Golden Boy สารพัดเรื่องก้ำกึ่งในโซเชียลฯ กรมศิลป์ยันวันนี้ยังไม่มีบทสรุป
สัมภาษณ์พิเศษ นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้คืน 'Golden Boy' สำคัญอย่างไร เรื่องก้ำกึ่งในโลกโซเชียลมีเดีย คือประติมากรรมพระศิวะ? บุรีรัมย์? คนขุดพบ? ขณะนี้ทุกประเด็นยังไม่มีที่สิ้นสุดในมุมวิชาการกรมศิลป์
KEY
POINTS
- สัมภาษณ์พิเศษ นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ประเทศไทยได้ 'Golden Boy' กลับคืนมา มีความสำคัญอย่างไร
- หลายเรื่องก้ำกึ่ง 'โกลเด้น บอย' ในโลกโซเชียลมีเดีย คือประติมากรรมพระศิวะ? บุรีรัมย์? คนขุดพบ? กรมศิลป์ยืนยันขณะนี้ทุกประเด็น 'ยังไม่มีที่สิ้นสุด' ในมุมวิชาการ
- ขณะนี้เรียก 'ประติมากรรมพระศิวะ' ตามเอกสารจาก The MET มีทะเบียนที่ระบุว่าเป็นอะไรจากเอกสารตั้งต้น หลัง 'กรมศิลปากร' ศึกษาวิจัยแล้วพบว่าเป็นอะไร พร้อมคำอธิบายประกอบที่เชื่อถือ ยอมรับพร้อมกันได้ในสังคม ก็เป็นงานวิชาการภายหลังจากนี้
- “โบราณวัตถุดังกล่าว เป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรม” มร.จอห์น กาย ภัณฑารักษ์ แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน กล่าวในพิธีมอบคืน Golden Boy
เปิดให้ประชาชนเข้าชมแล้ว โบราณวัตถุ อายุ 900 ปี จำนวน 2 ชิ้น ซึ่ง กรมศิลปากร เป็นตัวแทนประเทศไทยรับมอบคืนจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิธีรับมอบ 2 โบราณวัตถุคืนจาก The MET
โบราณวัตถุชิ้นที่ได้รับการกล่าวถึงมากมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีข่าว The MET มีความประสงค์ส่งคืนให้กับประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าของโบราณวัตถุชิ้นนี้ คือประติมากรรมที่ The MET เรียกว่า Shiva sculpture หรือ ‘ประติมากรรมพระศิวะ’ ซึ่งขณะจัดแสดงอยู่ที่ The MET มีชื่อเสียงและเป็นรู้จักกันในนามแบบลำลองว่า Golden Boy ประติมากรรมสัมฤทธิ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16
แต่สำหรับ ‘กรมศิลปากร’ Golden Boy จะเป็นประติมากรรมพระศิวะหรือไม่ นางสาว นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่าเป็นประเด็นที่นักวิชาการจะได้ศึกษาวิจัยหาคำตอบต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องราวอื่นๆ ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย ยังไม่มีคำตอบซึ่งเป็นที่สิ้นสุด
คำตอบยังไม่เป็นที่สิ้นสุด
ประติมากรรมรูปบุรุษ ค้นพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ (credit: กรมศิลป์)
ในการเปิดให้ประชาชนเข้าชมโบราณวัตถุทั้งสองชิ้น กรมศิลปากรยังนำ ประติมากรรมรูปบุรุษที่ค้นพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ ปกติจัดแสดงอยู่ที่ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย’ มาจัดแสดงร่วมกับ Golden Boy เนื่องจากเห็นว่ามีรูปแบบศิลปะใกล้เคียงกัน
“ประติมากรรมสัมฤทธิ์ในพุทธศตวรรษที่ 16 นั้นพบได้ไม่มาก ประติมากรรมส่วนใหญ่ที่เราเห็นมักเป็นหิน ถ้าเป็นสัมฤทธิ์มักเป็นพระพุทธรูป, ประติมากรรมสัมฤทธิ์ Golden Boy จึงถือเป็นมาสเตอร์พีซ
ประชาชนสนใจเข้าชม Golden Boy
ขณะเดียวกันในประเทศไทยเอง พบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญเมื่อปีพ.ศ.2532 จากการขุดแต่งโบราณสถานสระกำแพงใหญ่ที่จังหวัดศรีสะเกษ
