน ก.ย.มาก คือ เฟดมองการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้และปีหน้าที่ร้อยละ 2.5 และ ร้อยละ 2.1 ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2 เมื่อเดือน ก.ย. มองอัตราการว่างงานปีนี้และปีหน้าที่ร้อยละ 4.2 และ 4.3 ตํ่ากว่าร้อยละ 4.4 ที่ให้ไว้เดิม 

มองอัตราเงินเฟ้อปีนี้ที่ร้อยละ 2.4 และปีหน้าที่ร้อยละ 2.5 และจะเข้าสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2.0ในอีกสามปีข้างหน้าคือปี 2027 เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ปีนี้และร้อยละ 2.1 ปีหน้า ที่สําคัญมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ร้อยละ 4.4 สิ้นปีนี้ และร้อยละ 3.9 สิ้นปีหน้า ซึ่งหมายถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในปีหน้า เทียบกับที่ประเมินไว้เดิมที่ร้อยละ 3.4 สิ้นปีหน้า คือ อัตราดอกเบี้ยลดลงสี่ครั้งในปีหน้า

ภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปทําให้ตลาดการเงินผิดหวัง เพราะชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าร้อยละ 2 จะยืนระยะนานกว่าที่อยากเห็น ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะยืนระยะนานกว่าที่คาดไว้เดิม คืออัตราดอกเบี้ยลดลงช้า ส่งผลให้ตลาดการเงินปรับตัวในทางลบ ตลาดหุ้นสหรัฐลดลงกว่าร้อยละ 3 ในวันเดียว และตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลงตาม ราคาทองดิ่ง เงินดอลลาร์แข็งค่าเพราะอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะปรับลดช้า 

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ซึ่งเป็นตัวยึดของอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะยาวทั่วโลกปรับสูงขึ้น สวนทางกับการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ชี้ว่าตลาดพันธบัตรให้ความสําคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและปัจจัยพื้นฐานมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

คําถามคือ ทําไมเพียงแค่สามเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดมองภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่างไปจากเดิมมาก และทิศทางอัตราดอกเบี้ยปีหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ ผมอยากให้ความเห็นดังนี้

1.ช่วงสามเดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อสหรัฐค่อนข้างหนืด ไม่ปรับลงต่อเนื่อง คือ จากอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ที่ร้อยละ 2.9 ลดลงเป็นร้อยละ 2.5 เดือน ส.ค.และร้อยละ 2.4 เดือน ก.ย. แต่เพิ่มเป็นร้อยละ 2.6 เดือน ต.ค. และร้อยละ 2.7 เดือน พ.ย. ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค.และ พ.ย.ทําให้เฟดตระหนักว่าการลดลงต่อเนื่องของเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องง่าย ทําให้การลดอัตราดอกเบี้ยจึงต้องระมัดระวังมากขึ้น และนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทําให้ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินในการประชุมเมื่อวันพุธไม่เป็นเอกฉันท์ว่าควรลดดอกเบี้ยหรือไม่

2.เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะแวดล้อมใหม่ ที่เศรษฐกิจขยายตัวดี อัตราเงินเฟ้อเหนียวหนืดคือปรับลงยาก และความไม่แน่นอนทางนโยบายมีมากขึ้นโดยเฉพาะนโยบายภายใต้รัฐบาลใหม่ คือ ทรัมป์ 2.0 ที่ล้วนแต่จะสร้างแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐปรับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นภาษีศุลกากร หรือการลดภาษีเงินได้ ทําให้มีความไม่แน่นอนว่าเเรงกดดันต่อเงินเฟ้อในสหรัฐปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะลงต่อหรือเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนนี้ทําให้เฟดเลือกที่จะขยับตัวในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าลงกว่าที่ให้ความเห็นไว้เดิม

3.เป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 เป็นเป้าที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้มานาน ตั้งแต่เศรษฐกิจโลกอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกต่ำ ระบบการค้าเป็นการค้าเสรี และการเมืองโลกมีเสถียรภาพ แต่ปัจจุบันทุกอย่างได้เปลี่ยนไป เศรษฐกิจโลกแตกแยก การค้าขายแบ่งเป็นกลุ่มตามนัยทางการเมือง การกีดกันทางการค้ามีมากขึ้น และการเมืองโลกไม่มีเสถียรภาพ มีการสู้รบในหลายพื้นที่ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม จึงมีคําถามว่าเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ยังมีความเหมาะสมหรือไม่กับความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน

ดังนั้น ปีหน้าความไม่แน่นอนทางนโยบายจะมีมาก โยงกับทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายของประเทศหลัก เช่น สหรัฐ และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ความผันผวนในตลาดการเงินจะมีมากขึ้นตามไปด้วย ทิศทางอัตราดอกเบี้ยคงคาดเดายาก เพราะจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและข้อมูลล่าสุดเป็นหลัก ทําให้ปีหน้าเป็นปีที่นักลงทุนควรต้องเพิ่มความระมัดระวังและยึดปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก