ทีม IDEA LAB ฟีโบ้ พัฒนาโปรแกรมวินิจฉัยวัณโรคจากฟิล์ม x-ray
ผลงานการวินิจฉัยวัณโรคจากฟิล์มเอกซเรย์อัตโนมัติ โดยใช้ Machine Learning จากทีม IDEA Lab
ผลงานการวินิจฉัยวัณโรคจากฟิล์มเอกซเรย์อัตโนมัติ โดยใช้ Machine Learning จากทีม IDEA Lab พัฒนาโดยนายปฐมพงศ์ สินธุ์งาม นายธีรวร อภิชนาพงศ์ นายอุกฤษฎ์ เลิศวรรณาการ นายฐณพงศ์ ช่วงยรรยง นักศึกษาระดับปริญญาตรี และ อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภท Open Topic จากการแข่งขันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 2561 (AIROBIC 2018)
Machine Learning ผลงาน AI ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรควัณโรคเบื้องต้นจากฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อช่วยลดภาระงานแพทย์ที่ปัจจุบันแพทย์ต้องอ่านฟิล์ม เอกซเรย์จำนวนมาก ใช้เวลานาน แต่หากมีเครื่อง Machine Learning ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจะช่วยคัดกรองแยกผู้ป่วยที่เครื่องมีความมั่นใจว่าไม่เป็นผู้ป่วยวัณโรคก็จะสามารถแยกผู้ป่วยเหล่านี้ออกมาได้ ลดการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ของแพทย์ได้มาก
นายอุกฤษฎ์ เลิศวรรณาการ นักศึกษาฟีโบ้ มจธ. เล่าถึงการออกแบบโปรแกรม AI ผลงาน Machine Learningว่า การทำงานของโปรแกรมจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก นำข้อมูลแผ่นเอกซเรย์ปอดเข้าเครื่อง เนื่องจากแผ่นเอกซเรย์จะติดอวัยวะส่วนอื่นด้วย เช่น แขน โครงกระดูก โดยโปรแกรมจะแยกเฉพาะส่วนรูปปอดออกมา เพื่อนำไปวินิจฉัย ส่วนที่สองจะมี AI อีกตัว ที่จะวินิจฉัยว่าฟิล์มเอกซเรย์นั้น เป็น หรือไม่เป็น โรควัณโรค พร้อมกับเครื่องจะแสดงความมั่นใจของการวินิจฉัยเป็นเปอร์เซ็นต์ ในช่วงการพัฒนาโปรแกรม ทางทีมมีข้อมูลฟิล์มเอกซเรย์ตัวอย่างจากโรงพยาบาลที่มีผลการตรวจจากในห้องแล็บ ทำให้สามารถนำมาพัฒนาโปรแกรม และทดสอบความแม่นยำ โดยขณะนี้การทดสอบพบว่าเครื่องมีความแม่นยำเมื่อเทียบกับผลตรวจจริง ประมาณ 80%
อาจารย์บวรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเครื่องวินิจฉัยวัณโรคจากฟิล์ม x-ray อัตโนมัติ โดยใช้ Machine Learning หากได้พัฒนาต่อยอดและทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ในอนาคตมีเครื่องติดตั้งอยู่ตามโรงพยาบาล จะสามารถคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ลดค่าใช้จ่าย และลดภาระงานให้กับแพทย์ได้