กรมศิลปากรพบว่ามีประติมากรรมสัมฤทธิ์ชิ้นหนึ่งนอนอยู่ แต่ก็ไม่มีจารึกบอกว่าเป็นใคร และไม่มีสัญลักษณ์บอกว่าเป็นพระศิวะเช่นเดียวกับที่เป็นประเด็นกับ Golden Boy ชิ้นนี้
แต่จากท่ายืน บางคนก็จะบอกว่าเป็นทวารบาล แต่ถ้าเป็นทวารบาลก็มักไม่ทำด้วยสัมฤทธิ์ ก็ยังเป็นประเด็นศึกษาอยู่ ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากเราพบชิ้นงานไม่มาก
เหตุที่นำ ‘ประติมากรรมบุรุษที่สระกำแพงใหญ่’ มาเทียบเคียงกับ Golden Boy เนื่องจากเป็นประติมากรรมวัสดุสัมฤทธิ์เหมือนกัน อยู่ในช่วงเวลาหรือยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน ด้วยมีรูปแบบความนิยมที่เราเรียกว่า ‘รูปแบบศิลปะ’ ใกล้เคียงกัน องค์ประกอบเทคนิควิธีการหล่อที่ใกล้เคียงกัน
มีเทคนิควิธีการตกแต่งที่เรียกว่า ‘กะไหล่ทอง’ เหมือนกัน เป็นที่มาของการเทียบเคียงที่มีความเป็นไปได้ว่าอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พอเราได้ Golden Boy เราก็จะสามารถศึกษาวิจัยในเรื่องของประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มากขึ้น เดิมเรามีแค่ชิ้นเดียว ตอนนี้เราได้มาอีก 1 ชิ้น เราสามารถศึกษาเพิ่มได้อีก
การศึกษาจากประติมากรรมชิ้นเดียว แล้วจะอธิบายทั้งหมด ข้อมูลก็ไม่หนักแน่น ได้ Golden Boy กับประติมากรรมรูปสตรีซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกัน อาจจะทำให้เราได้ข้อมูลมากขึ้น”
ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า จริงๆ ประติมากรรมสัมฤทธิ์พุทธศตวรรษที่ 16 หรือเก่ากว่าในประเทศไทยยังมีอีก แต่เป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่ลักษณะอย่าง Golden Boy และประติมากรรมบุรุษซึ่งพบที่สระกำแพงใหญ่
เรียก 'พระศิวะ' ตามชุดความรู้ของ The MET
ไม่มีดวงตาที่สามบนหน้าผาก Golden Boy
“เราเรียกพระศิวะตอนนี้ เพราะเรารับเอกสารจาก The MET มีทะเบียนที่ระบุว่าเป็นอะไรจากเอกสารตั้งต้น เราจะเรียกตามนั้นก่อน หลังจากศึกษาวิจัยภายหลังแล้วพบว่าเป็นอะไร พร้อมคำอธิบายประกอบที่เชื่อถือ ยอมรับพร้อมกันได้ในสังคม ก็เป็นงานวิชาการภายหลังจากนี้
ต้องอย่าลืมว่า Golden Boy ถูกลักลอบนำออกจากแหล่งโบราณคดีไปก่อนที่กรมศิลปากรจะได้ศึกษาว่าประติมากรรมนี้คือใคร"
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันจะตีความไว้ว่าเป็นประติมากรรมพระศิวะ แต่กรมศิลปากรยังสงสัยว่าท่าทางของพระหัตถ์ทั้งสองมีความแตกต่างจากรูปพระศิวะโดยทั่วไปที่มักจะถือสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ และไม่ปรากฏพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ
ประติมากรรมนี้จึงอาจหมายถึงรูปบุคคลในสถานะเทพ หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่าสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ 2 อย่าง คือเป็นรูปเคารพในศาสนสถานประจำราชวงศ์ หรือเป็นรูปเคารพของบูรพกษัตริย์
ลงนามบันทึกความเข้าใจที่สหรัฐฯ เพื่อการศึกษาร่วมกันทางวิชาการเท่านั้น
"Golden Boy ไปอยู่ที่ The MET หลายปี เขาจึงได้โอกาสศึกษาในหลายด้าน หลังจากนี้ กรมศิลปากรจะร่วมมือกับ The MET ในการศึกษาวิจัย ซึ่งเขามีห้องแล็บและเทคโนโลยีก้าวหน้าระดับโลก
