คืบหน้า 'Golden Boy' พ.ค.67 เตรียมรับสมบัติชาติกลับคืนสู่ประเทศไทย
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.กระทรวงวัฒนธรรม เผยความคืบหน้า-ขั้นตอนสหรัฐอเมริกาส่งคืนสมบัติชาติ 'โกลเด้นบอย' ประติมากรรมพระศิวะ โบราณวัตถุล้ำค่า กลับคืนสู่ประเทศไทย พิธีรับมอบ พ.ค.2567
จากรายงานข่าวนายแมกซ์ ฮอลเลน ผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ประเทศ สหรัฐอเมริกา มอบหมายให้ นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้แทนเข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อส่งมอบ หนังสือแจ้งขอส่งคืนโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ ให้แก่ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ได้แก่
- ประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ โกลเด้นบอย (Golden Boy)
- โบราณวัตถุประติมากรรมสตรี
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เยี่ยมชมโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
ล่าสุดมีรายงานจาก กรมศิลปากร เมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ว่านาย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการส่งคืน โกลเด้นบอย (Golden Boy) หรือ ประติมากรรมพระศิวะสำริด โบราณวัตถุล้ำค่าของไทย จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา กลับคืนสู่ประเทศไทย
ในเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ 'กรมศิลปากร' ประสานรายละเอียดขั้นตอนในการส่งคืน ทราบว่าทางอเมริกาจะส่งโบราณวัตถุดังกล่าวผ่าน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก โดยจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด และจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยเยือนพิพิธภัณฑ์เพื่อร่วมในพิธีรับมอบด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางพิพิธภัณฑ์กำลังจัดทำรายละเอียดในการส่งคืนโบราณวัตถุดังกล่าว เพื่อให้ฝ่ายไทยพิจารณา หากแล้วเสร็จจะมีพิธีรับมอบต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อโบราณวัตถุเดินทางมาถึงประเทศไทย จะได้จัดพิธีรับมอบอีกครั้ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนพฤษภาคม 2567 จากนั้นจะนำโบราณวัตถุจัดแสดงให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชม
ประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ โกลเด้น บอย
นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ โฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยต่อว่า สำหรับโบราณวัตถุที่จะได้รับกลับคืนครั้งนี้ ประกอบด้วย ประติมากรรมพระศิวะสำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นรูปพระศิวะสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก ประติมากรรมนี้สูงถึง 129 เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษคือ หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง
ประติมากรรมสตรีนั่่งชันเข่า ยกมือไหว้เหนือศีรษะ
ขณะที่ ประติมากรรมสตรี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน สูง 43 เซนติเมตร อยู่ในท่านั่งชันเข่าและยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริดมีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง
ทั้งนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ได้กล่าวถึงนโยบายการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยว่า เป็นภารกิจที่สำคัญ ที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโบราณวัตถุที่กำลังดำเนินการเร่งติดตามในปัจจุบัน ได้แก่ โบราณวัตถุจากเมืองโบราณศรีเทพ ที่อยู่ในขั้นตอนการประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (HSI) กรุงเทพฯ โดยจะดำเนินการตามช่องทางทางการทูต และเป็นไปด้วยความร่วมมือด้วยมิตรภาพอันดีของสองประเทศ