อพท.โชว์ 4 จุดเช็คอินใหม่คลองดำเนินสะดวกปี’62
อพท.โชว์ศักยภาพความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยววิถีคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ชาวไทยและต่างชาติ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้นำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand พัฒนาการท่องเที่ยววิถีคลอง ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้แนวความคิด "วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน" ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ อพท. และชุมชนชาวดำเนินสะดวกจะใช้เส้นทางท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นนี้ต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยจะนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก และเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในราชวงศ์จักรี 3 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ถ่ายทอดผ่านการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากคนในชุมชน ควบคู่ไปกับเรื่องราวการค้าขาย วิถีชีวิตตามลำคลองและวิถีเกษตรแบบพอเพียง
“กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายของตลาดน้ำดำเนินสะดวก และเส้นทางที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ คือนักท่องเที่ยวคนไทย และชาวต่างชาติ อาทิ ยุโรป รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทคณะศึกษาดูงานจากจังหวัดต่างๆ ให้ได้เข้ามาเรียนรู้การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนและรูปแบบกิจกรรมการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในท้องถิ่นของตนเอง” นายทวีพงษ์กล่าว
สำหรับเส้นทาง "วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน" อพท. พัฒนาขึ้นจากการ บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง จังหวัดราชบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมชลประทาน และกรมศิลปากร เป็นต้น ภายหลังที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบาย “ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยววิถีคลอง” โดยมอบหมายให้ อพท. เป็นหน่วยงานหลักในการค้นหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ หรือฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเดิม โดยเชื่อมโยงกับตลาดน้ำดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักในปัจจุบัน ภายใต้แนวความคิด “ให้ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว” เพื่อเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนอีกทางหนึ่งอย่างยั่งยืน ซึ่งพื้นที่คลองดำเนินสะดวก มีศักยภาพที่เข้าเกณฑ์การพัฒนาเชิงวัฒนธรรมได้อย่างสมบรูณ์แบบ
นางสาวนิลวรรณ ทุนคุ้มทอง ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ อพท.1 กล่าวว่า ในด้านการทำงาน อพท. ได้ร่วมกับ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและวิสาหกิจชุมชน กำหนด 4 จุดฐานกิจกรรมในเส้นทางเดินเรือ เริ่มต้นด้วย 1. จุดวัดโชติทายการาม 2. จุดบ้านมหาดเล็กเจ๊กฮวด 3. จุดสวนเกษตรผสมผสานแม่ทองหยิบ และ 4. จุดตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร ชูจุดเด่นของพื้นที่พัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับธรรมชาติวิถีริมคลอง ชิมอาหารพื้นถิ่นสูตรดั้งเดิม และเรียนรู้การทำการเกษตรในวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โดยการพัฒนา อพท. ได้คำนึงถึงเรื่องมาตรฐานการบริการและความปลอดภัย พัฒนานักสื่อความหมายท้องถิ่นซึ่งผ่านการอบรมไปแล้ว 2 รุ่น รวมถึงการวางแผนการตลาด และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวด้วยเครื่องมือการสื่อสารต่างๆ
สำหรับอัตราค่าบริการ ในเส้นทางดังกล่าว ได้วางแพ็คเกจในราคา 750 บาทต่อคน รับจำนวนขั้นต่ำ 6 คนต่อคณะทัวร์ โดยชุมชนจะเป็นผู้บริหารจัดการนำเงินที่ได้รับไปจัดสรรปันส่วนด้านการตลาด อพท. ได้เชิญ ททท. สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า (ATTA) มาตรวจเยี่ยมและศึกษาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอดำเนินสะดวกและของประเทศ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีคุณค่าด้านการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ได้มีพระราชดำริให้มีการขุดคลองดำเนินสะดวก ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ และเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร เรื่องราวการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 และการเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่ 9 เพื่อตรวจเยี่ยมราษฎรบริเวณพื้นที่คลองดำเนินสะดวก และบำเพ็ญราชกุศล ที่วัดโชติทายการาม ในปี 2510 นับเป็นความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น
นายสนธยา คอนกำลัง ผู้ใหญ่บ้านดำเนินสะดวก กล่าวว่า การที่ อพท. มาเป็นหน่วยงานกลาง ในการเข้ามาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีคลอง ทำให้เห็นความร่วมมือของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในความสำเร็จ จากเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในจุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของเกษตรกร ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้หลักที่มีอยู่ รวมทั้งยังเป็นการฟื้นฟูร่องรอยประวัติศาสตร์ ที่เป็นเรื่องราวที่สำคัญของพื้นที่ที่เป็นวิถีของการใช้ชีวิตในริมคลองก่อนที่ความเจริญในด้านการพัฒนาประเทศจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน