มหกรรมศิลปวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ ไทย -จีน” ครั้งที่ 6
แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมสองแผ่นดิน
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพมหานคร จัดโครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ ไทย-จีน ครั้งที่ 6 มุ่งประสานความร่วมมือทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างความสัมพันธ์ทางศิลปวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อศักยภาพการเรียนการสอนด้านศิลปะการแสดงของทั้งสองประเทศ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวในพิธีเปิดว่า “โครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ไทย - จีน ครั้งที่ 6 เกิดขึ้นโดยความร่วมมือต่อเนื่องระหว่างคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปะการแสดง ดนตรี แก่เยาวชนและประชาชน รวมไปถึงการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะทุกแขนงของคณาจารย์ นิสิตและศิลปิน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมไทย – จีน ด้วยการบูรณาการมรดกทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้อย่างเข้มแข็ง และจะเห็นได้ว่าทั้งสององค์กรต่างมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนและไทยให้แน่นแฟ้นด้วยสื่อการแสดงศิลปวัฒนธรรม ดังที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนผู้เข้าชม ตลอดความร่วมมือใน 6 ปีที่ผ่านมา”
โครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย - จีน ครั้งนี้ยังคงนำเสนอศิลปวัฒนธรรมทางด้านนาฏศิลป์และคีตศิลป์ ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจงของศิลปินทั้งสองชนชาติโดยจัดชุดการแสดงสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างนิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒคณะการแสดงศิลปะพื้นบ้านมองโกเลียใน สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกทั้งยังมีการแสดงเชิดหุ่นกระบอกจีน โดยการสนับสนุนความร่วมมือจากศูนย์มรดกทางวัฒนธรรมการเชิดหุ่นกระบอก และการเชิดหุ่นเงาแห่งเมืองเซี่ยะเหมิน คณะหุ่นกระบอกจีน Xiamen Hongyanzhuang นำทีมโดย อาจารย์จวง ผู้เชี่ยวชาญและศิลปินเชิดหุ่นระดับชาติ จากสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยในครั้งนี้ทางคณะ XiamenHongyanzhuang ได้นำศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกมาร่วมแสดงในมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ ไทย – จีน ครั้งนี้ นอกจากนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์ยังเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมค่านิยมทางศิลปะแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญที่มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ มุ่งเน้นความสำคัญของการให้บริการวิชาการและความรู้แก่ชุมชน โดยนำศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกของคณะ XiamenHongyanzhuangจัดแสดงให้เยาวชนในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงของมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒและโรงเรียนในจังหวัดนครนายก ได้รับชมและเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย - จีน ผ่านการแสดงเชิดหุ่นกระบอกที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งแต่ละชุดการแสดง ต่างก็เป็นศิลปะการแสดงที่สะท้อนให้เห็นถึงรากฐานทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและสวยสดงดงามจากทั้งไทย - จีน และสามารถสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมภายในงานได้อย่างชื่นมื่น
นอกเหนือจากศิลปะการแสดงนาฏศิลป์และคีตศิลป์ไทย - จีนแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการบริเวณโถงชั้น 1 ของศูนย์ฯ โดยจัดแสดงภาพวิถีชีวิตของชาวมองโกเลียใน ชนชาติปกครองตนเองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน และยังมีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายไทย - จีน ที่มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการออกแบบและการใช้วัตถุดิบตัดเย็บซึ่งใกล้เคียงกันอย่างมาก
ด้าน นายกู้ หง ซิน ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพ ฯ ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน จะเห็นได้ว่าความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการศึกษาระหว่างสองชาติพัฒนาไปอย่างใกล้ชิดแนบแน่น ไม่เพียงแต่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องอีกด้วย”
"ขณะที่ภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงทัศนียภาพทางธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี พัฒนาการด้านวิถีชีวิตของชาวมองโกเลียเท่านั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยังได้นำตัวอย่างเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับมาร่วมกันจัดแสดง สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายและความเป็นมาของวัฒนธรรมไทย – จีน ทั้งยังเป็นประจักษ์พยานต่อคำกล่าวที่ว่า ไทย – จีน ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กล่าวทิ้งท้าย
โครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งที่ 6 เป็นเสมือนประตูสู่โอกาสการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของทั้งสองชนชาติ ให้สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ในหลักสูตรด้านการแสดงหรือศิลปกรรมศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ไปสู่ความชำนาญในสาขาอาชีพการแสดงนาฎศิลป์แบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิมได้อย่างเต็มภาคภูมิและสามารถแสดงให้นานาประเทศได้เห็นถึงอารยธรรมอันงดงามและมีคุณค่าที่ยั่งยืนสืบไป