‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

กรณีศึกษา “รถไฟญี่ปุ่น” เส้นทางโฮคุริคุ ที่สามารถช่วยทั้งลดความแออัดของสายโทไกโดได้ดี ขณะเดียวกันก็ทำให้เมืองรายทางเส้นรถไฟใหม่นี้จากที่เคยซบเซา คึกคักขึ้น กลายเป็นจุดมุ่งหมายในการเดินทางและทำธุรกิจ

ได้เห็นการเชื่อมต่อด้วยระบบรางระหว่างกรุงเทพกับลาวแล้วก็อดคิดถึงรถไฟต่างประเทศไม่ได้ เพราะรถไฟไทยเรานั้นมีช่องว่างโอกาสในการพัฒนาต่อยอดเยอะมาก

 

หากจะพูดถึงโมเดลการพัฒนาระบบราง หรือรถไฟแล้ว ประเทศที่เรียกว่าได้รับการยกย่องจนถึงระดับที่นานาประเทศอยากเอาอย่างและต้องมาศึกษาดูงานก็คือ ญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่มีระบบรางอย่างดีในเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และยังมีรถไฟเชื่อมโยงระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองรองมากมาย ทั้งการพัฒนาก็ยังไม่หยุดยั้งทั้งการขยายเส้นทางและการทำเส้นทางที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

 

หากวิเคราะห์ลงลึกอีกนิด จะพบว่าภูมิประเทศของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เป็นมิตรกับรถไฟนัก เพราะมีพื้นที่เป็นภูเขาก็มาก มีที่ราบขนาดใหญ่ที่ประชากรกระจุกตัวอยู่หนาแน่นไม่กี่ที่ อาทิ ที่ราบคันโตอันเป็นที่ตั้งของเมืองโตเกียวและเมืองบริวาร ที่ราบบริเวณโอซากะและเกียวโต และที่ราบบริเวณเมืองนาโงยะ ซึ่งทั้งสามจุดนี้ก็เป็นพื้นที่อาศัยของประชากรที่หนาแน่นแต่โบราณ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูกและเดินทางไม่ลำบาก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริเวณ 3 ที่ราบใหญ่นี้จึงเป็นที่ตั้งของเมืองและเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และก็มีระบบรางมาก ยิ่งใกล้บริเวณเมืองใหญ่มากเท่าไหร่ สายรถไฟและผู้ให้บริการก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ความเจริญที่สูงสุดขีดนั้นก็นำมาซึ่งการกระจายความเจริญและรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามเพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองต่างๆ ที่แต่เดิมนั้นเดินทางไปมาหาสู่ลำบากและใช้เวลามากเพราะจำเป็นต้องพึ่งพาแต่รถไฟท้องถิ่นที่ช้า

 

สิ่งที่ญี่ปุ่นทำภายในระยะเวลา 20 ปีนี้ คือ การเพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงเมืองใหญ่สู่เมืองโทตรี จัตวา ในภูมิภาคห่างไกล อาทิ เส้นทางรถไฟโฮคุริคุ ที่เชื่อมระหว่างโตเกียวไปยังคานาซาวะ เมืองริมทะเลทางด้านตะวันตกสุดริมทะเลญี่ปุ่น จนทำให้เศรษฐกิจของเมืองและเมืองบริวารแถบนั้นเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการเดินทางท่องเที่ยวและทำธุรกิจง่าย สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

การขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงโฮคุริคุ ยังคงเดินหน้าต่อเพื่อเชื่อมโยงโตเกียวกับโอซากาเข้าด้วยกันซึ่งแต่เดิมนั้นการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของญี่ปุ่นนี้จำต้องใช้เส้นทางโทไกโด ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณและพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นถนนและรถไฟความเร็วสูงในที่สุด แต่เพราะเป็นเพียงเส้นทางเดียวที่จะเชื่อมโยงเมืองใหญ่ทั้งสองและเมืองใหญ่อื่นๆที่เกิดขึ้นบนเส้นทางสายนี้ จึงทำให้รถไฟสายนี้มีความแออัดอย่างยิ่ง

รัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างนี้โดยบุกเบิกเส้นทางใหญ่ ซึ่งก็คือสร้างสายโฮคุริคุขึ้นซึ่งก็ช่วยทั้งลดความแออัดของสายโทไกโดได้ดี ขณะเดียวกันก็ทำให้เมืองรายทางเส้นรถไฟใหม่นี้จากที่เคยซบเซา คึกคักขึ้น กลายเป็นจุดมุ่งหมายในการเดินทางและทำธุรกิจ

 

ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงการพัฒนาของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การจัดขบวนรถไฟพิเศษสำหรับสถานท่องเที่ยว การใช้กิมมิคตกแต่งขบวนรถให้สวยงามเข้าธีมของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ อาหาร ขนมและของที่ระลึกที่จัดจำหน่ายเฉพาะในขบวน หรือแม้กระทั่งการขายแพคเกจราคาที่สูงลิ่วแลกกับการบริการชั้นเลิศระดับ 5 ดาว ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในกลยุทธ์ของรถไฟญี่ปุ่นในสายท้องถิ่นหรือในเส้นทางที่มีคู่แข่งเยอะ เพื่อดึงดูดผู้โดยสารและเม็ดเงิน

 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงนิยมเดินทางด้วยรถไฟ เพราะนอกจากจะสะดวก รวดเร็วแล้ว ยังสนุก มีสไตล์ ถือเป็นประสบการณ์การเดินทางที่น่าตื่นเต้นประทับใจอีกด้วย