จาก "ต้นกล้าศิริราช" เติบโตสู่ "ร้อยกิ่ง แสนก้าน ล้านใบ"
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก อีกหนึ่งความภูมิใจที่ศิริราชมอบให้แผ่นดิน"
สืบเนื่องจากสภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติให้ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ภายใต้สังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 การรวมกันของทั้งสององค์กร นับเป็นการประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งอยู่ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีการรักษาแบบตติยภูมิ (อาการรุนแรง ซับซ้อน) และมีพันธกิจ ในการให้บริการต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่เขต 5 (นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) ในขณะที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ให้บริการทางการแพทย์ทั่วไป และการรักษาเฉพาะทางในระดับทุติยภูมิ ประกอบกับสถานที่ตั้งอยู่ระหว่างโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ตอนบน การรวมกันจะทำให้เกิดการพัฒนาการรักษาพยาบาลและการเชื่อมต่อการให้บริการระบบสาธารณสุขของเขต 5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอนและการฝึกอบรม รวมถึงพัฒนาระบบการบริหารโรงพยาบาลแบบองค์รวม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและครบวงจร
รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กล่าวว่า “ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกเป็นเหมือนเพชรเม็ดงามที่ต้องเจียระไน เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่มีโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอต่อความต้องการ คนไข้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงให้สามารถเข้ามารับการรักษาได้ นักเรียนแพทย์ก็สามารถมาเรียนได้ ในอนาคตเราตั้งเป้าที่จะก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่ดูแลผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิที่ดีเลิศต่อไป”
นอกจากการให้บริการคนไข้ทั้งในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่เขต 5 (นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ยังมีพันธกิจที่จะพัฒนาด้านการให้บริการประชาชนด้วยมาตรฐานโรงพยาบาลศิริราช เชื่อมโยงองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ผสานกับแพทย์แผนทางเลือก อาทิ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน งานสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างเสริมสุขภาพชุมชนโดยรอบอย่างครบวงจร อีกทั้งจัดให้เป็นพื้นที่ฝึกปฏิบัติทางการแพทย์ เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้จริง นอกห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาสหวิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหิดลด้วย
เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่มีการรักษาแบบตติยภูมิ คนไข้ส่วนใหญ่มีอาการรุนแรง ซับซ้อน ขณะที่นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบต้องไปทำงานใช้ทุนตามโรงพยาบาลประจำอำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้ที่มีอาการทั่วไป ไม่ซับซ้อน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีการรักษาในระดับทุติยภูมิ จึงเหมาะที่จะให้นักศึกษาแพทย์ได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้การทำงานจริงมากกว่าไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้การรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลทุติยภูมิ นักศึกษาแพทย์ยังได้ฝึกด้านการปฏิบัติจากประสบการณ์จริง เป็นการเพิ่มทักษะในการเรียนจากทีมคณาจารย์โรงพยาบาลศิริราชโดยตรง
“คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ได้ผนึกพลังทำหน้าที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่การเพิ่มสถานที่ บุคลากร หรือเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรองรับผู้ป่วย แต่เป็นการก้าวสู่การพัฒนาด้านบริหารงาน การจัดการทรัพยากร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาลศิริราช”
ปัจจุบัน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกมีผู้ป่วยเข้ารับบริการประมาณ 350,000 คนต่อปี มีเตียงให้บริการผู้ป่วย 60 เตียง ห้องตรวจ 50 ห้อง แนวโน้มในอนาคตจะมีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้กำหนดแผนพัฒนาอาคารส่วนต่อขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกระยะที่ 2 เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิมภายหลังก่อสร้างอาคาร 2 เสร็จ คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 700,000 คนต่อปี มีเตียงให้บริการผู้ป่วยเพิ่มอีก 120 เตียง ห้องไอซียูเพิ่มอีก 8 เตียง ห้องผ่าตัดเพิ่มอีก 8 ห้อง งบประมาณทั้งการก่อสร้างและการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ประมาณ 850 ล้านบาท ซึ่งศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาจำนวนหนึ่ง และต้องระดมทุนเพิ่มอีกประมาณ 400 ล้านบาท
การพัฒนาอาคารส่วนต่อขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2564 ระยะแรกจะเปิดให้บริการห้องตรวจ ห้องผ่าตัดและห้องไอซียูที่ขยายเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ส่วนหอผู้ป่วยจะเปิดให้บริการ 2 ชั้นจากทั้งหมด 3 ชั้น และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ได้ภายในปี 2566 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก พร้อมเติบใหญ่เพื่อมอบโอกาสในการรักษาผู้ป่วยคนไทย อีกจำนวนมาก เดินหน้าเพิ่มศักยภาพในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ด้วยการยกระดับการจัดการ พัฒนาคนและองค์ความรู้ สู่การแผ่ขยายที่พึ่งพิง รับใช้แผ่นดินเพื่อความสุขของคนไทยด้วยแคมเปญ “จากต้นกล้าศิริราช เติบโตสู่ ร้อยกิ่ง แสนก้าน ล้านใบ”
“ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก อีกหนึ่งความภูมิใจที่ศิริราชมอบให้แผ่นดิน”
สำหรับผู้สนใจ ร่วมสมทบทุนสร้างอาคารส่วนขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ระยะที่ 2 บริจาคได้ที่
- ศิริราชมูลนิธิกองทุนสร้างอาคารส่วนขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 901-7-05611-1
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-453695-1 - งานการคลัง ชั้น 4 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 316-304130-9
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานกิจกรรมพิเศษและสิทธิประโยชน์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
โทร. 0 2849 6799 วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.