สนพ.ลงพื้นที่ภาคใต้ จ.ภูเก็ตสร้างความรู้เรื่องระบบสมาร์ทกริด
หนุน ภูเก็ตเมืองสมาร์ทซิตี้
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินสายให้ความรู้เรื่อง “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ลงพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต ที่เตรียมผลักดันให้เป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต นำร่องธุรกิจรวบรวมโหลดช่วงไฟพีค เร่งศึกษายานยนต์ไฟฟ้า ขานรับแผนพัฒนาสมาร์ทกริดระยะสั้น พ.ศ.2560 -2564
นางสาวชนานัญ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่จังหวัดภูเก็ต ว่า กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดระยะยาว 20 ปี ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในประเทศ ปัจจุบันเทคโนโลยีไฟฟ้ามีความรุดหน้าไปมาก เรียกว่าเป็นยุค Disruptive ที่ผู้คนต้องเปิดกว้างปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จึงต้องเร่งสร้างความรู้ เพราะสมาร์ทกริดจะมาช่วยบริหารจัดการระบบไฟฟ้าไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ใช้ทรัพยากรน้อยลง โดยในพื้นที่ภาคใต้ถือว่ามีโรงไฟฟ้าน้อย และที่จังหวัดภูเก็ตเองก็เตรียมพร้อมจะเป็นสมาร์ทซิตี้ ที่จะมีการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นก้าวทันตามเทคโนโลยีไฟฟ้าที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สนพ.ได้จัดกิจกรรมสร้างความรู้เรื่องสมาร์ทกริดอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ตามแผนพัฒนาระยะสั้น ที่เริ่มทำโครงการนำร่องด้านสมาร์ทกริดพร้อมเผยแพร่ความรู้สู่ภาคประชาชน ปัจจุบันอัตราเติบโตของไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ยอดการซื้อขายไฟจากหน่วยงานการไฟฟ้าฯ กลับไม่เปลี่ยนแปลงมาก สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ คือการผลิตเอง ใช้เอง ซื้อขายกันในพื้นที่จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน อาคาร โรงงานต่าง ๆ เป็นต้น อีกทั้งจะสร้างธุรกิจด้านไฟฟ้ารูปแบบใหม่คือธุรกิจรวบรวมโหลดในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (พีค) สามารถนำมาขายเข้าระบบแล้วได้รับเงินส่วนต่างค่าไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต
นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาระยะสั้น กฟภ.ได้นำร่องเปลี่ยนสมาร์ทมิเตอร์ในพื้นที่พัทยา จำนวน 116,308 เครื่อง ตั้งเป้าเสร็จภายในกลางปีนี้ และจังหวัดภูเก็ตก็ถือเป็นหนึ่งจังหวัดที่อยู่ในรายชื่อการขยายต่องานพัฒนาสมาร์ทกริดด้วย ทั้งแผนการเปลี่ยนสมาร์ทมิเตอร์ในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ซึ่งจะเห็นผลได้มากกว่ารายย่อย และการดำเนินโครงการโมโครกริดในพื้นที่ห่างไกลระบบสายส่ง อย่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยะลา เป็นการสร้างวงจรไฟฟ้าอิสระที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และอีกหนึ่งงานพัฒนาสมาร์ทกริดที่เกิดขึ้นแน่นอนคือการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า การเตรียมความพร้อมสถานีชาร์จ และผลกระทบที่จะเกิดกับสายส่งไฟฟ้าของประเทศในอนาคต
กิจกรรมสัมมนาสร้างความรู้ “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานครและกระจายสู่ต่างจังหวัด และในวันนี้ที่ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งส่วนข้าราชการ ผู้ประกอบการโรงแรม อาสาสมัครพลังงาน ผู้นำท้องถิ่น อบต. อบจ. ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในการนี้ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้รับทราบ นโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้น พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีไฟฟ้ายุคใหม่ สร้างความมั่นคงและยังยืนของระบบไฟฟ้าประเทศในอนาคต