Golden Boy กรมศิลป์เตรียมเปิดให้ชมพร้อมคู่ฝาแฝด หลังกลับถึงมาตุภูมิ 20 พ.ค.
ย้อนไทม์ไลน์และที่มา ทำไมสหรัฐฯ ส่งคืน Golden Boy ประติมากรรมพระศิวะอายุนับพันปีกลับคืนถึงไทย 20 พ.ค.นี้ จัดพิธีต้อนรับ 21 พ.ค. กรมศิลปากรเตรียมเปิดให้ประชาชนเข้าชมพร้อมประติมากรรมที่เกือบจะเป็นฝาแฝด 'โกลเด้นบอย' เร็วๆ นี้
เริ่มจากเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นยินดีสำหรับคนไทยมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2566 เมื่อ กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2566 ให้ทราบทั่วกันว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความประสงค์ส่งคืน โบราณวัตถุ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ให้กับประเทศไทย จำนวน 2 รายการ ได้แก่
- ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Golden Boy (โกลเด้นบอย)
- ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่ายกมือไหว้เหนือศีรษะ (The Kneeling Female)
บัดนี้โบราณวัตถุทั้ง 2 รายการดังกล่าวซึ่งสูญหายไปจากประเทศไทยเป็นเวลานานมากกว่า 50 ปี เพราะถูกลักลอบขุดและขโมยออกนอกประเทศไปในช่วงทศวรรษ 1960S มีกำหนดเดินทางถึงแผ่นดินไทยวันที่ 20 พ.ค.2567
การหวนคืนมาตุภูมิของ 2 โบราณวัตถุในประเทศไทย มีไทม์ไลน์ดังนี้
พ.ศ.2562-2564 แจ้งดำเนินคดี 2 นักค้าโบราณวัตถุ
Golden Boy ด้านหน้าและด้านหลัง
ปฐมบท Golden Boy หวนคืนมาตุภูมิไทยครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน’ ทำการตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับนาย ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้ แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. 2562
แล้วพบว่ามีโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดจากประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับความผิดของนายดักลาส คือ ประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy
และยังพบโบราณวัตถุจากประเทศไทยมีที่มาเกี่ยวพันกับนาง ดอรีส วีเนอร์ (Doris Wiener) ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์ก แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมาย เช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. 2564 เป็น โบราณวัตถุประติมากรรมสตรี จำนวน 1 รายการ
12 ธ.ค.2566 The MET ทำหนังสือแจ้งส่งคืน
ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่ายกมือไหว้เหนือศีรษะ
เมื่อทราบเช่นนั้นแล้ว คณะกรรมการบริหาร The MET จึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ฯ และประสาน แจ้งวัตถุประสงค์การส่งคืนแก่ประเทศไทย ตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้
โดยมอบหมายให้นาย จอห์น กาย (John Guy) ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้แทนเข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ส่งมอบหนังสือแจ้งขอส่งคืนโบราณวัตถุจำนวน 2 รายการให้แก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566
3 ก.พ.2567 ประสานรายละเอียดส่งคืน
กระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ กรมศิลปากร ประสานรายละเอียดขั้นตอนในการส่งคืน โดย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ขอส่งคืนโบราณวัตถุดังกล่าวผ่าน ‘สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก’ และเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด
พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยเยือนพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อร่วมตรวจสอบและร่วมในพิธีรับมอบโบราณวัตถุล้ำค่า จำนวน 2 รายการดังกล่าว
25 เม.ย.2567 ผู้แทนไทยถึงอเมริกา
จอห์น กาย, นิตยา กนกมงคล, แมกซ์เวลล์ เค.เฮิร์น, สมใจ ตะเภาพงษ์
กรมศิลปากร มอบหมายให้นางสาว นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ร่วมตรวจสอบ 2 โบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย พร้อมหารือถึงรายละเอียดและกำหนดเวลาในการส่งคืน
ภายในงานรับมอบ 2 โบราณวัตถุ มีบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ อาทิ นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์อาวุโสสาขาศิลปะเอเซียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนกศิลปะเอเซีย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน นายแมกซ์เวลล์ เค.เฮิร์น ประธานมูลนิธิดักลาส ดิลเลียน หัวหน้าแผนกศิลปะเอเซีย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน และนางสาวสมใจ ตะเภาพงษ์ กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
14 พ.ค.2567 ประกาศวัน Golden Boy ถึงไทย
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 พ.ค.2567 มีมติเห็นชอบให้ กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมศิลปากร ทำหน้าที่รับมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการดังกล่าวจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามที่ได้รับการประสานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา
โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ยินดีลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการส่งมอบโบราณวัตถุดังกล่าว ภายหลังจากการส่งมอบโบราณวัตถุให้ อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร
โบราณวัตถุประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือ Golden Boy มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานปราสาทบ้านยาง หรือ ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ช่วงทศวรรษปี 1960s
21 พ.ค.2567 พิธีต้อนรับ Golden Boy สู่มาตุภูมิเป็นทางการ – จัดแสดงให้ชมพร้อมคู่แฝด
รอชม Golden Boy กับประติมากรรมคู่แฝด (credit: Phimai National Museum)
เฟซบุ๊ก “Phimai National Museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย” โพสต์ข้อความว่า หลัง โกลเด้นบอย และ ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่ายกมือไหว้เหนือศีรษะ โบราณวัตถุทั้งสองชิ้นมาถึงประเทศไทยวันที่ 20 พ.ค.แล้ว จะมีการทำพิธีต้อนรับการเดินทางกลับมาถึงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ยังจะมีการจัดนิทรรศการให้ประชาชนได้เข้าชมในอีกไม่ช้า พร้อมกับประติมากรรมที่ถือได้ว่ามีรูปแบบศิลปะที่เรียกกันว่าเกือบเป็น "ฝาแฝด" กับ Golden Boy นั่นคือ ประติมากรรมรูปบุรุษจากปราสาทสระกำแพงใหญ่
ท่านใดอยากพิสูจน์ความเหมือน ความต่าง สามารถไปชมให้เห็นประจักษ์แก่สายตาได้ในเวลาอีกไม่นานนี้