ตัวเลขประชากร LGBTQ+ โอกาสของ Pink Economy | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ตัวเลขประชากร LGBTQ+ โอกาสของ Pink Economy | กันต์ เอี่ยมอินทรา

"สมรสเท่าเทียม" ของไทยที่ผ่านเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในปีหน้านั้น ถือเป็นประตูต้อนรับ "เศรษฐกิจสีชมพู" จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก

สมรสเท่าเทียม” ในที่สุดก็ผ่านเป็นกฎหมายและจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า ถือเป็นหมุดหมายของสิทธิเสรีภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศและโอกาสทางธุรกิจของคนไทยทุกคน

มีการประมาณการว่าบนโลกใบนี้ มีกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ+ กว่า 200 ล้านคน ซึ่งก็ห่างไกลจากจำนวนที่มีการสำรวจประชากรจากแบบสอบถามที่เคยทำกันในปีที่แล้ว ที่มีการสุ่มถามกลุ่มตัวอย่างถึง 22,514 คนในกว่า 30 ประเทศ ซึ่งทำให้พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วในทุกๆ 100 คนที่ตอบแบบสอบถามนั้นเปิดเผยว่าตนเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถึง 9 คน

สัดส่วนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้มีตัวเลขมากที่สุดที่บราซิล (15%) สเปน (14%) และสวิตเซอร์แลนด์ (13%) ขณะที่เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สวีเดน เยอรมนนี สหรัฐ นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดนั้นก็พบอยู่ในราวๆ 9-12% จึงสามารถพูดเล่นๆ ได้ว่า หากไปเดินบนท้องถนนของประเทศเจริญแล้ว 10 คนที่ผู้อ่านเดินผ่าน จะมี 1 คนที่ระบุว่าตนเองเป็น LGBTQ+

ในเชิงปริมาณ ยังมีกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิโคลอมเบีย ชิลี โรมาเนีย แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ตุรกี ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 8-10% หรือหากจะมองให้ลึกซึ้งในเชิงคุณภาพ อาทิ ประเทศที่มีศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่เคร่งครัด ประชากรกลุ่มนี้ก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว อาทิ อิตาลี (9%) โปรตุเกส (7%) ไม่ต้องพูดถึงสเปนที่สูงเป็นอันดับ 2 ของทั้งโลก

ในเอเชียพบว่าประชากร LGBTQ+ ของไทยนั้นมีจำนวนมากที่สุด ที่ 9% ซึ่งเท่ากันกับสิงคโปร์ หากลองคิดเล่นๆ คนไทยเราที่ 70 ล้านคนนั้นจะเป็นคนกลุ่มนี้ถึงเกือบ 6.3 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมและมีความเคร่งครัดในประเพณีและมีขนบธรรมเนียมเยอะนั้นอยู่ที่ 5%

ถึงแม้ว่าโพลนี้จะมีช่องโหว่ อาทิ เรื่องของวิธีการ เช่นการเลือกใช้แบบสอบถามกับบางประเทศ หรือการใช้แบบสอบถามออนไลน์กับประเทศบางกลุ่ม อาทิ บราซิล อินเดีย ไทย ตุรกี ซึ่งแนวโน้มของผู้ตอบแบบสอบถามมักจะเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง เป็นคนเมือง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของประชากรในประเทศนั้นๆ แต่ตัวเลขนี้ก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงคร่าวๆ ได้ในทางธุรกิจ

อีกหนึ่งช่องโหว่ของโพลนี้คือ การละเลยการให้น้ำหนักประชากรจีน ซึ่งเคยมีตัวเลขระบุถึงจำนวน LGBTQ+ ในจีนที่อาจสูงถึง 70 ล้านคน และเม็ดเงินที่กลุ่มคนเหล่านี้ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจนั้นสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์

ตัวเลขทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถูกเรียกว่า “เศรษฐกิจสีชมพู” หรือ Pink economy ซึ่งมีการประมาณการตัวเลขกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ทั่วโลกว่าอาจสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ โดยบริษัท Witeck Communication บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ธุรกิจของสหรัฐ ซึ่งก็ระบุลึกลงไปอีกถึง Pink economy ในสหรัฐ ที่อาจสูงถึง 780,000 ล้านดอลลาร์

คิดเล่นๆ ในเชิงปริมาณ แค่เมืองไทยรับเศษเสี้ยวเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ประเทศก็แตกแล้ว แต่ในเชิงคุณภาพยังมีอีกหลายประเด็นที่เราสามารถตักตวงโอกาสได้ อาทิ การเลือกนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง การเปิดโอกาสเป็นที่พำนักหลังเกษียณ หรือแม้กระทั่งเป็นจุดหมายที่โรแมนติกสำหรับการแต่งงาน จึงทำให้เวลานี้เป็นเวลาที่น่ายินดียิ่ง เพราะประเทศได้หน้า ประชาชนได้โอกาสและได้เงิน