มองลึก & เรียนรู้ มาเลเซีย x สิงคโปร์ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

มองลึก & เรียนรู้ มาเลเซีย x สิงคโปร์ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การร่วมมือระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ในการลงทุนเขตเศรษฐกิจใหม่ในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสองประเทศเพื่อนบ้านพึ่งพาอาศัยกันมานาน หากมองลึกลงไปก็เคยเป็นประเทศเดียวกันเสียด้วยซ้ำ

ถือเป็นข่าวใหญ่ระดับภูมิภาคและโลกก็โฟกัส เมื่อมาเลเซียและสิงคโปร์ประกาศจับมือตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่ มูลค่ากว่า 26,000 ล้านดอลลาร์

มาเลเซียและสิงคโปร์ ประกาศลงทุนเขตเศรษฐกิจใหม่ในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย ช่วงที่มีพรมแดนติดกับสิงคโปร์ กว่า 100 โครงการ โดยใช้ขนาดพื้นที่ใหญ่ของยะโฮร์ที่เมื่อเทียบแล้วใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 4 เท่า และใหญ่กว่าเขตเศรษฐกิจเซินเจิ้นของจีนถึง 2 เท่า ซึ่งคาดว่าโครงการเหล่านี้จะสร้างงานได้มากถึง 100,000 อัตรา

หากวิเคราะห์ลึกลงไปก็จะพบว่าการร่วมมือระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นแท้จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ สองประเทศเพื่อนบ้านนี้แท้จริงพึ่งพาอาศัยกันมานานตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ และหากมองลึกลงไปสองประเทศนี้แท้จริงแล้วก็เคยเป็นประเทศเดียวกันเสียด้วยซ้ำ สองประเทศนี้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันต่างพึ่งพาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

หากหลักวิชาการต่อรองพื้นฐานกล่าวไว้ว่าจงให้สิ่งที่มีค่าน้อยที่ตนมี แต่คือสิ่งที่มีค่ามากของคู่ต่อรอง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชนะทั้งคู่ (Win-win) ฉันใด กรณีของมาเลเซียและสิงคโปร์ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีได้ฉันนั้น

สิ่งที่มีค่าน้อยที่มาเลเซียมีแต่สิงคโปร์ไม่มีนั่นคือ พื้นที่ ทรัพยากร และแรงงานราคาถูก ขณะที่สิ่งที่สิงคโปร์มีและมาเลเซียมีน้อยกว่า นั่นคือ เงินลงทุน เครดิตและคอนเนคชั่น

ประเทศสิงคโปร์เจริญมากมีเงินทุนมากมาย เครดิตเงินกู้และคอนเนคชั่นสามารถชักชวนดึงดูดเงินทุนจากแหล่งอื่นมีเหลือเฟือ แต่ข้อจำกัดคือพื้นที่จำกัดของประเทศ และแรงงานก็แพงสิงคโปร์ขยายประเทศโดยการถมเกาะ แค่ค่าใช้จ่ายก็สูงคณานับ เทียบกับการตั้งอาณานิคม(หากใช้ภาษาโบราณเสียหน่อย)ที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าไม่ได้เลย

มาเลเซีย ซึ่งที่จริงแล้วควรจะระบุลงลึกให้ละเอียดด้วยว่าคือรัฐยะโฮร์นั้นมีพื้นที่เหลือเฟือมีแรงงานมากมาย และพื้นที่จำนวนมากก็อยู่ภายใต้กลุ่มอีลีทเจ้าที่ดินเก่าและหนึ่งในนั้นก็คือสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ซึ่งปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซียอีกตำแหน่งด้วย ดังนั้นการรวบรวมที่ดินผืนใหญ่ การดีลธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องยาก ภายใต้การคุยกันของคีย์แมนไม่กี่คน ดีลก็สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ไม่นับรวมความสัมพันธ์ที่ดีมากระหว่างรัฐยะโฮร์ที่มีกับสิงคโปร์ ทั้งในแง่ของระดับธุรกิจที่ปัจจุบันก็มีจำนวนเม็ดเงินจำนวนมากจากสิงคโปร์ไหลสู่ยะโฮร์ทั้งในรูปแบบของการลงทุน การจ้างงาน และการท่องเที่ยวอยู่แล้ว สังเกตง่ายๆจากปัญหาการจราจรที่คับคั่งมากระหว่างสิงคโปร์และยะโฮร์ซึ่งทำให้มีการประมาณการว่าผู้คนกว่า 3 แสนคนเดินทางเข้าออกสองประเทศทุกวันเพื่อเข้าไปทำงาน ขณะที่ช่วงสุดสัปดาห์ผู้คนระหว่างสองประเทศก็นิยมเดินทางข้ามไปมาเพื่อพักผ่อน

สมการความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้หากมองให้ลึก ก็จำต้องพิเคราะห์อีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญ ซึ่งก็คือจีน เพราะโดยแท้จริงแล้วจีนก็มีความพยายามและความสัมพันธ์ที่ดีกับมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐยะโฮร์จีนมีโครงการลงทุนมากมายทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการเขตเศรษฐกิจอาทิ Forrest City โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็ก ที่ปัจจุบันมีทีท่าจะเจ๊งสูงมาก

หันกลับมามองประเทศของไทยของเรา ไม่มีโครงการใดเลยที่ดูจะเป็นรูปธรรมและสร้างงาน สร้างโอกาส ดึงดูดเม็ดเงิน โครงการระเบียงเศรษฐกิจ EEC ก็ไม่เห็นผลสัมฤทธิ์โครงการใหม่ๆอย่าง แลนด์บริดจ์ก็เงียบหาย รถไฟความเร็วสูงก็ช้า (ช้ากว่าลาวซึ่งตอนนี้เชื่อมกับจีนเสร็จเรียบร้อยแล้ว) เสียด้วยซ้ำ เมื่อไม่มีอะไรดึงดูดเงินลงทุน แล้วเงินลงทุนจะไหลเข้าประเทศได้อย่างไร คือคำถามที่น่าช่วยกันคิดอย่างยิ่ง