สุลต่าน CEO ฉลอง 50 ปี มาเลย์-จีน | กันต์ เอี่ยมอินทรา
สุลต่าน และ CEO ร่วมฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์มาเลย์-จีน มาเลเซียและจีนถือเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน ทั้งในแง่ของการค้าขายและการลงทุน และสุลต่านอิบราฮิมองค์นี้คือสุลต่านนักธุรกิจอย่างแท้จริง
เมื่อปลายเดือนก่อนมาเลเซีย และจีนฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับข่าวเอกสารรั่วถึงร่างแถลงการณ์ของประธานอาเซียน (ประเทศลาว) ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยับยั้งชั่งใจต่อกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากเขตพื้นที่ทับซ้อนที่จีนประกาศกับประเทศอื่นๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซียเอง
พื้นที่เหล่านี้นอกเหนือจากการอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งก๊าซธรรมชาติ แหล่งการประมง ยังถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองการทหารอีกด้วย และล่าสุด หากจะกล่าวถึงเฉพาะกรณีของมาเลเซีย-จีนแล้วนั้น นายกฯมาเล ก็เพิ่งออกมาพูดถึงกรณีที่จีนประท้วงการทำปิโตรเลียมในทะเลจีนใต้ของมาเลเซีย แต่ถึงอย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับจีนก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับดี หากเทียบกับฟิลิปปินส์ที่มีกรณีพิพาทหลายจุด
มาเลเซียและจีนถือเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน ทั้งในแง่ของการค้าขาย ที่ปีล่าสุดก็มีตัวเลขสูงถึง 98,000 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับการลงทุนโดยตรง ซึ่งจีนก็ให้คำมั่นว่ายังจะลงทุนในมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง โดยวางแผนจะทุ่มเงินอีกกว่า 36,300 ล้านดอลลาร์ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทางเลือก ธุรกิจโทรคมนาคม และการท่องเที่ยวซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เม็ดเงินจากจีนเป็นก้อนเม็ดเงินที่สูงมาก และในบางช่วงถือได้ว่าสูงกว่าการลงทุนโดยตรงจากประเทศอื่นๆ
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและในเชิงต่างตอบแทนช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันนี้ แต่เดิมนั้นอยู่ในระดับรัฐต่อรัฐ แต่ก็เกิดคำถามถึงเรื่องประโยชน์ทับซ้อนที่อาจจะมากว่าระดับรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่มีการแต่งตั้งสมเด็จพระราชาธิบดี หรือยังดี-เปอร์ตวน อากง องค์ใหม่ ซึ่งก็คือ สุลต่านอิบราฮิม อิซมาอิลแห่งยะโฮร์
สุลต่านองค์ใหม่นี้มีสีสันทางการเมืองอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของความอู้ฟู่ร่ำรวยที่เปิดเผย ความเห็นที่ตรงไปตรงมาในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมหาศาลในรัฐยะโฮร์ ซึ่งเป็นรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรมลายู การเป็นรัฐขนาดใหญ่และทำเลที่ตั้งที่ติดกับสิงคโปร์และคุมช่องแคบมะละกา ทำให้เกิดการลงทุนพัฒนาพื้นที่อย่างมหาศาลและทุนจำนวนไม่น้อยนั้นก็มาจากจีน
หากเจาะลงไปในรายละเอียดจะพบว่า สุลต่านอิบราฮิมองค์นี้คือสุลต่านนักธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะพระองค์ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ของมาเลเซีย แต่ยังทรงมีภาระหน้าที่นอกเหนือจากฐานะประมุขแห่งรัฐ ซึ่งคือสุลต่านแห่งยะโฮร์ผู้ที่ตั้งใจจะทำให้ยะโฮร์มีความเจริญขึ้น ทรงลงมือปฎิบัติแม้กระทั่งนั่งร่วมโต๊ะประชุมโครงการธุรกิจกับนักลงทุนต่างชาติในฐานะเจ้าของที่ดินผู้มีส่วนได้เสียในโครงการใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในยะโฮร์ อาทิ โครงการ Forest City เป็นต้น
โครงการ Forest City นี้คือเมกะโปรเจคที่รัฐยะโฮร์เสนอที่ดินในภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเมืองร้างเพราะตั้งใจจะทำขายคนจีน แต่ต้องมาหยุดชะงักเพราะโควิด นโยบายห้ามการซื้ออสังหาฯนอกจีน และพิษเศรษฐกิจจีน
เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นจึงจะขอมาเล่าต่อในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมาคลายปมว่า แท้จริงแล้วสุลต่านอิบราฮิมทรงแค่ไปตัดริบบิ้นฉลอง 50 ปีความสัมพันธ์มาเลเซีย-จีน หรือไปนั่งคุยดีลธุรกิจอย่างที่ทรงถนัดและเคยทำมาแล้วในอดีตให้กับรัฐยะโฮร์