สิริมงคลรับปีใหม่ สักการะ 9 พระพุทธรูปของแผ่นดินจาก 9 นครโบราณมหามงคลของไทย
รู้จักประวัติและพุทธศิลป์ 9 พระพุทธรูปสำคัญของแผ่นดิน ก่อนไปร่วมกิจกรรม ‘นบพระปฏิมา 9 นครามหามงคล 2568’ สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2568 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เนื่องในเทศกาล ปีใหม่ พ.ศ.2568 กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมพิเศษ นบพระปฏิมา 9 นครามหามงคล 2568 เปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะ พระพุทธรูป ที่กอปรด้วยพุทธศิลป์อันงดงาม มีประวัติความเป็นมาจากนครโบราณต่าง ๆ ของไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่
สืบเนื่องจาก คติการสร้างพระพุทธรูป เป็นการสร้างขึ้นเพื่อแทนคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย
- พระมหากรุณาธิคุณ (มีคุณด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก)
- พระวิสุทธิคุณ (มีคุณด้วยจิตวิสุทธิ์)
- พระปัญญาธิคุณ (มีคุณด้วยปัญญา)
กรมศิลปากร จัดกิจกรรม 'นบพระปฏิมา 9 นครามหามงคล' รับปี 2568
พระพุทธรูปจึงมิใช่เพียงรูปเสมือนจริง แต่สร้างขึ้นตามอุดมคติตามแนวของ มหาบุรุษ ผู้บำเพ็ญบารมีพร้อมสมบูรณ์กอปรด้วยความงาม ตามสุนทรียภาพหรือความรู้สึกถึงความงดงามของช่างฝีมือแต่ละยุคสมัย
พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่สร้างขึ้น ต่างมีคุณลักษณะเปี่ยมด้วย สรรพสิริสวัสดิมงคลต่าง ๆ อันเป็นเครื่องน้อมนำให้พระพุทธศาสนิกชนยึดมั่น ศรัทธาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นกุศโลบายให้ตรึกถึง พระธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
พระพุทธรูปในกิจกรรม นบพระปฏิมา 9 นครามหามงคล 2568 ประกอบด้วยพระพุทธรูปสำคัญของแผ่นดิน 9 องค์จาก 9 นครโบราณของไทย ดังนี้
พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองเชียงใหม่
ศิลปะ: ล้านนา พุทธศตวรรษที่ 19-20 (600-700 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 31.2 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 14.3 เซนติเมตร
ประวัติ: ขุดได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ด้วยวิธีเสี่ยงทาย) พระโอรสและพระธิดาประทานยืม
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ พระวรกายเพรียวบาง และชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กยาวพาดพระอังสาเหนือพระนาภี ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบ ‘เชียงแสนสิงห์หนึ่ง’ กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย
พระพุทธรูปองค์นี้ มีประวัติระบุว่าชาวกะเหรี่ยงขุดได้จึงนำมาถวายครูบาเจ้าศรีวิชัย ครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จประพาสมณฑลพายัพ พ.ศ.2464 ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม 2 พระหัตถ์ เมืองลพบุรี
ศิลปะ: ลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18-19 (700-800 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 65 เซนติเมตร กว้าง 23 เซนติเมตร
ประวัติ: พระยาพินิจสารา ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระโอรสและพระธิดาประทานยืม
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องแสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ พระองค์นี้จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธรูปในศิลปะเขมรโบราณแบบบายน
รูปแบบพระพุทธรูปลักษณะดังกล่าวพบมากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ “เมืองลพบุรี” ในเวลาต่อมากลุ่มชนชั้นปกครองของเมืองลพบุรีที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ราชวงศ์อู่ทอง” ได้รวมอำนาจเข้ากับราชวงศ์สุพรรณภูมิสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1893
พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองสรรคบุรี จ.ชัยนาท
ศิลปะ: ลพบุรี ก่อนอยุธยาแบบอู่ทองรุ่นที่ 1 พุทธศตวรรษที่ 19 (700 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 29.5 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร
ประวัติ: ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากเมืองสรรค์ (อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท)
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย จากพุทธศิลป์แสดงความคาบเกี่ยวกับพระพุทธรูปในช่วงปลายของศิลปะลพบุรี พบมากบริเวณเมืองโบราณก่อนสมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท จนในอดีตขนานนามพระพุทธรูปกลุ่มนี้ว่า “พระเมืองสรรค์”
เมื่อภายหลังการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา เมืองสรรคบุรีจึงกลายเป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงและเมืองหน้าด่าน
พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย เมืองสุโขทัย
ศิลปะ: สุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 (600 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 77 เซนติเมตร
ประวัติ: สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย พุทธลักษณะพระพักตร์รูปไข่ มีพระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ครองจีวรห่มคลุมเรียบไม่มีริ้วและจีวรแนบพระวรกาย อันเป็นรูปแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
บริเวณส่วนฐานด้านหลังของพระพุทธรูปมีจารึกอักษรไทยภาษาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ว่า “วัดกะพังทอง เมืองโสกโขไทย” ดังนั้นสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากวัดตระพังทอง ภายในเมืองเก่าสุโขทัย
พระพิมพ์ลีลาในซุ้มเรือนแก้ว (พระกำแพงศอก) เมืองสุพรรณบุรี
ศิลปะ: อยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20 (600 ปีมาแล้ว)
ขนาด: กว้าง 11 เซนติเมตร สูง 32 เชนติเมตร
