สนพ.ชี้ “สมาร์ทกริด” ช่วยยกระดับคุณภาพไฟฟ้า
สนพ.ชี้ “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด” ช่วยยกระดับคุณภาพไฟฟ้า สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ปิดท้ายเวทีสัมมนาสร้างความรู้ภาคประชาชนเกี่ยวกับระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชี้ “สมาร์ทกริด” จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพไฟฟ้าไทย คุณภาพการบริการผู้ใช้ไฟฟ้า และยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนในอนาคต
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี (11 มีนาคม 2563) ว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดคือหนึ่งในนโยบายสำคัญที่กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2558-2579) และการพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดนี้ยังบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของประเทศไทย (PDP2018) ด้วย
“เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้เข้ามามีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีคือส่วนหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไป เช่น การทำธุรกรรมการเงิน การสั่งอาหาร จองตั๋วเครื่องบิน ผ่านโทรศัพท์มือถือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า สำหรับในภาคประชาชนมีการใช้งานเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น โปรแกรมการควบคุมการใช้ไฟฟ้าในอาคาร บ้านเรือน ทำให้เราสามารถบริหารจัดการค่าไฟฟ้าได้ในแต่ละเดือน สร้างผลประหยัด ก็ส่งผลให้ประหยัดทั้งพลังงานและค่าใช้จ่าย เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีไฟฟ้ายุคใหม่ที่เข้ามาใกล้ตัวเราทุกคน”
แผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยที่กำหนดไว้ในระยาว 20 ปี (พ.ศ. 2558 – 2579) โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะเตรียมการ (พ.ศ. 2558 – 2559) ระยะสั้นคือช่วงค้นคว้าทดลองทำโครงการนำร่อง และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้เกี่ยวข้อง ( พ.ศ. 2560 – 2564) ระยะปานกลาง คือช่วงที่นำสิ่งที่วิจัยทดลองในระยะสั้นส่งไปสู่ประชาชน (พ.ศ. 2565 – 2574) และระยะยาว คือพร้อมปฏิบัติได้จริง (พ.ศ. 2575 – 2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ
“เทคโนโลยีสมาร์ทกริด จะเข้ามามีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาในภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ระบบไฟฟ้าปฏิบัติงานได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพใน 3 ด้าน คือ คุณภาพของระบบไฟฟ้า (Smart System) คุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า (Smart Life) ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้นจากเทคโนโลยีการใช้พลังงานในอนาคต และ คุณภาพทางสิ่งแวดล้อม โดยยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Society) ทำให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต”
นอกจากนี้ ภายในงาน ยังได้รับทราบความเคลื่อนไหวการดำเนินงานด้านพลังงานของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย นายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งยังได้เชิญวิทยากรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าร่วมบรรยายให้ความรู้เรื่องการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดในครั้งนี้ด้วย
นายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายสมคิด ธิวงศ์ หัวหน้ากองควบคุมระบบ ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นายอุทัย ภูริพงศธร
นายสมคิด ธิวงศ์
นายทรงวุฒิ ขันดี
สำหรับ การจัดสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นเวทีส่งท้ายหลังจาก สนพ.ได้เดินสายจัดกิจกรรมสัมมนาสร้างความรู้ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกรุงเทพมหานคร กระจายสู่จังหวัด 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดย สนพ.หวังว่าประชาชนจะได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้ายุคใหม่ ที่จะมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต