PNMA ชวนพ่อแม่ปั้นลูกเติบโต ฉลาด ดี มีความสุข

PNMA ชวนพ่อแม่ปั้นลูกเติบโต ฉลาด ดี มีความสุข

 

เด็กเล็กช่วงวัย 1-2-3 ปี เป็นช่วงโอกาสทองของชีวิตลูกที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน  PNMA ขอเชิญชวนพ่อแม่ก่อร่างสร้างลูกและใส่ใจเรื่องอาหารที่เหมาะกับช่วงวัย เพราะโภชนาการที่ดีมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาร่างกายและสมอง ลดปัญหา เด็กเตี้ย เด็กไอคิวต่ำ พร้อมไขข้อข้องใจการดูแลเด็กเล็กวัย 1-3 ปีผ่าน facebook.com/1-2-3 KidsPedia  ครอบคลุมเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการ  อาหาร-โภชนาการ และพัฒนาการด้านอารมณ์-สังคม

แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (Pediatric Nutrition Manufacturer Association : PNMA) กล่าวในงาน “1-2-3 โอกาสทองของชีวิต ชวนพ่อแม่ Kid ปั้นลูกเติบโต ฉลาด ดี มีความสุข  ว่า สมาคมฯ ต้องการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพ่อแม่ยุคใหม่เลี้ยงดูลูกรักในช่วงวัยเด็กเล็ก 1-3 ปีให้พวกเขาเติบโตแข็งแรง  เป็นคนดี  มีความฉลาดและมีความสุข  ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญหลายส่วน เช่น  การดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการ  การส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย และการฝึกระเบียบวินัยในกิจวัตรประจำวัน  หัวใจสำคัญคือ  ดูแลลูกให้กินดี  นอนดีและเล่นดี  เพราะในช่วงวัยนี้  กล่าวได้ว่าเป็นช่วงโอกาสทองของชีวิตลูก เป็นช่วงที่ร่างกายและสมองมีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โภชนาการที่ดีมีคุณค่าเหมาะกับช่วงวัยจะเป็นตัวช่วยก่อร่างสร้างลูกให้เติบโตได้สมบูรณ์สมวัย

“โดยทั่วไปเด็กเล็กวัย 1-3 ปีเป็นช่วงวัยที่พ่อแม่เริ่มลดความกังวลเรื่องอาหารการกินที่เหมาะสม เพราะลูกเริ่มโต สามารถกินอาหารได้หลากหลาย จึงคิดว่าให้กินอะไรก็ได้  แต่จริงๆ แล้ว  อาหารในวัยนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาร่างกายและสมอง พ่อแม่จึงต้องเลือกสรรและจัดเตรียมอาหารดีมีประโยชน์” แพทย์หญิงกิติมา  กล่าว   

โภชนาการดี 1-3 ปี  ปิดประตูเสี่ยงเด็กเตี้ย ไอคิวต่ำ

โดยหลักการแล้วโภชนาการเด็กเล็กวัย 1-3 ปีมาจากอาหารห้าหมู่  จึงต้องจัดอาหารให้ลูกกินมื้อหลักวันละ 3 มื้อ และกินนมรสจืดเป็นอาหารเสริมวันละ 2-3 แก้ว ซึ่งเป็นหลักการที่อาจถูกละเลยไปเพราะพฤติกรรมการกินอาหารและความชอบของลูกเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกอาจไม่ได้รับสารอาหารจำเป็นเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ

มีการวิจัยระยะยาวในเด็กไทยพบว่า เด็กที่ตัวเตี้ยตั้งแต่แรกจนถึงอายุ 8.5 ปี มีไอคิวต่ำกว่าทั่วไป 2.25 จุด และจากการสอบถามว่าอาหารที่เด็กกินมีสารอาหารเพียงพอหรือไม่ พบว่า เด็กไทยมากกว่าร้อยละ 50 ได้รับแคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินเอและวิตามินซีต่ำ (อ้างอิงผลสำรวจ South East Asian Nutrition Surveys : SEANUTS โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ตีพิมพ์ในวารสาร BJN,2013) ดังนั้น แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการวัยเด็กเล็ก  นอกจากจะมุ่งไปที่การให้ความรู้ความเข้าใจกับครอบครัวในเรื่องอาหารและโภชนาการแล้ว ยังมีวิธีการเติมสารอาหารเข้าไปในอาหารเสริมของวัยเด็กเล็กเพื่อเป็นตัวช่วยเติมเต็มโภชนาการได้ครบถ้วนและสมดุล เมื่อเด็กได้รับโภชนาการดีมีคุณภาพอย่างพอเพียงและต่อเนื่องในช่วงวัย  1-3 ปีซึ่งเป็นช่วงวัยที่สมองและร่างกายมีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว  ย่อมปิดความเสี่ยงโอกาสการเติบโตหยุดชะงักเพราะได้รับสารอาหารจำเป็นไม่เพียงพอ ลดอัตราการเกิดภาวะเด็กเตี้ย โภชนาการดีในช่วงวัยนี้ยังช่วยส่งเสริมระดับสติปัญญาของเด็กได้อีกด้วย

