ลุ้น กพอ.แก้สัญญา 'ไฮสปีดสามสนามบิน' ดันลงนาม 'ซีพี' ไตรมาส 1

ลุ้น กพอ.แก้สัญญา 'ไฮสปีดสามสนามบิน' ดันลงนาม 'ซีพี' ไตรมาส 1

ลุ้น กพอ.ไฟเขียวแก้ร่างสัญญา “ไฮสปีดสามสนามบิน” พร้อมเดินหน้าชงเข้า ครม.ลงนามสัญญาภายในไตรมาส 1 ด้านการรถไฟฯ พร้อมส่งมอบพื้นที่เริ่มก่อสร้างทันที ขณะที่ “ซีพี” ยันเดินหน้าลงทุนโครงการ

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (8 ม.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งจะมีการพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

เนื่องจากการประชุม กพอ.ครั้งที่ผ่านมา ได้มีมติให้นำร่างแก้ไขสัญญามาทบทวนรายละเอียดให้รอบคอบ ก่อนดำเนินการลงนามสัญญา และสาระสำคัญเพื่อให้มีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพียงครั้งเดียว ปรับขั้นตอนการทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน

จากขั้นตอนเดิมจะเสนอพิจารณาแก้ไขสัญญาเข้า ครม. 2 รอบ แบ่งเป็น เสนอเพื่อพิจารณาในหลักการ และกลับมาทำร่างสัญญาให้อัยการตรวจสอบ ก่อนเสนอกลับไป ครม.อนุมัติอีกครั้ง แต่ตอนนี้ปรับแผนงานเป็นนำร่างสัญญาใหม่ให้อัยการตรวจสอบเลย เมื่อแล้วเสร็จจึงจะเสนอไป ครม.พิจารณาคราวครั้งเดียว ทำให้ต้องตรวจสอบรายละเอียดไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย

ทั้งนี้ หากที่ประชุม กพอ. มีมติอนุมัติในวันนี้ ขั้นตอนหลังจากนั้นจะเสนอต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาฯ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วัน ก่อนนำมาเสนอต่อบอร์ด กพอ.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อเตรียมนำร่างสัญญาใหม่เสนอเข้าสู่ ครม. พิจารณาอนุมัติ เบื้องต้นจึงคาดว่าจะสามารถลงนามแก้ไขสัญญากับเอกชนคู่สัญญาได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ รฟท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันทีที่มีการลงนามแก้ไขร่างสัญญาแล้วเสร็จ ส่วนทางเอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ยังยืนยันความพร้อมในการลงทุนและดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ รวมไปถึงพื้นที่โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง

สำหรับผลของการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนล่าสุด กพอ.ที่มีนายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเห็นชอบแก้ไขสัญญา 5 ประเด็น คือ

1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐแบ่งจ่าย 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นลักษณะสร้างไปจ่ายไป โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน สำหรับการวางหลักประกันนั้น เอกชนยังไม่ต้องวางหลักประกันทันทีที่ลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยใช้เวลาหาหลักประกันได้แต่เมื่อต้องการเบิกรับเงินสนับสนุนต้องวางหลักประกันทันที

2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท.ต้องรับภาระ

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดอย่างมีนัยสําคัญ และทำให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกัน

4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท.ออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด

5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น