ประวัติ: ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี
พระพิมพ์เนื้อชินรูปพระพุทธเจ้าในอิริยาบถลีลาภายในเรือนแก้ว พบมากในกรุพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี จึงสันนิษฐานว่าน่าจะได้จากกรุนี้เช่นกัน
นิยมเรียกกันทั่วไปว่า "พระกำแพงศอก" ตามขนาดของพระพิมพ์ที่ค่อนข้างใหญ่ จึงไม่สามารถพกติดตัวได้ มักบูซาที่บ้านเรือน โดยมีความเชื่อถือว่าเป็นพระพิมพ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันอัคคีภัยได้
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนครศรีอยุธยา
ศิลปะ: อยุธยาตอนต้น แบบอู่ทองรุ่นที่ 3 พุทธศตวรรษที่ 20 (600 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 54.5 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 26 เซนติเมตร
ประวัติ: ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม พ.ศ. 2501
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย พุทธศิลปะของพระพุทธรูปองค์นี้นักวิชาการเรียกว่า “ศิลปะแบบอู่ทอง” ด้วยเชื่อว่ารูปแบบศิลปะนี้เกิดขึ้นในช่วงของรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง และจำแนกออกเป็น 3 รุ่น
สำหรับวัดราชบูรณะสถานที่พบพระพุทธรูปองค์นี้นั้น สร้างขึ้นโดยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
จากการขุดค้นภายในกรุพระปรางค์ พบพระพุทธรูปศิลปะต่างๆ จำนวนมาก โดยพระพุทธรูปในกลุ่มศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 พบมากที่สุดจำนวนกว่า 356 องค์
พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองนครศรีธรรมราช
ศิลปะ: อยุธยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ 21-22 (400-500 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 59 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 27.5 เซนติเมตร
ประวัติ: สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2522
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสกุลช่างนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่ได้รับรูปแบบมาจากพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรสมัยอยุธยาตอนกลาง (พุทธศตวรรษที่ 21-ต้นพุทธศตวรรษที่ 23)
มีแรงบันดาลใจและรูปแบบจากพระพุทธสิหิงค์ หรือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนา ตามตำนานระบุว่าเมื่อพระพุทธสิหิงค์เชิญมาจากประเทศศรีลังกาเคยพักประดิษฐานที่นครศรีธรรมราชก่อนอัญเชิญไปเมืองสุโขทัย
พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ เมืองพิษณุโลก
ศิลปะ: อยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ 21-22 (400-500 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 50.5 เซนติเมตร กว้าง 13.5 เซนติเมตร
ประวัติ: ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากมณฑลพิษณุโลก
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อย ตามประวัติกล่าวว่าได้มาจากพื้นที่มณฑลพิษณุโลก ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2435 ประกอบด้วยเมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก โดยมีเมืองเอกคือเมืองพิษณุโลก
สำหรับเมืองพิษณุโลกเดิมมีนามว่า “สองแคว” เรียกตามสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลำน้ำสองสายบรรจบกันบริเวณพื้นที่ทิศเหนือนอกตัวเมืองพิษณุโลก คือแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) และแม่น้ำแควน้อย
พระชัย เมืองนครราชสีมา
ศิลปะ: อยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22–23 (300-400 ปีมาแล้ว)
ขนาด: สูงพร้อมฐาน 25 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 15.4 เซนติเมตร
ประวัติ: ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากไหนไม่ปรากฏ
พระพุทธรูปปางมารวิชัยบนพระวรกายโดยรอบปรากฎมีจารึกพระคาถาอักษรขอม คติการสร้างพระชัยประจำตัวแม่ทัพยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ เพื่อคุ้มครองป้องกันภัย
นอกจากนี้ยังพบการสร้างพระชัยสำหรับเมืองเพื่อเป็นมิ่งขวัญและสวัสดิมงคล ดังตัวอย่าง พระชัยเมืองนครราชสีมา เมืองหน้าด่านสำคัญที่ป้องกันข้าศึกจากทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ
9 พระพุทธรูปแห่งแผ่นดินในกิจกรรม ‘นบพระปฏิมา 9 นครามหามงคล 2568’
พระพุทธรูปสำคัญทั้ง 9 องค์นี้ กรมศิลปากรอัญเชิญมาจากส่วนจัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน 4 องค์, คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 องค์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จำนวน 1 องค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จำนวน 1 องค์
โดยประดิษฐานให้ประชานได้สักการะภายใน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งประชาชนก็จะได้มีโอกาสสักการะ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งเป็นพระประธานภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระพุทธสิหิงค์ ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระพุทธสิหิงค์ เป็นศิลปะล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 (500 ปีมาแล้ว) ขนาดสูงพร้อมฐาน 135 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร องค์พระสูง 79 เซนติเมตร
ตามประวัติบันทึกว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช 2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พุทธศิลป์ของ ‘พระพุทธสิหิงค์’ เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาแสดงปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณหลายแห่ง นับแต่สุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมกิจกรรม นบพระปฏิมา 9 นครามหามงคล 2568 ได้ภายในที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันนี้ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 เวลา 09.00 – 16.00 น.