ทำไมวัยเด็กเล็กจึงต้องกินนมเป็นอาหารเสริม  แพทย์หญิงกิติมา  กล่าวว่า แคลเซียม เป็นสารอาหารที่มีมากในน้ำนม ช่วยให้กระดูกและฟันเติบโต  แต่ปริมาณแคลเซียมที่เด็กได้รับจากอาหารมื้อหลักนั้นมีปริมาณน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการมาก 

นอกจากนี้ในน้ำนมยังมีสารอาหารอื่นๆ  เช่น คาร์โบไฮเดรต  โปรตีน  ไขมันและวิตามิน  รวมอยู่ด้วย การกินนมทุกวันจึงเท่ากับการได้รับโภชนาการเสริมเติมให้มีความสมดุลทุกวัน

“อยากให้พ่อแม่ทุกคนเข้าใจให้ถูกต้องว่า นม เป็นอาหารเสริมกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็ก เพราะเป็นแหล่งอาหารที่มีโภชนาการดี  ปัจจุบันนมสำหรับเด็กเล็กมีทั้งที่เป็นนมวัว 100% แบบกล่อง และนมเสริมสารอาหารทั้งแบบนมผงและนมกล่องยูเอชทีซึ่งมีการเติมสารอาหารจำเป็น เช่น  ไอโอดีน  เหล็ก  สังกะสี  วิตามินบี12 ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสมอง ทั้งด้านการจดจำ  ความสามารถในการเรียนรู้และระดับสติปัญญา  หรือในกรณีที่ลูกแพ้นมวัว ก็มีนมเสริมสารอาหารที่ผลิตจากถั่วเหลือง เติมแคลเซียมและวิตามิน ให้เลือก” แพทย์หญิงกิติมา กล่าว

PNMA ชวนพ่อแม่ปั้นลูกเติบโต ฉลาด ดี มีความสุข

รู้จักเพจ 1-2-3 KidsPedia

เมื่ออาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ในวัยเด็กเล็ก คำถามคือ พ่อแม่ยุคนี้ต้องรู้อะไรบ้างในการจัดเตรียมอาหาร  โภชนาการอะไรที่มีความสำคัญต่อร่างกายและสมองลูก  แล้วถ้าลูกมีพฤติกรรมกินยาก  กินน้อย  กินแต่นม  ติดรสหวาน  ติดเล่น  ติดจอ ฯลฯ แล้วคุณแม่ไม่สามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีพอจะเกิดปัญหาอะไร  จะป้องกันและแก้ไขอย่างไรได้  ฯลฯ 

“เรามีคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ รวบรวมเป็นข้อมูลความรู้จากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ  โดยสมาคมฯ ได้สร้างช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับพ่อแม่ยุคใหม่ผ่านสื่อออนไลน์เฟสบุ๊ค 1-2-3 KidsPedia”  แพทย์หญิงกิติมา กล่าว

เฟสบุ๊คเพจ 1-2-3 KidsPedia เป็นช่องทางสื่อสารที่สอดคล้องกับพฤติกรรมพ่อแม่ยุคใหม่ที่ค้นหาความรู้ข้อมูลต่างๆ จากสื่อออนไลน์ โดยเน้นย้ำข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ครอบคลุมเนื้อหาสามประเด็นคือ 1. การเจริญเติบโตและพัฒนาการ 2. อาหารและโภชนาการที่ดี ปลอดภัยและเหมาะสม 3. พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม   เพจเริ่มเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 มีกลุ่มเป้าหมายคือพ่อแม่ยุคใหม่ที่มีลูกในช่วงวัย 1-3 ปี มีการติดตาม ไลค์และแชร์ข้อมูลออกไปในวงกว้าง รวมทั้งมีการสอบถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูก พัฒนาการด้านต่างๆ รวมทั้งสอบถามเทคนิควิธีการดูแลลูกรัก ซึ่งสมาคมฯ สามารถช่วยไขข้อข้องใจทุกประเด็น