พิธีประทานปริญญา : มมร มอบปริญญาผู้ต้องขัง
ชูหลักศาสนศาสตร์ คืนคนดีสู่สังคม
วันที่ ๑๗ พ.ย. ๒๕๖๒ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จประทานปริญญาบัตรแก่อดีตผู้ต้องขังที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรศาสนาศาสตร์บัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการจากพระราชกระแสรับสั่งในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ต้องขัง ได้รับการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งกว้างขวางมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้ต้องขังใกล้ชิดพระศาสนา เข้าใจหลักธรรมคำสอน ซึ่งถือเป็นการขัดเกลาจิตใจผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 16 คน ซึ่งในปี 2561 นี้ ถือเป็นปีแรกที่มีผู้ต้องขังจบการศึกษาโดยอดีตผู้ต้องขังเหล่านี้พร้อมแล้วที่จะออกไปพิสูจน์ตนเองผ่านการสร้างคุณค่า และคุณประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
พระราชปฏิภาณโกศล, ผศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวว่า “ผู้ต้องขังเป็นผู้ที่ขาดโอกาสและการยอมรับจากสังคมภายนอก จึงทำให้เราเริ่มต้นการมีชีวิตใหม่หลังจากพ้นโทษเป็นเรื่องที่มืดบอดสำหรับคนกลุ่มนี้”
พระสุทธิสารเมธี, ดร. คณบดีคณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวว่า “สถิติที่พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 2 ในเอเชีย โดยนักโทษติดซ้ำคือส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ต้องขังใน 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจำนวนขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 1-5 หมื่นคน โดยตัวเลขปี 2556 มีนักโทษติดคุกซ้ำ 13,442 คน ต่อมาปี 2557 เพิ่มเป็น 24,225 คน คิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนปี 2558 มีผู้ติดคุกซ้ำ 35,335 คน และปี 2559 มีผู้ติดคุกซ้ำ 49,481 คน ดังนั้นการลงโทษเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหา การให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้นั้นจึงเป็นแนวทางแก้ไขที่ให้ผลดีกว่า ทั้งกับตัวผู้ต้องขังเองและกับสังคม”
โครงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านพระพุทธศาสนาแก่ผู้ต้องขังในทัณฑสถาน เกิดขึ้นจากพระราชกระแสรับสั่งในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอน พร้อมกับถือเป็นการขัดเกลาจิตใจไปพร้อมกัน จึงเป็นที่มาของการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.) สาขาวิชาพุทธศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งนำร่องหลักสูตร ในปี พ.ศ. 2557 โดยเริ่มที่เรือนจำกลางบางขวางเป็นแห่งแรก
ปัจจุบันมีเรือนจำและทัณฑสถานเข้าร่วมโครงการแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำอำเภอแม่สอด ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 16 คน โดยผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วจำนวน 6 คน กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา และยังมีผู้ต้องขังที่สำเร็จการศึกษาจำนวนกว่า10 คน อยู่ระหว่างดำเนินการสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโทเช่นกัน
นายกฤตชัย พยอมแย้ม ประธานองค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรม หนึ่งในองค์กรเครือข่ายชาวพุทธแห่งประเทศไทย (อพท.56) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่เรือนจำกลางบางขวางได้มีผู้จบการศึกษาหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสตร์ จำนวน ๑๖ ราย ได้เข้ารับประทานปริญญาบัตร จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) จำนวน 7 ราย นี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีมากๆ อย่างน้อยเราได้เปิดโอกาสและได้ส่งเสริมคืนคนดีสู่สังคมไทย