‘ทรัมป์’ ฉายเงาพาด ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ กับความท้าท้าย ‘ไทย’ ต้องเผชิญ

‘ทรัมป์’ ฉายเงาพาด ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ กับความท้าท้าย ‘ไทย’ ต้องเผชิญ

สงครามภาษีที่อาจเกิดขึ้น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไปจนถึงความวุ่นวายการเมือง ส่งผลต่อพันธมิตรหลักการค้า ในปี 2568 ถือเป็นปีท้าทายไทย รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังต้องการแรงกระตุ้นเติบโตทางเศรษฐกิจ

KEY

POINTS

Key Pionts: 

  • ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงมาจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสินค้าสหรัฐ
  • ทรัมป์เคยให้คำมั่นจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นเป็น 2 เท่า หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 20 มกราคม 2568
  • แม้กระทั่งระหว่างนี้ ทรัมป์ได้แสดงคำขู่ต่อกลุ่มที่เขามองว่า ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐ รวมถึงสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยมี 4 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ได้ประกาศความตั้งใจจะเข้าร่วม ในฐานะเป็นประเทศหุ้นส่วน

ปิเตอร์ อับดุลลา ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยสะการา (Segara Institute) ในกรุงจาการ์ตา กล่าวกับชาแนลนิวส์เอเชียว่า "ความท้าทายที่จะเจอเป็นเรื่องยากลำบาก"

สำหรับความท้าทายนอกภูมิภาค, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องรับมือกับความไม่แน่นอนสูงระดับโลก ขณะเดียวกันต้องรับมือกับสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งก็สาหัสไม่แพ้กันเลยทีเดียว

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ จะพบอุปสรรคจากยอดการบริโภคครัวเรือน อยู่ในภาวะซบเซา เพราะประชากรชนชั้นกลางหดตัวลง และโครงการที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงของรัฐบาล อาจทำให้เสถียรภาพทางการคลังของประเทศได้รับความเสียหาย

ส่วน ประเทศไทยกำลังพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ขณะเดียวกัน การบริโภคภายในประเทศที่ต่ำ หนี้ครัวเรือนที่สูง และความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายที่วางไว้

มาเลเซีย และ เวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจโดดเด่นในปี 2567 แต่ต้องเจอความท้าทายหลักคือ การรักษาสมดุล และแรงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้ต่อเนื่องไป ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นความท้าทายระดับโลกมากมาย

"ความท้าทายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงมาจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสินค้าสหรัฐ" อับดุลลา กล่าว 

เมื่อย้อนกลับไปดูในช่วงทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ทรัมป์ ได้กำหนดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนไว้สูง จนทำให้เกิดสงครามภาษีขึ้น ขณะที่จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าสำคัญของสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

นโยบายดังกล่าวยังดำเนินต่อไปภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งการกำหนดภาษีสูงยังครอบคลุมถึงสินค้าจีนที่ผลิตในประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย

ทรัมป์เคยให้คำมั่นจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นเป็น 2 เท่า หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 20 มกราคม 2568

“แม้กระทั่งระหว่างนี้ ทรัมป์ได้แสดงคำขู่ต่อกลุ่มที่เขามองว่า ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐ รวมถึงสมาชิกกลุ่ม BRICS ด้วย” ปิเตอร์กล่าวถึงกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประกอบด้วย 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ขณะที่ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ได้ประกาศความตั้งใจจะเข้าร่วม BRICS ในฐานะเป็นประเทศหุ้นส่วน

หากแต่ภัยคุกคามจากกำแพงภาษีครั้งใหม่กำลังย่างกายใกล้เข้ามา นักวิเคราะห์มองว่า

“ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงทางการตลาดของตนเอง”

แต่เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่หลายแห่งในยุโรป กำลังเผชิญความวุ่นวายทางการเมือง และเศรษฐกิจทดถอย ขณะที่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออก อย่างจีน และญี่ปุ่น ยังคงเผชิญภาวะเงินฝืด ดังนั้น “การหาคู่ค้ารายใหม่” จึง “ไม่ใช่เรื่องง่าย”

