เปิดเหตุผลประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม BRICS

เปิดเหตุผลประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม BRICS

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ไทยได้เข้าเป็นประเทศหุ้นส่วน BRICS อย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอาเซียนบางประเทศ นักวิเคราะห์เผยถึงเหตุผลที่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยากร่วมกลุ่ม BRICS

 เว็บไซต์ Australian Institute of International Affairs เผยแพร่บทวิเคราะห์จากเมลิสสา คอนลีย์ และเวียต ดุงจินห์ ระบุ BRICS ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ร่วมมือกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง จำกัดข้อได้เปรียบของสหรัฐในระบบการเงินและการค้าโลก

ในปี 2023 BRICS ตัดสินใจขยายสมาชิกภาพด้วยการเชิญอาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และซาอุดีอาระเบียเข้าร่วม ส่วนใหญ่ตอบรับยกเว้นอาร์เจนตินาและซาอุดีอาระเบีย ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิกอย่างเป็นทางการเก้าประเทศ เศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นราว 28% ของเศรษฐกิจโลกหรือกว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์

ในการประชุมผู้นำ BRICS ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ13 ประเทศรวมถึงไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามถูกรวมเป็น “ประเทศหุ้นส่วน” นั่นหมายความว่าสี่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงบใต้อาจเพิ่มความร่วมมือกับสมาชิก BRICS ให้มากขึ้นเพื่อเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ

  • ปัจจัยด้านทรัมป์

เนื่องจากอยู่ท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จึงมักเลือกที่จะมีจุดยืน “ป้องกันความเสี่ยง” ด้วยการวางตัวเป็นกลางระหว่างสหรัฐกับจีน อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของยุคทรัมป์อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ประเทศอาเซียนคำนวณไว้

จามิล กานี จากวิทยาลัยการต่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัม (RSIS) โต้แย้งว่า

“ทรัมป์ 2.0 อาจผลักให้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หาช่องทางเข้าไปใกล้ชิดกับ BRICS มากกว่าเดิม เพราะกังวลนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ”

ความกังวลนี้รวมถึงการที่รัฐบาลวอชิงตันไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงการค้าพหุภาคีหลายฉบับ เช่น ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ที่ใช้มาตั้งแต่วาระแรก เล่นงานประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ แม้แต่พันธมิตรก็ไม่เว้น

ความกังวลเกี่ยวกับความผูกพันรับผิดชอบและการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในอินโดแปซิฟิกของสหรัฐ และความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจผลักประเทศอาเซียนให้เข้าหา BRICS มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การก่อตั้งตลาดซื้อขายธัญพืช BRICS ในเดือน ต.ค.2024 ถูกมองว่าเป็นตลาดให้กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สร้างเสถียรภาพและความหลากหลายให้กับตลาดส่งออก สิ่งนี้ดึงดูดมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ผลิตน้ำมันปาล์มราว 80% ของโลก

สำหรับไทยและเวียดนาม การเข้าร่วม BRICS อาจช่วยสร้างความหลากหลายให้กับตลาดข้าว มีทางเลือกป้องกันราคาข้าวผันผวน

  • การคำนวณเชิงยุทธศาสตร์

นั่นหมายความว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ละประเทศที่กำลังมีส่วนร่วมใน BRICS ต่างมีเป้าหมายของตนเอง มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียอาจต้องการเป็นสมาชิกเต็มตัว ขณะที่เวียดนามใช้ท่าทีระมัดระวัง

 สามประเทศที่กล่าวมา จุดสนใจหลักอยู่ที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเงินทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนจากธนาคารการพัฒนาใหม่ (NDB) ของ BRICS

ธนาคารแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 เพื่อจัดหาทรัพยากรให้กับรัฐสมาชิก BRICS และประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้การมีส่วนร่วมใน BRICS อาจช่วยให้ประเทศเหล่านี้สร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ในการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง โดยยังคงความเป็นอิสระของตนไว้ได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภูมิภาคและโลก

สำหรับมาเลเซีย การตัดสินใจเข้าร่วม BRICS สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศสร้างสมดุลสองมหาอำนาจของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ที่อ้างว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าทำให้ต้องเข้าร่วม BRICS ในมุมนี้ในฐานะเป็นประเทศภาคพื้นสมุทร มาเลเซียสามารถเปิดช่องทางสำหรับการค้าการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐสมาชิก BRICS

ส่วนอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ต้องการเป็นมหาอำนาจโลกขนาดกลาง และเพิ่มอิทธิพลของตนในกลุ่มโลกใต้ การเข้าร่วม BRICS อาจช่วยให้เพิ่มข้อได้เปรียบในเวทีโลก

ประธานาธิบดีสุเบียนโตยังต้องการให้อินโดนีเซียได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก BRICS ด้วยเช่นกัน

“เราต้องการร่วมกลุ่มเศรษฐกิจหลากหลาย เพราะต้องการหาโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของเราเอง เราจำเป็นต้องคิดถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเพื่อประชาชน” สุเบียนโตกล่าว

ไทยก็คล้ายกัน เข้าร่วม BRICS เพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจและการทูต ได้ประโยชน์จากการมีเวทีหลากหลาย กรณีเวียดนาม การเข้าร่วม BRICS มีประโยชน์ในการทำนโยบายต่างประเทศแบบหลายทิศทางและหลากหลาย ซึ่งให้ความสัมพันธ์กับองค์กรระดับภูมิภาคและระดับโลก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮานอยยังคง “รอดู”เพราะไม่อยากเอาตัวเองไปเผชิญหน้ากับสหรัฐ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปเสียหาย ทั้งสองเป็นผู้นำเข้าสินค้าเวียดนามรายใหญ่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นส่วน BRICS อื่นๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามมีมุมมองต่อ BRICS แตกต่างออกไปจึงอาจใช้เวลานานกว่าประเทศอื่น