ฝุ่น PM2.5 ที่มาจากภาคเกษตร ป้องกันได้อย่างไร
ควันพิษนั้นเกิดจากการเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้จากเครื่องรถยนต์ จากการเผาขยะ หรือจากการเผาสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่เป็นอันตรายร้ายแรง
นอกจากข่าวการเลือกตั้งแล้ว ข่าวที่นับเป็นกระแสฮอตฮิตติดชาร์ต คงหนีไม่พ้นข่าวเจ้าฝุ่นจิ๋วแต่ผลลัพธ์ไม่จิ๋วของ PM2.5 ที่สร้างความเดือดร้อนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ แม้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ จะพยายามหาวิธีหลากหลายมาสกัดกั้น เช่น การฉีดละอองน้ำ การทำฝนเทียม การฉีดน้ำกวาดถนน หรือห้ามไม่ให้ประชาชนใช้รถ ล้วนแต่เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ถึงแม้ฝุ่นพิษจะเจือจางไปแต่ก็จะกลับมาอีก
แหล่งกำเนิด PM2.5 มีแบบปล่อยโดยตรงกับแหล่งกำเนิดปฐมภูมิ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่งและอุตสาหกรรมการผลิต ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ใดมีแหล่งกำเนิดแบบใดเป็นหลัก ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ นั้นมีมานานหลายปีแล้ว เพียงแต่ปีนี้เห็นชัดเจนจนหลายๆ คนจึงเริ่มตระหนก ทั้งที่ควรตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจังมานานแล้ว ส่วนควันพิษนั้นเกิดจากการเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้จากเครื่องรถยนต์ จากการเผาขยะ หรือจากการเผาสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่เป็นอันตรายร้ายแรง ก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งและโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุการณ์ตายก่อนวัยอันควรของประชากรประเทศกว่า 50,000 คนต่อปี
สำหรับภาคการเกษตรเองก็มีส่วนในการสร้างฝุ่นหรือควันพิษ อันเกิดจากการเผาตอซังฟางข้าว และเผาไร่อ้อยซึ่งทำกันมาอย่างต่อเนื่องช้านาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้เสียใหม่ เพื่อช่วยลดฝุ่น ควัน และมลภาวะ โดยเริ่มจากการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นไทย อย่างหน่อกล้วย หรือมูลสัตว์เคี้ยวเอื้องย่อยสลายตอซังฟางข้าวแทนการเผา รวมทั้งยังเป็นการเตรียมแปลงนาเพิ่มแร่ธาตุให้ดิน ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางแถบจังหวัดอ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ก่อนการทำนารุ่นต่อไปจะต้องมีการเตรียมการเป็นระยะเวลา 15-30 วัน ในช่วงเวลานี้เราสามารถใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นไทยที่ทำจากมูลสัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัว ควาย แพะ ฯลฯ) 2 กิโลกรัมต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร แล้วเติมกากน้ำตาล 10 ลิตร หมักไว้ 7 วันก็นำไปใช้ได้ หรือการทำจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย คัดเลือกหน่อที่อวบอ้วนต้นสูงไม่เกิน 1 เมตรขุดให้มีดินติดราก 3/10 ส่วน เพราะในดินจะมีจุลินทรีย์ติดมาด้วย นำมาสับหรือบดให้ละเอียด ใส่กากน้ำตาลผสมในอัตราส่วน หน่อกล้วย 3 ส่วนต่อกากน้ำตาล 1 ส่วนโดยไม่ต้องใช้น้ำ นำจุลินทรีย์ที่หมักได้ มาเทตรงท่อระบายน้ำให้กระจายไปทั่วผืนนาให้ท่วมใช้ 5 ลิตรต่อไร่ ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ให้ย่อยสลายตอซังฟางข้าวแทนการเผา
มีข้อมูลว่ากว่าร้อยละ 60 ของชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนตัด เพราะการเผาทำให้ใบอ้อยหายไปช่วยให้สะดวกต่อการตัด แต่นอกจากจะสร้างมลพิษแล้วยังมีปัญหาที่ตามมาก็คือ อ้อยที่ผ่านการเผานั้น ค่าความหวานจะลดลงและเก็บไว้ได้ไม่นาน ราคาจึงถูกกว่าอ้อยสดมาก สำหรับวิธีแก้ปัญหาคือนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ก่อมลภาวะด้วยการเผาไร่อ้อยอีกต่อไป หรือจัดตั้งกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับโรงงานรับซื้ออ้อยเพื่อกำหนดนโยบายร่วมกัน เช่น กำกับคุณภาพอ้อย โดยมีมาตรการตัดราคาสำหรับเกษตรกรที่ใช้วิธีการเผาอ้อย เพื่อให้เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นความสำคัญในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิกสิ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นหรือควันพิษจากภาคเกษตรกรรม ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอีกหนึ่งวิธี นอกจากสามารถป้องกันฝุ่นพิษแล้วยังเป็นการเพิ่มแร่ธาตุ ปุ๋ย ให้กับดิน รวมถึงสามารถลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศได้อีกด้วย
ดังนั้นฝุ่น PM2.5 ที่มาจากภาคเกษตรสามารถป้องกันได้ ปัญหาเรื่องฝุ่นหรือสารพิษเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก เราอาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างตัวเราก่อนโดยการลด ละ เลิกการเผาขยะ ช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นควันต่างๆ หรือปลูกพืชผักปลอดสารพิษทานเองที่บ้านของเรา ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานของรัฐ เพื่อส่งต่อโลกที่ไร้มลภาวะให้ลูกหลานของเรา
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02 986 1680 – 2