สุลต่าน CEO ฉลอง 50 ปี มาเลย์-จีน (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

สุลต่าน CEO ฉลอง 50 ปี มาเลย์-จีน (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

รัฐยะโฮร์ ของมาเลเซีย ถือเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในรัฐที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนและการค้าอย่างมาก แต่ก็ตามมาด้วยข้อกังขาเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ผลประโยชน์ทับซ้อน และกรณีการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาลกลาง

มาเลเซีย คือ หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของไทยเรา และจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า

ซึ่งระบบการเมืองของมาเลเซียนั้นก็เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์มาก เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งจะมาจากการเลือกจากกลุ่มสุลต่านผู้ปกครองรัฐต่างๆ และสมเด็จพระราชาธิบดี หรือ ยังดี-เปอร์ตวน อากง องค์ใหม่ คือ สุลต่านอิบราฮิม อิสมาอิล แห่งยะโฮร์ ผู้ซึ่งเรียกได้ว่ามีสีสันทางการเมืองอย่างยิ่ง จากไลฟ์สไตล์ที่หรูหราเปิดเผย และความคิดความเห็นทางการเมืองและธุรกิจที่ต่างจากสุลต่านองค์อื่นๆ

รัฐยะโฮร์ หรือ Johor คือรัฐที่อยู่ใต้สุดของคาบสมุทรมลายู และด้วยที่ตั้งที่คุมช่องแคบมะละกาและติดกับสิงคโปร์นี่เอง จึงทำให้รัฐยะโฮร์มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ในมาเลเซีย และถือเป็นหนึ่งในรัฐที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ ซึ่งแต่เดิมนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจก็พึ่งพาการเกษตร จนกระทั่งมีการพัฒนาท่าเรือตันจุง เปเลปาส (Tanjung Pelepas) เป็นฮับโลจิสติกส์ใหม่ จนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของโลกที่มีความคับคั่งอย่างมาก โดยติดอันดับที่ 15 ของท่าเรือที่คับคั่งที่สุดในโลก

นอกจากท่าเรือ ยะโฮร์ยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษมากมาย โดยเฉพาะโครงการเศรษฐกิจพิเศษอิสกานดาร์ มาเลเซีย (Iskandar Malaysia) เขตเศรษฐกิจแรกและสำคัญที่สุดในประเทศ ซึ่งถือเป็นกลจักรสำคัญในการนำพาเม็ดเงินและกระจายความเจริญจากสิงคโปร์เข้าสู่มาเลเซียผ่านทางรัฐยะโฮร์ เพราะเขตเศรษฐกิจนี้อยู่ติดกับสิงคโปร์เลย และทรัพยากรที่ยะโฮร์มีแต่สิงคโปร์ไม่มีนั่นคือพื้นที่อันกว้างขวาง และแรงงานราคาถูก

แท้จริงแล้วแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นมาไม่นาน คือในปี พ.ศ.2549 หลังจากการเกิดของท่าเรือตันจุง เปเลปาสในปี พ.ศ.2542 เรียกว่าความสำเร็จนี้เกิดขึ้นภายในยุคใกล้นี้เอง แต่ภายใต้ความเจริญขึ้นอย่างมากนี้ก็มาพร้อมกับข้อกังขาเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ผลประโยชน์ทับซ้อน และกรณีการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาลกลาง

กล่าวคือ สุลต่านแห่งรัฐยะโฮว์ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของที่ดินเดิมซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านความเจริญและโครงการขนาดใหญ่หลายแห่ง การดึงดูดทรัพยากรหรือใช้อำนาจเส้นสายผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อดึงโครงการใหญ่เข้ามาพัฒนาในที่ดินของตนจึงทำให้เกิดข้อครหา พอๆ กับการได้รับคำชมในฐานะผู้ที่นำเม็ดเงินเข้ารัฐ หลักการเดียวกับเศรษฐีที่ดินไทยสมัยโบราณบริจาคที่ทำโรงเรียน ที่ว่าการอำเภอ หรือกระทั่งสถานีตำรวจเป็นต้น มันคือผลประโยชน์ต่างตอบแทน

และโครงการที่ถูกจับตาที่สุดของรัฐยะโฮร์นั้นคือ Forest City ที่ดึงทุนจีนเข้ามาพัฒนาอสังหาฯ ทั้งคอนโด ทั้ง Entertainment complex ซึ่งประกอบไปด้วยสวนสนุก ห้างสรรพสินค้า กาสิโน แบบที่บ้านเรากำลังจะทำ อันมีมูลค่ารวมสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ที่ปัจจุบันกลายเป็นเมืองร้างอันเนื่องมาจากการพึ่งพาทุนจีนที่ไม่สมดุล เมื่อเศรษฐกิจจีนหยุดชะงักจากวิกฤติโควิดและรัฐบาลจีนเข้มงวดกับการซื้ออสังหาฯ นอกประเทศ

ยังมีโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่และการทำรถไฟความเร็วสูงจากกัวลาลัมเปอร์เชื่อมกับสิงคโปร์ซึ่งจะต้องผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของยะโฮร์ที่ขณะนี้มีความพยายามที่จะดีลธุรกิจให้สำเร็จ โดยที่ผู้นั่งร่วมโต๊ะการเจรจานั้นมิใช่มีเพียงรัฐบาล แต่ยังมีสุลต่านอิบราฮิม มิใช่ในฐานะประมุขแห่งรัฐแต่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเพราะเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งความทับซ้อนตรงนี้นี่เองที่ถูกตั้งข้อสังเกต

และความตรงไปตรงมาทั้งในเรื่องความเห็นทางการเมือง และความเป็นสุลต่านนักธุรกิจของนี้เอง ที่ทำให้พระองค์ทรงมีสีสัน เป็นที่ถูกจับตามอง เพราะพระองค์ทรงเห็นถึงการพัฒนาเศรษฐกิจความเจริญของยะโฮร์เป็นที่ตั้ง จากเสียงที่เดิมก็ดังอยู่แล้ว การขึ้นสู่ตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ใหม่กับการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานอาเซียนของมาเลเซีย ภายในห้วงเวลา 4-5 ปีนี้ จึงสมควรจับตามองอย่างยิ่ง