เป้าหมายการเติบโต

ไทย เดิมรัฐบาลเคยตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2567 ไว้ที่ 3% แต่ด้วยปัญหารุมเร้าทำให้เศรษฐกิจยังเติบโตได้ไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ สำหรับในปีนี้ กระทรวงการคลัง “ คาดการณ์ ” ว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวแตก 3% สูงสุดหลังจาก โควิด-19 ผ่านพ้นไป และอาจมาถึง 3.5%

มาเลเซียตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งในปี 2567 ได้บรรลุเป้าหมายเบื้องต้นและเติบโตระหว่าง 4.8 - 5.3 % ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าการเติบโต 4.5 - 5.5% ในปี 2568

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ 5.2% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มเพียง 0.1% จากการเติบโตในปี 2567 ถึงอย่างไร เป้าหมายใหม่นี้ยังห่างไกลจากที่ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ และต้องการให้บรรลุเป้าหมายการเติบโต 8% ก่อนสิ้นสุดประธานาธิบดีสมัยแรกของปราโบโว ในปี 2572

ด้านเวียดนาม ฝั่ม มิญ จิ๊ญ" นายกรัฐมนตรีเวียดนาม คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเวียดนาม (GDP) จะเติบโตระหว่าง 6.5% ถึง 7% ในปี 2568  และตั้งเป้าหมายผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ที่ 7% ถึง 7.5%

ภัยคุกคามจากทรัมป์

เศรษฐกิจที่เปราะบางของจีน กำลังเตรียมรับมือกลับมาตรการทางภาษีที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สอง ซึ่งขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงกว่า 60%

สหรัฐจะเริ่มเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซล่าเซลล์จาก 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม หวังคุมฐานการผลิตของบริษัทจีนที่พยายามกระจายห่วงโซ่อุปทาน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่เข้มงวดขึ้น

“ การเพิ่มกำแพงภาษี เป็นมาตรการนโยบายต่างประเทศของสหรัฐมุ่งเป้าที่จีน แต่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาเลเซียได้” ชาการัน นัมบีอาร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวมาเลเซียชี้ว่า มาเลเซียจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน เพราะรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่อาจทนกับความคลุมเครือได้

สำคัญตรง ‘มีแผนรับมือทรัมป์'

นิตยสาร Yeah ของมหาวิทยาลัยซันเวย์ ประเทศมาเลเซีย ระบุว่า มาตรการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ ที่มีขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมสหรัฐ จะส่งผลทั้งดีและไม่ดี ต่อประเทศคู่ค้านั้นๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับสหรัฐ และจีน

หากพิจารณามาตรการการปรับขึ้นภาษีที่ทรัมป์ขู่ไว้ และสงครามในตะวันออกกลางที่ยังดำเนินอยู่ รวมถึงสงครามรัสเซียกับยูเครน นิตยสาร Yeah คาดการณ์ว่า เงื่อนไขภายนอกจะยังคงผันผวน และไม่อาจคาดเดาสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

“ เพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจะต้องเสริมสร้างสภาพคล่องตัว และรอบรู้ในการสนองตอบต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในสภาพแวดล้อมด้านการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ” บทความนิตยสารระบุ

ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผนการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ อาจส่งผลกระทบกับเป้าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซีย

จีนเป็นจุดหมายปลายทางประเทศส่งออกสินค้ารายใหญ่ ที่สุดของอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่ารวม 67,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2565 ขณะที่สหรัฐเป็นจุดหมายปลายทางประเทศส่งออกสินค้ารายใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซีย มีมูลค่ารวม 31,000 ล้านดอลลาร์ ในปีเดียวกัน

เสถียรภาพทางการเมือง

บทความนิตยสาร Yeah ตั้งข้อสังเกตว่า เสถียรภาพทางการเมืองต้องควบคู่ไปกับนโยบายที่เอื้ออำนวยและพยายามในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งถือเป็น “ปัจจัยหลัก” และเบื้องหลังการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่สูงขึ้นเพิ่มขึ้น ทั้งจากสหรัฐ จีน ยุโรป และประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นิตยสาร Yeah ยกตัวอย่าง มาเลเซีย แม้รัฐบาลก่อนหน้า จะรักษานโยบายที่เอื้อต่อนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยทำให้แตกต่างคือ การที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับ “ธรรมาภิบาล และวินัยทางการเงิน” มากขึ้น ย่อมมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และภาพลักษณ์ประเทศ

 

 

อ้างอิง : CNA, ThaiBizVietnam