อันเป็นความร่วมมือทางวิชาการตามที่กรมศิลปากรลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกันที่ The MET เมื่อเดือนเมษายน 2567 ภายหลังจากที่ The MET ประสานแจ้งส่งคืนโบราณวัตถุครั้งนี้ เราคาดหวังว่าจะศึกษาอีกหลายประเด็นร่วมกัน เพื่อให้เกิดชุดองค์ความรู้เพิ่มเติม”
ข้อมูลในโซเชียลมีเดียกับวิจารณญาณ
โกลเด้น บอย หลายข้อมูลยังต้องใช้วิจารณญาณ
ขณะนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับ Golden Boy มีด้วยกันหลายมิติ แสดงผ่านสื่อโซเชียลมีเดียส่วนบุคคลซึ่งยังไม่ใช่ที่สิ้นสุดและควรใช้วิจารณญาณ
หนึ่งในนั้นคือ บุรีรัมย์ เป็นชื่อจังหวัดที่ได้รับการระบุในเอกสารทะเบียนวัตถุของ The MET ว่าเป็นแหล่งที่มาของ Golden Boy ซึ่ง ‘กรมศิลปากร’ จะได้สำรวจศึกษาในพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น
“กรณี ‘ทับหลัง’ ที่ได้กลับคืนมา 2 ชิ้นเมื่อ พ.ศ.2564 นั้น ได้มีเอกสารรายงานโครงการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2502 ซึ่งมีภาพถ่ายให้เห็นว่าทับหลังอยู่ที่ปราสาทแห่งใดบ้าง
แต่ Golden Boy ขณะนี้เราไม่มีหลักฐานเอกสาร หรือภาพถ่าย มีแต่หลักฐานเอกสารของ The MET ซึ่งระบุแหล่งที่มาโดยผู้บริจาค ก็ต้องมาศึกษากัน”
เช่นเดียวกับ คำกล่าว ของผู้ออกตัวว่าเป็นผู้ขุดพบและขายโบราณวัตถุชิ้นนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานเอกสารหรือภาพถ่ายในเชิงประจักษ์ มีเป็นคำพูด คำบอกเล่าจากการสัมภาษณ์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณ และเป็นโอกาสที่จะได้สอบทานขยายความข้อมูลบุคคลกันต่อไป
เป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรม
มร.จอห์น กาย (John Guy), 21 พ.ค.2567 กรุงเทพฯ
ต่อคำถามที่ว่า ‘หากกัมพูชาอ้างสิทธิ์เหนือ Golden Boy’ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า “จะขอไม่ตอบเรื่องนี้ แต่จะตอบในแง่มุมหลักฐานทางโบราณคดี ด้วยเราได้เคยพบประติมากรรมลักษณะเดียวกับประติมากรรม Golden Boy ในดินแดนไทย เช่นที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่แหล่งที่มาของประติมากรรม Golden Boy จะอยู่ในดินแดนไทย ซึ่งกรมศิลปากรจะได้สำรวจศึกษาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่ระบุเป็นแหล่งที่มาในเอกสารทะเบียนของ The MET ”
เนื่องจากประติมากรรมชิ้นนี้ถูกลักลอบขุดค้นและนำออกนอกประเทศไปอย่างผิดกฎหมายก่อนที่กรมศิลปากรจะได้ค้นพบ
กล่าวได้ว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้เพิ่งกลับมาอยู่กับกรมศิลปากรเพียง 1 วันหลังพิธีส่งมอบเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2567
แต่ Golden Boy อยู่กับ The MET มาเป็นเวลาหลายปี นอกจากจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมแล้ว ยังดำเนินการตรวจสอบและศึกษาตามหลักวิชาการ ซึ่ง มร.จอห์น กาย (John Guy) ภัณฑารักษ์ แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน กล่าวอย่างชัดเจนในพิธีมอบโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันอังคารที่ 21 พ.ค.2567 ความตอนหนึ่งว่า
“โบราณวัตถุดังกล่าว เป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรม”
ภาพ : ธิติ วรรณมณฑา